ABK Expert: วิธีรับมือ เมื่อลูกไม่ยอมกินนมจากขวด

event

แม่ๆ มือใหม่หลายคนอาจเป็นกังวลว่า เมื่อถึงเวลาที่ต้องกลับไปทำงานแล้ว จะต้องให้นมลูกอย่างไร ที่ยังได้ให้สารอาหารจากนมแม่ได้อย่างครบถ้วน ปัจจุบันแม่ที่ให้นมลูกได้ด้วยตัวเองจะมีเครื่องปั๊มนม ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้แม่เก็บน้ำนมที่มีคุณค่าให้ลูกเมื่อไม่ได้ให้โดยตรงจากเต้าเอง การให้นมแม่จากเต้า และการดูดนมจากขวดนั้นแตกต่างกันพอสมควร ทำให้ ลูกติดเต้า ไม่ดูดขวด ทีมบรรณาธิการ Amarin Baby & Kids จึงได้หาคำตอบมาให้ว่า วิธีการฝึกให้ลูกหัดกินนมจากขวดนั้นทำอย่างไร โดยคุณหมอแอม จะมาแนะนำเทคนิคดีๆ ให้อ่านกันค่ะ

ABK : สาเหตุที่ลูกไม่ยอมกินนมจากขวด มีอะไรบ้าง?

หมอแอม : ลูกไม่ยอมกินนมจากขวด มีอยู่ประมาณ 5 สาเหตุหลักๆ ด้วยกันค่ะ

  1. ติดไออุ่นจากเต้าแม่

การให้ลูกกินนมแม่จากเต้านมจะมีกลไกการกินแตกต่างจากการกินนมจากขวด มีลักษณะการเคลื่อนที่ของลิ้นและการขยับของขากรรไกรที่ต่างกัน โดยในระหว่างการกินนมจากเต้า ทารกจะมีการหายใจที่สัมพันธ์กับการดูดและกลืนน้ำนม  ดังนั้นเมื่อเปลี่ยนจากเต้านมแม่เป็นขวด จะต้องใช้เวลาและความเข้าใจ เพื่อที่จะทำให้ลูกหัดกินนมจากขวดได้

  1. รสชาตินม / กลิ่นที่กินจากขวด เปลี่ยนไป ไม่คุ้นเคย

ก่อนที่จะให้นมลูกผ่านขวด ควรดมกลิ่นนมที่แม่สต็อคไว้ ว่าเสียหรือยัง รวมถึงกลิ่นขวดนมเอง ว่ายังมีกลิ่นตกค้างจากน้ำยาล้างขวดหรือไม่ ซึ่งมีส่วนทำให้การรับรู้รสชาติของนมเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ทำให้ลูกได้กลิ่นที่ไม่คุ้นเคย จึงปฏิเสธการกินนมจากขวด

  1. ลักษณะจุกที่ใช้ดูดไม่คุ้นเคย

จุกนมสำหรับทารกที่ขายทั่วไปในท้องตลาด แม่จะต้องเลือกดูขนาดให้เหมาะสมกับอายุของทารก จุกนมที่มีฐานกว้าง จะมีความใกล้เคียงกับการดูดนมแม่ ก็เป็นตัวช่วยที่หัดให้ลูกดูดนมจากขวดได้เช่นกัน

  1. กินขวดไม่ถนัด ทำให้ดูดลมเข้าไปแล้วท้องอืด

เมื่อลูกกินนมจากขวดนม อาจดูดลมเข้าไปในท้องมากเกินไปจนทำให้ท้องอืด จนทำให้เกิดอาการอึดอัด ไม่สบายท้อง โดยจะแสดงออกด้วยการร้องไห้งอแงนั่นเอง

  1. ท่าป้อนไม่เหมาะสม อิริยาบถไม่คุ้นเคย

เนื่องจากการกินนมจากเต้าจะมีการประคองทารก และหลักในการป้อนนมเพื่อที่จะให้ทารกได้กินนมแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเปลี่ยนมาเป็นการใช้ขวดนม ท่าป้อนที่ไม่ถูกต้อง หรือเกร็งจนเกินไป อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวทั้งแม่และลูก ซึ่งทำให้ลูกรู้สึกไม่สบายตัวเมื่อต้องกินนมจากขวด

 

ABK : เมื่อถึงเวลา จะมีวิธีรับมืออย่างไรให้ลูกหัดกินนมจากขวด

หมอแอม : เทคนิคที่แม่ๆ ทุกบ้านลองทำตามกันได้มีดังนี้ค่ะ

1. วางแผนเริ่มฝึกลูกแต่เนิ่นๆ ก่อนต้องใช้ขวดจริงๆ

เช่น เมื่อแม่ใกล้เวลาต้องกลับไปทำงาน โดยปกติยิ่งฝึกเร็วเด็กจะยิ่งคุ้นเคยได้ง่ายกว่า แต่ควรฝึกหลังจากที่ลูกอายุ 1 เดือนขึ้นไป เพื่อไม่ให้ลูกเกิดการสับสนหัวนม (nipple confusion) นั่นคือการชินกับการดูดนมจากขวดนม ซึ่งนมจะไหลออกจากจุกเอง ต่างจากกลไกการดูดนมแม่ที่เวลาดูดจากเต้า ต้องใช้การเคลื่อนที่ของลิ้นเพื่อช่วยในการดูดนมออกมา

