สององค์กรดังรับมอบวัคซีนไอพีดี 5,000 โดสเพื่อเด็กไทยกลุ่มเสี่ยง เนื่องในสัปดาห์สร้างเสริมภูมิคุ้มกันโลก - Amarin Baby & Kids
ฉีดวัคซีนไอพีดี ภูมิคุ้มกัน โรคติดเชื้อในเด็ก

สององค์กรดังรับมอบวัคซีนไอพีดี 5,000 โดสเพื่อเด็กไทยกลุ่มเสี่ยง เนื่องในสัปดาห์สร้างเสริมภูมิคุ้มกันโลก

Alternative Textaccount_circle
event
ฉีดวัคซีนไอพีดี ภูมิคุ้มกัน โรคติดเชื้อในเด็ก
ฉีดวัคซีนไอพีดี ภูมิคุ้มกัน โรคติดเชื้อในเด็ก

จากซ้ายไปขวา

– รองศาสตราจารย์พิเศษนายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย

– นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ ประธานมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชนและอดีตอธิบดีกรมควบคุมโรค

– คุณโอปอล์ ปาณิสรา อารยะสกุล คุณแม่และพิธีกรชื่อดัง ร่วมเป็นตัวแทนเปิดโครงการ

image003

27 เมษายน พ.ศ. 2559 – สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ร่วมกันสนับสนุนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคไอพีดี (IPD) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้แก่เด็กไทยทั่วทุกภูมิภาคที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไอพีดีและไม่สามารถเข้าถึงการรับวัคซีนป้องกันโรคนี้ได้

สืบเนื่องในสัปดาห์สร้างเสริมภูมิคุ้มกันโลก ทั้งสององค์กรร่วมกันส่งมอบวัคซีนป้องกันโรคไอพีดีให้แก่เด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรงและแพร่กระจาย (โรคไอพีดี) ซึ่งประกอบด้วย โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสเลือด และโรคปอดบวม จากรายงานขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO (World Health Organization) ซึ่งระบุว่า การติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสนั้นเป็นสาเหตุสำคัญของโรคร้ายแรงที่เกิดแก่ร่างกาย และคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกเป็นจำนวนมาก โดยองค์การอนามัยโลกได้ประมาณจำนวนผู้เสียชีวิตการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสนี้ไว้สูงถึง 1.6 ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้มีทารกและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ถึงหนึ่งล้านคน[1]

องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้สัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายนในทุกๆ ปีเป็นสัปดาห์สร้างเสริมภูมิคุ้มกันโลก (World Immunization Week) ซึ่งปีนี้ได้มีการจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 30 เมษายน 2559 เพื่อสร้างความรู้และความตระหนักให้แก่บุคคลทั่วไป ให้เห็นถึงความสำคัญของการป้องกันโรคต่างๆ ด้วยวัคซีน และรณรงค์ให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้รับการปกป้องจากโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน[2]

นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ ประธานมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชนและอดีตอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า “สำหรับสัปดาห์สร้างเสริมภูมิคุ้มกันโลกในปีนี้ ทางองค์การอนามัยโลกได้ส่งเสริมเรื่อง “Close the Immunization Gap” เพื่อเน้นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนสำหรับเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและสมควรได้รับการป้องกัน ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการลดช่องว่างของการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับเด็กไทยเป็นอย่างดี”

“โครงการนี้ยังเป็นการร่วมมือครั้งแรกระหว่างมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชนและสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ที่ทางมูลนิธิฯ เองได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากและยังเป็นโครงการที่ตรงกับจุดมุ่งหมายของมูลนิธิฯ ในการเพิ่มช่องทางการให้ความรู้และการเข้าถึงวัคซีนให้แก่ประชาชน พร้อมผลักดันให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเล็งเห็นความสำคัญของวัคซีนที่มีต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย” นายแพทย์มานิต กล่าวเสริม

