เจนนิเฟอร์ ชู กุมารแพทย์และผู้เขียนร่วมในหนังสือชื่อ “Heading Home With Your Newborn” อธิบายว่า “พัฒนาการทารกวัยนี้นั้น อาการแรกของการขบ กัด งับ เคี้ยวของทารกจะเริ่มเมื่ออายุได้ 3 เดือน เริ่มจากเอามือเข้าปากตัวเอง จากนั้นจึงจะเริ่มขยับมาเป็นสิ่งของต่างๆ” ด้วยเหตุผลง่ายๆ ดังต่อไปนี้
1. ง่ำ คือ วิธีที่เจ๋งที่สุด
การได้ขบ กัด งับ เคี้ยว ทำให้ได้เรียนรู้จักความแตกต่างของสิ่งของต่างๆ จากลักษณะรูปร่าง พื้นผิว รสชาติ และตอนที่ถือของนั้นไว้ใกล้ ลูกน้อยก็ยังได้กลิ่น รวมถึงได้รับความรู้สึกจากมือที่จับและสิ่งของที่สัมผัสถูกใบหน้าอีกด้วย
2. ง่ำ คือ วิธีบรรเทาอาการเจ็บ
ทารกจะเจ็บเหงือกเพราะฟันขึ้น ช่วงฟันเริ่มขึ้นทำให้ลูกน้อยเจ็บเหงือก การเคี้ยวจึงช่วยบรรเทาความเจ็บได้ ควรเลือกยางกัดที่ได้มาตรฐาน ยืดหยุ่น และแช่เย็นก่อนให้ลูกกัดหรือเคี้ยว จะช่วยได้มาก
3. ง่ำ คือ วิธีแสนง่าย
ลูกทำแล้วสบายใจ ทารกที่สนุกกับการใช้ปากมักจะค้นพบด้วยตัวเองว่าการได้ดูดและกัดเป็นวิธีที่ทำแล้วแสนสบายอกสบายใจ จึงเป็นเหตุผลว่า เพราะอะไรทารกบางคนถึงติดจุดหลอก หรือบางคนก็ติดดูดนิ้วโป้ง
คำแนะนำของคุณหมอคือ หมั่นทำความสะอาดของที่เข้าปากลูกอยู่บ่อยๆ รวมทั้งพื้นบริเวณที่ลูกเล่น และตรวจดูให้ดีว่าตามพื้นบ้านไม่มีของเล็กๆ เงินเหรียญ คลิปติดกระดาษ ปลอกปากกา กระดุม ชิ้นส่วนของเล่น ถ่านไฟฉาย แม้แต่อาหารชิ้นเล็กๆ ฯลฯ ที่จะเข้าไปอุดตันติดคอจนเป็นอันตรายได้
บรรยายโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง