อาการท้องเสียในลูกน้อยเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่คงกังวลอยู่ไม่น้อย ในงาน Amarin Baby & Kids Fair ที่ผ่านมา พญ.ศิวพร ฌานโสภณกุล กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทางเดินอาหาร หรือคุณหมอกิ๊ฟ รพ.ชลบุรี มาให้มาให้ความรู้และคำปรึกษาเกี่ยวกับอาการท้องเสีย และรักษาสมดุลลำไส้ในเด็ก ให้กับคุณพ่อคุณแม่ แบบเคลียร์ทุกประเด็นที่สงสัย กองบรรณาธิการ Amarin Baby & Kids จึงได้นำสาระความรู้ที่คุณหมอเล่าให้ฟังมาฝากกันค่ะ
อุจจาระที่ปกติในแต่ละช่วงอายุ
การสังเกตว่าลูกของเรามีอุจจาระที่ผิดปกติหรือไม่ ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ต้องรู้จักอุจจาระแบบปกติของลูกเสียก่อนว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร ถ้าเห็นความเปลี่ยนแปลง หรือเห็นสิ่งที่ผิดปกติ คุณพ่อคุณแม่จะได้สามารถรักษาลูกได้อย่างทันท่วงที
อุจจาระของเด็กที่ปกติจะมีลักษณะนิ่มและเหลวกว่าอุจจาระของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังอยู่กินนมแม่เพียงอย่างเดียว อุจจาระจะนิ่มเหลว มีลักษณะเป็นครีม คล้ายเนยถั่ว ไม่ถ่ายเหลวเป็นน้ำ และก็ไม่เป็นก้อนแข็งเกินไป อาจมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวได้ เมื่อลูกมีอายุมากกว่า 6 เดือน ลูกเริ่มรับประทานอาหารอย่างอื่นนอกจากนมแม่ อุจจาระก็จะมีความแข็งและเหนียวมากขึ้น มีกลิ่นแรงมากขึ้น เป็นก้อนนิ่มตั้งแต่ต้นจนถึงปลาย ไม่มีมูกเลือดปนโดยอุจจาระที่ปกติอาจมีหลายสี ไม่ว่าจะเป็นสีเหลือง เหลืองเข้ม เหลืองฟักทอง หรือน้ำตาล เป็นต้น
สาเหตุของอาการท้องเสียในเด็ก
ท้องเสียในเด็กเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลักที่พบได้บ่อยคือการติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัส แบคทีเรีย ผ่านทางปากของลูก ไม่ว่าจะมาจากอาหาร นม น้ำ ภาชนะ มือ หรือของเล่นที่นำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายของลูก นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น แพ้โปรตีนวัว แพ้อาหารบางอย่าง หรือเกิดจากอาการข้างเคียงจากยาที่กินอยู่ เป็นต้น
รู้ได้อย่างไรว่าลูกท้องเสีย
หากลูกมีจำนวนครั้งของการขับถ่ายมากกว่าสามครั้งต่อวัน อุจจาระของลูกมีลักษณะหน้าตาที่ผิดปกติ เช่น มีความเหลวมากขึ้นกว่าปกติ ในอุจจาระของลูกมีน้ำปริมาณมาก มีสีเขียว มีมูกเลือดปน มีกลิ่นเหม็นเน่า หรือเหม็นคาว อาการเช่นนี้ บ่งบอกถึงความผิดปกติที่คุณพ่อคุณแม่ควรต้องใส่ใจ จึงอาจทำให้ลูกมีอาการร่วมที่เกิดขึ้นพร้อมกับการขับถ่ายที่ไม่ปกติ เช่น มีไข้ ปวดท้อง อาเจียน ซึม เบื่ออาหาร กินอาหารไม่ลง คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตลูกอยู่เสมอ หากพบอาการผิดปกติ ควรรีบรักษาทันที
หากพบว่าลูกมีไข้สูง ไม่ว่าจะเช็ดตัวอย่างไรไข้ก็ไม่ลด ลูกอุจจาระมีมูกเลือดปน มีอาการขาดน้ำ เช่น อาเจียนมาก ถ่ายท้องมาก ซึม อ่อนเพลีย ไม่เล่นเหมือนเดิม ควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษา
ขาดสารน้ำปริมาณมาก เลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญไม่เต็มที่ ฉี่น้อยลง กินอาหารไม่ลง เบื่ออาหาร ซึม ความดันตกหรือช็อค น่ากลัวกว่าผู้ใหญ่เพราะเด็กยังสื่อสารไม่ได้ บอกอาการไม่ชัดเจน ควรสังเกตอาการ
วิธีรับมือและดูแลรักษาเบื้องต้น
หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกกำลังมีอาการท้องเสีย คุณพ่อคุณแม่สามารถรักษาเบื้องต้นที่บ้านได้หลายวิธีดังนี้
เติมเกลือแร่และสารน้ำ
เมื่อเด็กมีอาการท้องเสีย ขับถ่ายหลายครั้ง จะทำให้เด็กเริ่มมีการสูญเสียสารน้ำ และเกลือแร่ออกไปจากร่างกาย หัวใจหลักของการรักษาจึงควรเริ่มจากการทดแทนสารน้ำที่ลูกสูญเสียไปด้วยการให้ลูกดื่มสารละลายเกลือแร่ หรือ โออาร์เอส ซึ่งมีวางจำหน่ายทั่วไป คุณพ่อคุณแม่สามารถชงด้วยตัวเองได้ตามวิธีการข้างซอง ผสมน้ำต้มสุก โดยควรให้ลูกค่อย ๆ จิบทีละน้อย บ่อยครั้ง ไม่ควรชงใส่ขวดนมแล้วให้ลูกดื่มรวดเดียวหมด เนื่องจากในช่วงเวลาที่ลูกกำลังท้องเสีย ลำไส้ของลูกจะเริ่มมีปัญหาเรื่องการดูดซึม ลำไส้กำลังได้รับบาดเจ็บ ดูดซึมไม่ดี ถ้าให้ลูกดื่มสารละลายเกลือแร่ปริมารรมากรวดเดียวจนหมด อาจทำให้ลูกอาเจียนออกมาหมด หรือถ่ายออกหมดทันที จนทำให้ร่างกายของลูกไม่ทันได้ดูดซึมเกลือแร่เหล่านั้นเลย คุณพ่อคุณแม่จึงควรชงสารละลายเกลือแร่ใส่แก้ว แล้วใช้ช้อนหรือไซริงจ์ป้อนลูกทุก 3-5 นาที ตลอดทั้งวัน
ไม่ควรให้น้ำหวานหรือน้ำแดงแทนสารละลายเกลือแร่ เพราะน้ำหวานหรือน้ำแดงมีปริมาณน้ำตาลมากเกินกว่าที่ร่างกายของลูกต้องการ คุณพ่อคุณแม่จึงควรมีเกลือแร่ติดบ้านเอาไว้ในยามฉุกเฉินอยู่เสมอ และไม่ควรใช้คาร์บอนเพื่อรักษาอาการท้องเสีย ถ้ามีไข้ ควรให้ยาแก้ไข้ และเช็ดตัวลดไข้
อาการท้องเสียส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ บางครั้งลูกจึงอาจมีอาการตัวร้อน มีไข้ ไม่สบาย ควบคู่ไปกับอาการถ่ายเหลว ถ้าลูกมีไข้ คุณพ่อคุณแม่ควรให้ยาลดไข้ในปริมาณที่เหมาะสมตามที่แพทย์แนะนำ และหมั่นเช็ดตัวเพื่อลดไข้ให้ลูก ไม่ควรปล่อยให้ลูกตัวร้อนสูงเป็นเวลานาน จนอาจเกิดภาวะช็อกตามมาได้
เสริมโพรไบโอติกส์ยีสต์เพื่อปรับสมดุลเชื้อจุลินทรีย์
คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ลูกกินโพรไบโอติกส์ยีสต์ควบคู่ไปกับการกินอาหารตามวัยตามปกติที่ได้รับการปรุงสุกสะอาด และจิบสารละลายเกลือแร่ เพื่อเป็นตัวช่วยให้อาการท้องเสียหายเร็วขึ้น ปรับสมดุลของจุลินทรีย์ที่ดี ใช้ได้ตั้งแต่เด็กวัยสองเดือนขึ้นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ โดยมีให้เลือกทั้งรูปแบบผงและแคปซูล ให้เลือกรับประทานได้ตามที่สะดวก สำหรับเด็กที่ยังรับประทานยาเม็ดไม่ได้ สามารถเลือกใช้เป็นโพรไบโอติกส์ยีสต์รูปแบบผงละลายน้ำ สามารถใช้โรยในน้ำ ข้าว น้ำนม หรือเทใส่ปากรับประทานโดยตรงเลยก็ได้ ควรรับประทานหนึ่งซองหรือหนึ่งแคปซูลหลังอาหารเช้า และเย็น ต่อเนื่องเป็นประจำประมาณหนึ่งถึงสองสัปดาห์ เพื่อเพิ่มเชื้อจุลินทรีย์ตัวดี เพิ่มความแข็งแรงของผนังลำไส้ เพิ่มสารอาหารและวิตามิน ลดโอกาสเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยจากการเสียสมดุลของเชื้อจุลินทรีย์ที่ดีและไม่ดี โดยไม่กระทบกับการกินยาชนิดอื่น เช่น ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ ซึ่งทำหน้าที่ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แต่โพรไบโอติกส์ยีสต์เป็นยีสต์จึงสามารถกินร่วมกันได้อย่างปลอดภัย คุณพ่อคุณแม่สามารถหาซื้อโพรไบโอติกส์ยีสต์ได้ที่ร้านขายยาใกล้บ้าน โดยควรปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยาทุกครั้ง
รับประทานอาหารตามปกติ
ควรให้ลูกรับประทานอาหารตามเดิมหรือตามปกติ ไม่ควรให้ลูกเปลี่ยนอาหารใหม่ในช่วงที่กำลังมีอาการท้องเสีย เพราะอาจยิ่งทำให้ถ่ายผิดปกติมากขึ้นอีก
