Danone

ดานอน ประเทศไทย รวมพลังรณรงค์ต่อต้าน ภาวะโลหิตจาง จากการขาดธาตุเหล็ก ในงานแถลงข่าว “เด็กไทยฉลาด ต้องไม่ขาดธาตุเหล็ก”

event
Danone
Danone

เผยข้อมูลเชิงลึกระบุ เด็กไทยมากกว่า 1 ใน 3 เสี่ยงต่อภาวะโลหิตจาง
ย้ำเด็กไทยมีความเสี่ยงในทุกพื้นที่ ทั้งกรุงเทพและต่างจังหวัด

กรุงเทพมหานคร. 6 ธันวาคม 2567 – ดานอน ประเทศไทย ผู้นำระดับโลกด้านอาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ จัดงานแถลงข่าวในวันรณรงค์ภาวะขาดธาตุเหล็กโลก และเปิดตัวงาน “เด็กไทยฉลาด ต้องไม่ขาดธาตุเหล็ก” เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (IDA) และเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนของการตรวจพบภาวะโลหิตจางตั้งแต่เนิ่นๆ รวมถึงการดูแลด้านโภชนาการในเชิงรุกเพื่อลดความเสี่ยงภาวะดังกล่าว ที่ผ่านมาดานอนได้ร่วมมือกับบุคลากรทางการแพทย์และชุมชน และยังคงเดินหน้าเพื่อพัฒนางานด้านสุขภาพและโภชนาการทั่วประเทศผ่านการส่งเสริมการตรวจคัดกรองความเสี่ยงภาวะดังกล่าวตั้งแต่เนิ่นๆ และการสนับสนุนโภชนาการเสริมอาหาร ซึ่งสะท้อนถึงพันธกิจของดานอนในการส่งมอบสุขภาพที่ดีด้วยอาหารให้กับผู้คนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  ดานอนสนับสนุนให้การตรวจคัดกรองภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กเป็นการตรวจภาคบังคับเพื่อให้สามารถรักษาได้เร็วและได้ผลดียิ่งขึ้น โดยงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรณรงค์ของดานอนเพื่อต่อสู้กับภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กในเด็ก และได้รับเกียรติจาก แพทย์หญิงดวงพร ปิณจีเสคิกุล รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และ นางสาว ประพิมพ์พรรณ สุวรรณกูฏ ผู้อำนวยการกลุ่มการพัฒนาเด็กปฐมวัย กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดงาน ภายในงานมีการเสวนาโดยกุมารแพทย์ นักโภชนาการจากดานอน ประเทศไทย และตัวแทนคุณแม่เซเลบริตี้ มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับผลการศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ความสำคัญของการตรวจคัดกรองตั้งแต่เนิ่นๆ และการเสริมธาตุเหล็กผ่านอาหารที่รับประทานในแต่ละวัน

รศ. นพ. พงศ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ จากคณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล ย้ำว่า “ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กสามารถส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการทางร่างกาย และพัฒนาการทางสมอง รวมถึงการทำงานของร่างกายและสมองที่หากการขาดมีความรุนแรงหรือขาดอยู่ในระยะเวลานาน อาจะส่งผลเสียอย่างถาวรได้ ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก อาจไม่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า ดังนั้นการตรวจคัดกรองแต่เนิ่นๆ จึงมีความสำคัญอย่างมากในการตรวจพบและจัดการกับภาวะนี้ตั้งแต่ระยะแรกๆ”  นายธีรชัย ว่องเมทินี หัวหน้าฝ่ายออกแบบโภชนาการภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากดานอน ประเทศไทย เสริมว่า “ในการต่อสู้กับภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก เราจำเป็นต้องเพิ่มอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น เนื้อสัตว์ ตับ ไข่ ผักใบเขียว หรืออาหารเสริมธาตุเหล็ก เช่น นมเสริมธาตุเหล็กและธัญพืชเข้าไปในอาหารประจำวันของเด็กๆ และจับคู่อาหารเหล่านี้เข้ากับอาหารที่มีวิตามินซีสูงจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมธาตุเหล็กของร่างกายได้อย่างมาก”

ดานอน ประเทศไทย ยืนยันความมุ่งมั่นในการดำเนินงานระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก โดยนอกจากการตรวจคัดกรองความเสี่ยงภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กแบบไม่ต้องเจาะเลือดที่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนรังสิตภายใต้การดูแลของกรมกิจการเด็กและเยาวชนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 และการมอบเครื่องมือสำหรับตรวจคัดกรองความเสี่ยงภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กแบบไม่ต้องเจาะเลือดให้แก่สำนักอนามัย กรุงเทพมหานครเมื่อเดือนตุลาคม 2567 เพื่อใช้ตรวจเด็กๆ ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 6 แห่งในกรุงเทพมหานครด้วยเป้าหมาย 3,000 คนแล้ว