2. เริ่มฝึกป้อน ตอนที่เด็กไม่ง่วงจัด หรือหิวจัด

เนื่องจากจะทำให้เด็กไม่เอาขวด งอแง และป้อนขวดไม่สำเร็จได้ แนะนำให้ฝึกป้อนขวด ประมาณ 10-15 นาที ก่อนเวลาหิวนมจริง หรืออาจให้ลูกดูดจุกเพื่อทำความคุ้นเคยกับจุกก่อนป้อนจริง ช่วงแรกๆ ลองฝึกป้อนเรื่อยๆ เพื่อให้เด็กค่อยๆ คุ้นชินกับการดูดนมจากขวด

3. แนะนำให้แยกนมแม่กับนมผงคนละขวดกัน

สำหรับแม่ที่นมน้อย ในกรณีที่เด็กชินกับรสชาติของนมแม่ ทำให้ไม่อยากกินนมผงจากขวด สามารถผสมนมแม่กับนมผงชั่วคราว เพื่อให้เด็กค่อยๆ ปรับตัวกับรสชาติที่ไม่คุ้นเคย โดยในช่วงแรกผสมนมแม่ในปริมาณมากก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณนมผง และลดปริมาณนมแม่ลงทีละน้อย จนลูกชินกับรสชาติ และยอมกินนมผงจากขวดในที่สุด

4. คอยสังเกตอาการ และท่าทางลูกขณะดูดขวด

หากลูกดูไม่สบายตัว อึดอัด อาจเป็นจากท่าทางในการป้อนขวด หรือเป็นจากขวดนมที่ไม่กันลม ทำให้ทารกดูดลมเข้าไป จนท้องอืด และรู้สึกไม่สบายท้อง ทำให้ในครั้งต่อๆ ไป ลูกอาจไม่ยอมกินนมจากขวดอีก วิธีแก้คือควรหาขวดนมที่มีระบบป้องกันการกลืนลมเข้าท้อง ช่วยให้ลูกดูดสบายขึ้นได้ และปรับท่าทางให้เหมาะสม เช่น นอนหัวสูง หรือหาหมอนให้นมมารอง รวมถึงคอยเอียงขวดนมให้นมท่วมจุก เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกกลืนลมลงท้อง

5. ไม่เร่งรัดลูก เพราะทารกทุกคนจะรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย

เป็นสัญชาติญาณที่ติดตัวมาแต่กำเนิด การฝึกทักษะใหม่ เช่นการดูดขวดนมที่ไม่คุ้นเคย จึงต้องอาศัยเวลา หากคุณแม่ใจร้อน เผลอหงุดหงิด หรืออารมณ์ร้อนใส่ลูก จะทำให้ลูกยิ่งงอแง รู้สึกไม่ปลอดภัย และยิ่งฝึกการดูดนมจากขวดยากขึ้นด้วย

 

ที่อยากแนะนำเพิ่มเติมคือ ขวดนมที่แม่เลือกควรใช้วัสดุที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน เนื่องจากขวดนมเป็นอุปกรณ์ที่ต้องผ่านความร้อนหลายครั้ง หากวัสดุไม่ได้มาตรฐาน อาจทำให้ลูกได้สารพลาสติกที่ละลายออกมา ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งได้ ขวดนมที่ออกแบบมาให้ทำความสะอาดง่าย จะช่วยลดการสะสมของเชื้อแบคทีเรียในขวด  และรูปทรงเหมาะมือ ถือง่าย ช่วยให้ลูกยอมรับการดูดนมจากขวดมากขึ้นค่ะ

สุดท้าย ในบางบ้านที่ช่วงกลางวันที่คุณแม่ออกไปทำงาน ลูกไม่ยอมกินนมจากขวด แต่ยอมอด มากินนมแม่จากเต้าในช่วงเย็นที่คุณแม่กลับมาบ้าน กรณีนี้อย่าพึ่งวิตกกังวลไปค่ะ เนื่องจากทารกบางคนปรับตัวเก่ง สามารถรับสารอาหารในช่วงเย็นเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยกับช่วงกลางวันที่พร่องไปได้  วิธีดูว่าลูกสามารถใช้วิธีนี้ต่อได้ไหม คือให้ดูที่น้ำหนักส่วนสูง การเจริญเติบโตของลูกเป็นหลักค่ะ หากว่าลูกเจริญเติบโตปกติ น้ำหนักส่วนสูงอยู่ในเกณฑ์ดี ก็สามารถให้ลูกรอดูดเต้าในช่วงกลางคืนได้ค่ะ

 

 

 

 

พญ.พรนิภา ศรีประเสริฐ (หมอแอม) กุมารแพทย์

 


#ทีมแม่ABK: ถึงแม้ว่านมจากเต้าแม่นั้นจะให้ความอบอุ่นที่ดีกว่าเป็นไหนๆ แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องไปทำภาระกิจ ก็ต้องหัดให้ลูกกินนมจากขวดบ้าง แม่ๆ ลองนำข้อมูลที่คุณหมอแอมให้มาเบื้องต้นไปฝึกลูกกันนะคะ ยิ่งถ้ามีตัวช่วยดีๆ อย่างจุกนม ที่มีความคล้ายคลึงกับเต้านมแม่ และขวดนมที่จับถนัดมือ ไม่ทำให้มีลมในท้องที่เป็นสาเหตุของอาการงอแงไม่สบายตัว เท่านี้ก็จะช่วยให้หัดลูกกินนมจากขวดได้ง่ายขึ้นค่ะ

 

เอกสารอ้างอิง (กลไกการดูดนมแม่)

The American of Obstetricians and Gynecologist, American Academy of Pediatrics. Breastfeeding handbook for physician. 2nd edition. 2014.

 


สนับสนุนโดย

Philips AVENT

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up