จากสถิติขององค์การอนามัยโลก การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ ด้วยวัคซีนสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้มากถึง 2 – 3 ล้านคนต่อปี หากแต่ในปัจจุบันยังพบว่าเด็กทั่วโลกจำนวนถึง 18.7 ล้านคน ยังไม่สามารถเข้าถึงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนพื้นฐานได้ตามที่ควร[2] ซึ่งหากมีการดำเนินงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคต่างๆด้วยวัคซีนเพิ่มขึ้นอาจสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้อีก 1.5 ล้านคน

รองศาสตราจารย์พิเศษนายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวเกี่ยวกับความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “เนื่องด้วยปัจจุบัน ยังมีเด็กไทยจำนวนมากที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไอพีดีแต่ไม่สามารถเข้าถึงการรับวัคซีนป้องกันโรคนี้ได้ ซึ่งในปีที่ผ่านมา เราได้บริจาควัคซีนป้องกันโรคไอพีดีให้แก่โรงพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทางมากถึง 13 โรงพยาบาล และในปีนี้ เราได้เพิ่มจำนวนวัคซีนป้องกันโรคไอพีดี จาก 500 โด๊สในปีที่ผ่านมาเป็น 5,000 โด๊ส เพื่อให้เด็กไทยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไอพีดีทั่วทั้งประเทศสามารถเข้าถึงโอกาสในการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันโรคไอพีดีได้มากขึ้น”

การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนป้องกันโรคนั้นได้รับการยอมรับในระดับสากลให้เป็นเครื่องมือที่ช่วยลดอัตราการเกิดโรคในเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นลดการเกิดโรคคอตีบ, ไอกรน, บาดทะยัก, หัด, หัดเยอรมัน, คางทูม, ไวรัสตับอักเสบเอ, ไวรัสตับอักเสบบี, อีสุกอีใส รวมทั้งโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส[3] เป็นต้น

ในปี พ.ศ.2559 ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) ให้การสนับสนุนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต่อโรคไอพีดีให้กับสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้กับเด็กไทยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไอพีดีแต่ไม่สามารถเข้าถึงการรับวัคซีนป้องกันโรคนี้ทั่วประเทศ โดยจะเริ่มส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทางทั่วทุกภูมิภาค เช่น โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์ ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2559 เป็นต้นไป เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อเด็กเหล่านี้ในการป้องกันโรคที่รุนแรงนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ นายแพทย์มานิตยังเสริมอีกด้วยว่า ทางมูลนิธีวัคซีนเพื่อประชาชนกำลังพยายามปรับปรุงกระบวนการพิจารณาเพิ่มวัคซีนตัวใหม่ให้เข้าในแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันระดับชาติ หรือที่เรียกกันว่า วัคซีนพื้นฐาน ให้ใช้ระยะเวลาดำเนินการน้อยลง เพื่อให้เด็กไทยทุกคนมีโอกาสฉีดวัคซีนเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคร้ายแรงอย่างทั่วถึงและเสมอภาคยิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติม โอปอล์อยากชวนคุณแม่ให้รู้จัก ‘โรคไอพีดี’ ป้องกันสำคัญกว่ารักษาปอดบวม ภัยร้ายสำหรับลูกน้อยวัยต่ำกว่า 5 ขวบ

 

[1] ข้อมูลจาก World Health Organization. International Travel and Health : Pneumococcal disease. Retrieved April 21, 2016, from http://www.who.int/ith/diseases/pneumococcal/en/

[2] ข้อมูลจาก World Health Organization. Fact Sheet : Immunization coverage. Retrieved April 19, 2016, from http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs378/en/

[3] ข้อมูลจาก Centers for Disease Control and Prevention (CDC). CDC Pink Book 2015. Appendix E: Data and Statistics: Impact of Vaccines in the 20th and 21st Centuries. Retrieved April 19, 2016, from http://www.cdc.gov/vaccines/pubs/pinkbook/downloads/appendices/appdx-full-e.pdf

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up