วิธีป้องกันโรคท้องเสียในเด็ก
ความสะอาดสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง
สาเหตุของท้องเสียในเด็กส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ คุณพ่อคุณแม่จึงควรใส่ใจเรื่องความสะอาดเป็นพิเศษ ไม่ให้ลูกติดเชื้อจากมือของผู้เลี้ยงดู มือของเด็กเอง อาหาร ภาชนะ ขวดนม ขวดน้ำ และของเล่น เป็นต้น
ค้นหาสาเหตุที่ทำให้ลูกท้องเสีย
คุณพ่อคุณแม่ควรค้นหาสาเหตุที่ทำให้ลูกท้องเสีย เพื่อที่จะสามารถป้องกันและแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เช่น ถ้าลูกแพ้นมวัว หรือไม่สามารถย่อยแลคโตสในนมได้ ควรให้ลูกกินนมที่ไม่มีแลคโตส หรือถ้าลูกยังอยู่ในวัยที่กินนมแม่อย่างเดียว ช่วงที่ลูกกำลังท้องเสีย ควรให้ลูกกินนมแม่ส่วนปลาย ประมาณสามถึงห้าวันจนกว่าลูกจะมีอาการที่ดีขึ้นหรือหายเป็นปกติ
ปรับสมดุลจุลินทรีย์ด้วยโพรไบโอติกส์
ดูแลสุขภาพของลูกจากภายในด้วยการให้ลูกกินโพรไบโอติกส์เพื่อเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ชนิดดีที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
ท้องเสียในเด็กเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ในเด็กทุกเพศทุกวัย และสามารถเป็นได้ในทุกฤดูกาลตลอดทั้งปี คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยดูแลสุขอนามัย และป้องกันไม่ให้ลูกเจ็บป่วยจากการอาการท้องเสียได้ง่าย ๆ เพียงแค่ดูแลความสะอาด ดูแลสุขภาพของลูก รวมไปถึงการเลี้ยงดูลูกอย่างใส่ใจ หมั่นสังเกตลูกรักของเราอยู่เสมอ เพียงเท่านี้ลูกก็แข็งแรงปลอดภัยแล้วค่ะ
คุณหมอมาให้ความรู้ได้ครบถ้วนแบบนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่คงคลายกังวลเกี่ยวกับอาการท้องเสียของลูกน้อย และมีวิธีการรับมืออย่างถูกต้องแล้วใช่มั้ยคะ สำหรับโพรไบโอติกส์ยีสต์ที่ช่วยดูแลสมดุลลำไส้ ที่ลูกน้อยรับประทานได้อย่างปลอดภัยเป็นอย่างไร นั้น กองบรรณาธิการ Amarin Baby & Kids ได้นำเอา check list วิธีการเลือกโพรไบโอติกส์มาฝากค่ะ
- โพรไบโอติกส์ที่ให้ลูกน้อยรับประทาน ต้องมีงานวิจัยในเด็กที่น่าเชื่อถือ และมีการติดตามผลระยะยาว โดยโพรไบโอติกส์สูตรผสมส่วนมากที่ขายในตลาดจะไม่มีงานวิจัยของสูตรผสมนั้นโดยตรง แต่จะอ้างอิงงานวิจัยของโพรไบโอติกส์แต่ละชนิดมารวมกัน ซึ่งไม่สามารถมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นปลอดภัย และได้ประโยชน์ในเด็กจริง ดังนั้น จึงควรปรึกษาเภสัชกรให้ดีก่อนซื้อมาให้ลูกกินนะคะ
- โพรไบโอติกส์ที่น่าเชื่อถือ จะมีการแนะนำผ่านองค์กรทางแพทย์ที่น่าเชื่อถือระดับโลก เช่น World Gastroenterology Organization (WGO) หรือ ESPGHAN โดยโพรไบโอติกส์ที่มีงานวิจัยในเด็กมากมาย และเป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้แก่ โพรไบโอติกยีสต์ Saccharomyces boulardii CNCM-I 745 หรือใช้ชื่อการค้าว่า Bioflor ในประเทศไทย
- โพรไบโอติกส์ที่จดทะเบียนเป็นยา จะมั่นใจถึงประสิทธิภาพได้มากกว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมถึงมั่นใจในความปลอดภัย และไม่เป็นอันตราย
- มีรูปแบบที่เด็กสามารถทานได้ง่าย เช่น แบบซอง ผสมน้ำ เพื่อให้ง่ายต่อการป้อน
ที่สำคัญ ก่อนที่จะซื้อโพรไบโอติกส์ให้ลูกทาน เพื่อรักษาอาการท้องเสีย ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนทุกครั้ง และหากอาการไม่ดีขึ้น ควรพาไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดนะคะ