วัยอาละวาด
เด็กวัยเตาะแตะ เมื่อโดนขัดใจก็มักจะลงไปดิ้นอาละวาด จนพ่อแม่ไม่รู้จะทำอย่างไร สุดท้ายก็ตามใจเพื่อให้ลูกหยุด แต่วิธีนี้ไม่สามารถแก้ไขพฤติกรรมเช่นนี้ได้ แม้กระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ เทคนิครับมือง่ายๆ ถ้าเป็นเด็กเล็กก็จับให้ลูกหยุด หรือกำลังอุ้มแล้วลูกจิกตาทึ้งผม คุณแม่ต้องจับหยุด ไม่ต้องพูดยาวเหยียด แค่พูดว่า ทำไม่ได้ คำเทศนายาวๆ เด็กจะไม่เข้าใจ เพราะสมองส่วนความคิดเรื่องเหตุผลยังไม่พัฒนา ครั้งแรกลูกอาจยังไม่เข้าใจ เมื่อเขาแสดงพฤติกรรมเช่นนี้อีก ก็ทำเช่นเดิม จนวันหนึ่งเขาจะเข้าใจว่า ลงไปดิ้นอาละวาดไม่ได้นะ จิกตาทึ้งผมคนอื่นไม่ได้นะ และต้องมาตรฐานเดียวทั้งพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย เรื่องนี้นอกจากสอนการควบคุมอารมณ์แล้ว ยังสอนเรื่องการเคารพสิทธิ์ของคนอื่นด้วย
ที่กล่าวมานี้คือหลักการที่สามารถฝึกได้ตั้งแต่เล็กๆ การฝึกลูกให้รู้จักจัดการกับอารมณ์เมื่อเจอความผิดหวังบ้าง จะช่วยให้ลูกพัฒนาตัวเอง
อ่านเพิ่มเติม [สร้างวินัยเชิงบวก] 3 เทคนิคเชิงบวก ฝึกลูกเล็กควบคุมอารมณ์ และความรู้สึกให้ได้ผล!
วัยสำรวจ
คำพูดติดปากของพ่อแม่คือ “อย่า” คือห้ามลูกทำโน่นนี่นั่น จนไปขัดขวางพัฒนาการของลูก ทำให้ลูกไม่กล้าสำรวจและเรียนรู้สิ่งรอบตัว ที่พ่อแม่ห้ามเพราะเห็นอันตรายหรือกลัวความวุ่นวาย ทำไมเราไม่แก้ปัญหาด้วยการจัดสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กให้ปลอดภัยล่ะ จะได้ไม่ต้องมานั่งห้ามและเฝ้าระวังจนปวดหัวและเหนื่อยใจ
อีก “ห้าม” หนึ่งที่พ่อแม่มักเผลอทำ คือห้ามไม่ให้ลูกเจอปัญหาและอุปสรรคใดๆ เลย หลักพัฒนาการเด็ก เกินครึ่งเด็กต้องเจอ Sense of Success คือความสำเร็จในสิ่งที่ทำด้วยตัวเอง ด้วยความภาคภูมิใจ ด้วยความคิดสร้างสรรค์ แต่อีก 30-40% ต้องเจอกับอุปสรรคและปัญหาให้เขาได้ท้าทายบ้าง ส่วนพ่อแม่ก็คอยให้กำลังใจ เขาก็จะเกิดการพัฒนาไปเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ใช่ให้เขาเจอแต่ปัญหาทั้งวันตั้งแต่เช้าจรดค่ำ หรือตั้งใจสร้างปัญหาให้ลูก แบบนี้เด็กก็รับไม่ไหว เช่น ลูกระบายสี แล้วสีที่ต้องการหมด สิ่งที่พ่อแม่จะช่วยสอนลูกได้ไม่ใช่การกระวีกระวาดไปซื้อสีเซ็ตใหม่ให้ลูก แต่แนะนำให้ลูกรู้จักดัดแปลงจากสิ่งที่มีอยู่ เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม เปลี่ยน “ข้อห้าม” เป็น “คำแนะนำ”
ขอขอบคุณข้อมูลจาก รองศาสตราจารย์ นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
เรื่อง: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids
ภาพ: Shutterstock