มื้อแรกของลูก อาหารตามวัย เริ่มอย่างไรจึงจะดี? - amarinbabyandkids
อาหารตามวัย

“มื้อแรกของลูก” อาหารเสริมตามวัย เริ่มอย่างไรจึงจะดี?

Alternative Textaccount_circle
event
อาหารตามวัย
อาหารตามวัย

ดิฉันเริ่มให้ อาหารตามวัย กับลูกอายุ 5 เดือนครึ่งกินอาหารค่ะ เริ่มจากฟักทองบดอย่างเดียว เพราะลองอย่างอื่นแล้ว เขาคายตลอด น้ำหนักตัวเขาค่อนข้างน้อย เลยกังวลว่าควรให้กินอาหารอย่างไร มากน้อยแค่ไหนจึงจะเหมาะสมเพียงพอ เขายังกินนมแม่ด้วยค่ะ

วิธีให้ อาหารตามวัย กับลูกน้อย

>>> ให้เริ่มด้วยข้าวกล้องหุงรวมกับถั่ว แล้วค่อยๆ ใส่ผักทีละอย่าง หนึ่งเมนู นาน 4 – 5 วัน เพื่อการตรวจสอบว่าไม่มีปัญหาแพ้ อาการแพ้คือ ผื่น ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง ถ่ายเป็นมูกเลือด งอแง ส่วนผลไม้และน้ำผลไม้ค่อยเริ่มเดือนถัดไป เพื่อให้รู้จักรสชาติของผักก่อน และไม่ให้ติดหวาน

  • ผักที่ใช้ มีดังนี้ แครอท ไช้เท้า มันเทศ มันฝรั่ง มันม่วง ถั่วลันเตา ถั่วแขก ถั่วฝักยาว ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วขาว ลูกเดือย ผักกาดขาว ผักกาดเขียว ผักกาดหอม ผักกาดแก้ว กะหล่ำปลี ตำลึง ผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้า ผักโขม ปวยเล้ง มะรุม ยอดมะระ ผักหวาน ข้าวโพดอ่อน เห็ด หัวหอมใหญ่ บรอกโคลี กะหล่ำดอก แตงกวา แตงร้าน ฟักทอง ฟักเขียว อะโวคาโด ควรเลือกผักออร์แกนิกจะได้สารพิษน้อยหน่อย หรือหากเป็นผักผลไม้ทั่วไปควรแช่เบกกิ้งโซดา น้ำเกลือ หรือน้ำยาแช่ผัก

ส่วนของข้าวกล้องและถั่วจะสุกช้า ควรแช่น้ำทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง ค่อยต้มให้สุกด้วยน้ำเปล่าหรือน้ำซุปผัก ไม่ปรุงรสด้วยเกลือ ซีอิ๊ว น้ำปลา น้ำตาล น้ำผึ้ง เพราะจะทำให้ลูกติดรสชาติ ไม่ดีกับสุขภาพ เมื่อข้าวและถั่วสุกดีแล้วจึงค่อยใส่ผัก รอจนสุก ปล่อยให้เย็นแล้วตักใส่ช่องทำน้ำแข็ง เมื่อแข็งแล้วแกะใส่ถุงเก็บนม แยกเป็นแต่ละเมนู เก็บได้นาน 8 สัปดาห์ เวลาจะใช้แกะออกจากถุงใส่ภาชนะที่ปลอดภัยในการอุ่นด้วยไมโครเวฟ คนให้เข้ากันดี เพราะบางจุดร้อนจัด เดี๋ยวลวกปากลูก ไม่ควรทำอาหารจากดิบเป็นสุกด้วยไมโครเวฟ เพราะอาจสุกไม่ทั่วถึง แต่ใช้เป็นการอุ่นอาหารที่สุกมาแล้ว ส่วนจาน ถ้วย ช้อน ถาดน้ำแข็ง ล้างให้สะอาดด้วยน้ำยาทำความสะอาดขวดนมและน้ำเปล่า ไม่ต้องนึ่ง