ดานอน ประเทศไทยยังมีแผนขยายโครงการสร้างความตระหนักรู้และการตรวจคัดกรองความเสี่ยงภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กไปยังสถานสงเคราะห์อื่นๆ ภายใต้กรมกิจการเด็กและเยาวชน รวมทั้งศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร พร้อมผนึกกำลังกับพันธมิตรในกลุ่มค้าปลีก เช่น บิ๊กซี ซีเจ และ พี.วาย.กิจศิริ จำกัด เพื่อจัดบริการตรวจคัดกรองความเสี่ยงภาวะดังกล่าวด้วยเครื่องมือแบบไม่มีการเจาะเลือด เพื่อให้เด็กในจังหวัดหลักทั่วประเทศสามารถเข้าถึงบริการได้สะดวกยิ่งขึ้น ด้วยการสนับสนุนจากพันธมิตรเหล่านี้ ดานอนตั้งเป้าขยายการเข้าถึงการตรวจคัดกรองความเสี่ยงภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสุขภาพเด็กทั่วประเทศ

ภายในงาน แพทริเซีย รังสีสิงห์พิพัฒน์ เซเลบริตี้ชื่อดังที่กำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่สอง กล่าวว่า “ความตั้งใจของคุณแม่ทุกคนคือดูแลเรื่องโภชนาการของลูกให้ดีที่สุด แต่บางครั้งเราก็ต้องการความรู้เพิ่มเติมค่ะ” นอกจากนี้ แพทริเซียยังได้แบ่งปันเคล็ดลับการเพิ่มอาหารที่มีธาตุเหล็กในมื้ออาหารของเด็ก เช่น เนื้อแดง ถั่ว ผักโขม และการรับประทานคู่กับอาหารที่มีวิตามินซีเพื่อช่วยการดูดซึมธาตุเหล็ก หรือการดื่มนมเสริมธาตุเหล็กเพื่อให้ได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ “เด็กๆ บางครั้งเขาก็เลือกรับประทาน การรับประทานอาหารที่เสริมธาตุเหล็กอย่างการดื่มนมเสริมธาตุเหล็กเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้แน่ใจว่าเราได้รับโภชนาการที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายของเขาค่ะ”

เภสัชกรหญิง วิรัชดา สุทธยาคม  ผู้อำนวยการด้านโภชนาการเพื่อสุขภาพ ดานอน ประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  กล่าวว่า “ดานอนได้สนับสนุนการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก โดยเริ่มจากการสนับสนุนการศึกษาวิจัยความชุกของภาวะความเสี่ยงต่อโรคโลหิตจางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะดังกล่าวกับบุคลากรทางการแพทย์นับจนวันนี้ได้รวมแล้วกว่า 9,000 คน และสนับสนุนการตรวจคัดกรองแต่เนิ่นๆ  นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำถึงความทุ่มเทของดานอนในการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกรอบการทำงานเพื่อความยั่งยืนที่เรียกว่า Danone Impact Journey ซึ่งหัวข้อด้านสุขภาพเป็นหนึ่งในนั้น โดยมีใจความหลักคือโครงการ 1,000 วันแรกที่ดานอนสนับสนุนการให้ความสำคัญแก่โภชนาการของเด็กตั้งแต่อยู่ในท้องแม่จนถึงอายุครบ 2 ปีที่ลืมตาดูโลก เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสุขภาพและพัฒนาการของเด็ก สอดคล้องกับพันธกิจในการสร้างอนาคตที่มีสุขภาพดียิ่งขึ้นให้กับครอบครัวไทย”

นอกจากนี้ ดานอน ยังได้ร่วมมือกับเครือข่ายโภชนาการช่วงแรกของชีวิต…ประเทศไทย (Early Life Nutrition Network) จัดงานประชุมวิชาการขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron Deficiency Anemia, IDA) ให้บุคลากรทางการแพทย์ผู้ที่เกี่ยวข้องในการดูแลหญิงตั้งครรภ์ ทารก และเด็กเล็ก ได้ตระหนักถึงความสำคัญของภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ผลกระทบต่อสุขภาพ แนวทางการป้องกัน และการให้คำแนะนำการดูแลด้านโภชนาการที่เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดธาตุเหล็ก การรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติงานในครั้งนี้จะนำไปสู่ความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนผลการวิจัยล่าสุด และการพัฒนากลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก เพื่อยกระดับผลลัพธ์ทางสุขภาพของแม่และเด็ก โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานเครือข่ายโภชนาการช่วงแรกของชีวิต…ประเทศไทย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ กรมสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อดีตผู้อำนวยการฝ่ายอาหารและโภชนาการของ FAO แห่งองค์การสหประชาชาติ และอดีตสมาชิกวุฒิสภาประเทศไทย รศ.พญ.สุชาอร แสงนิพันธ์กูล สาขาวิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ รศ.พญ. สุชยา ลือวรรณ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up