ส่วนการกินอาหารของคุณแม่ที่คุณแม่กังวลว่าจะไม่สามารถผลิตน้ำนมที่มีคุณภาพดีเพียงพอนั้น หมอขอแนะนำหลักการง่ายๆ คือ ไม่จำเป็นต้องกินอะไรเป็นพิเศษ ไม่จำเป็นต้องกินของราคาแพง แต่ให้ยึดหลักการเหมือนกับคนอื่นๆ ที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ คือควรกินแต่อาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ได้แก่
- กินผัก ผลไม้สดให้หลากหลายสี วันละ 5 ถ้วย หากไม่มีแบบสดๆ อาจเป็นแบบแช่แข็งหรือผลไม้ตากหรืออบแห้งแบบไม่เติมเกลือ น้ำตาล เพื่อให้ได้รับวิตามิน เกลือแร่ เส้นใยอาหารอย่างเพียงพอ
- ข้าวไม่ขัดขาว ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง เมล็ดพืช เช่น เมล็ดฟักทอง เมล็ดดอกทานตะวัน เมล็ดงาดำ เมล็ดแฟล็กซ์ จะช่วยให้ได้รับเส้นใยอาหาร วิตามิน เกลือแร่ สารต้านอนุมูลอิสระ
- โปรตีนจากสัตว์ เช่น เนื้อหมู ไก่ วัว ไข่ ถั่วเมล็ดแห้ง ปลา อาหารทะเล ควรกินให้หลากหลาย อย่ากินซ้ำๆ เพียงอย่างเดียวเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องแพ้อาหารและการได้รับสารพิษตกค้าง เช่น ฮอร์โมนเร่งโตที่ฉีดในสัตว์ สารปรอทในอาหารทะเล สารดีดีทีหรือสารปิโตรเคมีที่ตกค้างในไขมันสัตว์เนื่องจากสัตว์กินอาหารและแหล่งน้ำที่มีสารเหล่านี้ปนเปื้อน
- ดื่มน้ำสะอาดวันละ 2-3 ลิตร กินแคลเซียมช่วยให้กระดูกแข็งแรง ดีเอชเอช่วยบำรุงสมอง ไอโอดีนช่วยเพิ่มระดับสติปัญญา และธาตุเหล็กช่วยให้ไม่ซีดและป้องกันสมองเสื่อม ควรเลือกกินจากธรรมชาติจะดีกว่าการกินจากอาหารเสริม แต่ถ้ากินจากธรรมชาติไม่ได้ ก็ให้กินยาบำรุงเลือด แคลเซียมที่คุณหมอสูติฯ สั่งให้เหมือนตอนตั้งครรภ์ค่ะ
จากคอลัมน์ Baby Q & A นิตยสาร Amarin Baby & Kids ฉบับเดือนพฤษภาคม 2559
บทความโดย: พญ. สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด
ภาพ: Shutterstock