อาหารตามวัย 6 – 7 เดือน บดอาหารให้ละเอียด

เช่น ข้าวกล้องและถั่วที่ต้มน้ำซุปผักที่อุ่นแล้ว โดยปั่นหรือครูดผ่านกระชอน กินวันละมื้อเดียว ในวันแรกเริ่มป้อนเพียง 1 ช้อนโต๊ะ เวลากินข้าวแล้วฝืดคอหัดให้ลูกกินน้ำจากถ้วยหรือหลอดดูด หรือช้อนตักน้ำป้อนหลังกินอาหาร แล้วตามด้วยนมแม่จนอิ่ม ค่อยๆ เพิ่มอาหารวันละ 1 ช้อนโต๊ะ อย่าเพิ่มเร็ว เดี๋ยวท้องอืด แล้วร้องกวนตอนกลางคืน แต่ถ้าลูกไม่อยากกิน ไม่บังคับ ให้หยุดป้อน แล้วค่อยให้ใหม่วันต่อไป จนกินได้ครบมื้อ ปริมาณ 5 – 7 ช้อนโต๊ะ นมมื้อนั้นจะเลื่อนการกินออกไปอีก 1 – 2 ชั่วโมง

กรณียังไม่รู้ว่าแพ้อาหารหรือไม่ ควรให้กินมื้อเช้าหรือกลางวัน เพราะหากป้อนมื้อเย็นแล้วมีปัญหาแพ้อาหาร ลูกอาจมีอาการผิดปกติตอนกลางคืน แต่ถ้ารู้ว่าไม่มีอาการแพ้ อาจเปลี่ยนมาให้อาหารเป็นเวลาเย็น จะช่วยทำให้อิ่มนานขึ้น ลูกอาจหลับได้ยาวขึ้น

คลิกเลย >>> แนะนำ 9 เมนูอาหารสำหรับลูกน้อยวัย 6 เดือนขึ้นไป

อาหารตามวัย เดือนที่ 7 เริ่มเนื้อสัตว์

เริ่มใส่เนื้อสัตว์ลงในอาหาร บดละเอียด เริ่มเนื้อสัตว์ชนิดใหม่ทุกครั้งทีละอย่าง และใช้ซ้ำ 4 – 5 วันเพื่อตรวจสอบอาการแพ้ เนื้อสัตว์ที่แนะนำได้แก่ ไก่ หมู ปลาน้ำจืดเช่น ปลาช่อน ปลาดุก ปลานิล ปลาทับทิม ปลากราย ปลาเนื้ออ่อน ตับไก่ ตับหมู ไข่แดง (ต้องต้มให้สุกเต็มที่ หากเป็นยางมะตูมหรือไข่ลวกหรือไข่ที่ตอกลงไปในโจ๊ก ซึ่งสุกไม่เต็มที่ เชื้อโรคไม่ถูกทำลาย จะทำให้ถ่ายเป็นมูกเลือดได้) ปริมาณที่ใส่ต่ออาหาร 1 มื้อคือ 1 ช้อนโต๊ะ ไม่ควรมากกว่านี้ เพราะไตจะทำงานหนัก

ส่วนไข่ขาวและอาหารทะเลให้เริ่มหลังจากอายุ 1 ขวบ เนื่องจากแพ้ง่าย หากเริ่มเร็วเกินไปอาจไปกระตุ้นทำให้เกิดปัญหาแพ้ภายหลังได้

คุณแม่อาจจะเริ่มผลไม้ปั่นละเอียด (เติมน้ำลงไปด้วย จะได้ไม่ฝืดคอและไม่หวานเกินไป) เป็นอาหารว่างอีก 1 มื้อ ปริมาณ 2 – 3 ช้อนโต๊ะ เช่น แอ๊ปเปิ้ล สาลี่ แคนตาลูป ชมพู่ แตงไทย แตงญี่ปุ่น ลูกพลับ ลูกพีช ลูกแพร์ พุทรา กล้วย มะม่วงสุก มะละกอสุก (หากกินผักผลไม้สีเหลือง สีส้มมากๆ อาจทำให้ผิวสีเหลือง ไม่อันตราย กินต่อไปได้ ถ้าหยุดกินแล้วกว่าจะหายเหลืองจะใช้เวลานานประมาณ 6 เดือน) ส่วนผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะนาว กีวี สับปะรด มะเขือเทศ บลูเบอร์รี่ สตรอว์เบอร์รี่ ให้เริ่มหลัง 1 ขวบ เนื่องจากแพ้ง่าย

อาหารตามวัย เดือนที่ 8 – 9 เพิ่มปริมาณและเนื้ออาหารหยาบขึ้น ตุ๋นให้นุ่ม

โดยเพิ่มข้าวเป็นสองมื้อ อาหารไม่บดละเอียด แต่ตุ๋นให้นุ่ม เวลาป้อนให้ใช้หลังช้อนบด แต่ต้องดูด้วยว่าลูกสามารถกินได้หรือไม่ ถ้าเคี้ยวแล้วกลืนได้ ไม่ติดคอ ไม่คายออกมา ไม่อมเอาไว้ในปากโดยไม่กลืน แสดงว่ากินได้ แต่ถ้ายังไม่ได้ให้กลับไปบดละเอียดเหมือนเดิม แต่ทำให้ข้นมากขึ้นเล็กน้อย แล้วเดือนหน้าค่อยลองป้อนใหม่

อาหารตามวัย มื้อที่ 3 – อาหารต้มให้เริ่มเมื่ออายุ 11 – 12 เดือน

เมนูอาหารไม่ต้องตุ๋น เพียงแค่ต้ม แล้วดูว่าลูกกินได้หรือไม่ เด็กหลายคนเริ่มกินข้าวสวยและข้าวเหนียวได้ตั้งแต่อายุ 1 ขวบ เริ่มปรุงรสอ่อนๆ ได้ แต่ต้องดูด้วยว่าไม่มีปัญหาท้องผูกหรือถ่ายออกมาเป็นอาหารไม่ย่อย เนื่องจากการกินอาหารที่หยาบมากขึ้น

หากลูกน้อยยังไม่ยอมรับอาหาร

การใช้นมแม่มาผสมกับอาหารอาจทำให้ยอมรับสิ่งที่ไม่ยอมกินได้ง่ายขึ้น หากลูกยอมกินนมแม่ที่สะสมอยู่แล้วและยอมกินข้าวดีอยู่แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็น แต่หากลูกมีปัญหาดังกล่าว วิธีเอานมแม่แช่แข็งมาใช้ประกอบอาหารคาว ให้ทำอาหารให้ข้นกว่าปกติ หลังจากที่อุ่นอาหารพร้อมจะกินแล้ว ให้ละลายนมแม่มาราดบนอาหาร จะไม่เอานมแม่ไปต้มกับอาหารตั้งแต่ต้น เพราะจะเสียคุณค่าและมีกลิ่นเหม็น ยังมีสูตรทำอาหารจากนมแม่แช่แข็งอีกหลายสูตร หาดูได้ในเว็บศูนย์นมแม่ (www.thaibreastfeeding.org, www.breastfeedingthai.com)


บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

อ่านต่อบทความน่าสนใจคลิก

>> เมนูอาหารเบบี๋ (0-1 ปี)

>> เมนูอาหารเด็ก 1 ปีขึ้นไป

>> เมนูอาหารเสริมที่ทำจากนมแม่

>> กินยาก แก้ด้วย 6 กลยุทธ์สร้างความคุ้นชินกับเมนูใหม่ๆ ให้เจ้าตัวน้อย

>> เมนูอาหารน่ารัก 360 เมนู แก้ปัญหาลูกน้อยกินยาก

Summary
Review Date
Reviewed Item
อาหารมื้อแรกของลูก อาหารตามวัย อาหารทารก
Author Rating
51star1star1star1star1star

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up