รพ.เด็กแนะนำเทคนิค “นวดเต้าด้วยมือ” ช่วยเหลือแม่ยุคใหม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ - Amarin Baby & Kids

รพ.เด็กแนะนำเทคนิค “นวดเต้าด้วยมือ” ช่วยเหลือแม่ยุคใหม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่

Alternative Textaccount_circle
event

ในยุคปัจจุบันผู้คนเริ่มหันกลับมาให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับการนวดเต้านมโดยเฉพาะในกลุ่มแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ “การนวดเต้านม” เป็นภูมิปัญญา ในการแก้ไขปัญหาการให้นมแม่ ที่มีหลากหลายวิธีการปรากฏให้เห็นในแทบทุกทวีปทั่วโลก เช่นเดียวกับทุกภาคของประเทศในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดประเด็นทางสังคมในสื่อออนไลน์ ถึงความนิยมในการนวดเต้านม เพื่อแก้ไขปัญหาการให้นมบุตรที่มีการสื่อสารบอกต่อว่าจะเป็นการช่วยเพิ่มน้ำนม การใช้วิธีนวดแบบรุนแรงที่มีผลให้เกิดการช้ำอักเสบของเต้านม การใช้อุปกรณ์เจาะ แยงท่อน้ำนมประกอบการนวดเพื่อแก้ไขปัญหาท่อน้ำนมตัน ซึ่งความเชื่อและการปฏิบัติดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบต่อความเข้าใจผิดของแม่ และก่อให้ปัญหาแทรกซ้อนในระบบท่อน้ำนม การเกิดปัญหาเต้านมอักเสบ เต้านมเป็นฝีตามมา

 

เพื่อทำความเข้าใจและหาคำตอบในประเด็นดังกล่าว ในการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 5    สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) ได้จัด Pre-conference  workshop ขึ้นเพื่อให้แพทย์ พยาบาล แพทย์แผนไทย และแม่อาสา  ได้มีโอกาสอันดีในการได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และได้รับมุมมองศาสตร์แห่งการนวดในหัวข้อ Therapeutic Breast Massage in Lactation (TBML)” โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญ 2 ท่านจากสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ดร.แอนน์ วิตต์ (Dr. Ann Witt) แพทย์ผู้ก่อตั้ง Breastfeeding Medicine of Northeastern Ohio และ มายา โบลแมน (Maya Bolman) พยาบาลผู้ชำนาญศาสตร์การนวดแบบรัสเซียแบบผสมผสานหลักการของระบบต่อมน้ำเหลือง (lymphatic system) และปัจจุบันเป็นประธาน ILCA Multicultural Committee วิทยากรทั้ง 2 ท่าน มีความชำนาญในการปฏิบัติงานในคลินิกนมแม่อย่างยาวนานและมีผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ได้รับเชิญเป็นวิทยากรในหลายประเทศ วิทยากรได้ถ่ายทอดความรู้ทั้งในด้านทฤษฎีและสาธิตวิธีการนวดเต้านมแก่คุณแม่ที่มีปัญหาเต้านมคัดและท่อน้ำนมอุดตัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับศาสตร์และวิธีการนวดเต้านมที่ถูกต้อง

รพ.เด็ก

แพทย์หญิงชนิกานต์ ทิพาโรจนกิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ได้เข้าร่วมการประชุมและอธิบายสรุปว่า “การนวดเต้านมแบบ TBML และบีบน้ำนมด้วยมือ เป็นเทคนิคที่คุณแม่ที่ให้นมแม่ สามารถนำไปปฏิบัติต่อได้ด้วยตน เอง ทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกสถานที่ ไม่มีค่าใช้จ่าย  เน้นการนวดที่นุ่มนวล ไม่เจ็บ โดยใช้การลูบไล่อย่างแผ่วเบา ไปในทิศทางระบบท่อต่อมน้ำเหลือง  ซึ่งในทางกายภาพระบบต่อมน้ำเหลือง จะมีตัวต่อมฝังในร่างกายส่วนต่างๆ และจะมีท่อนำน้ำเหลืองกระจายออกมาท่อต่อมน้ำเหลืองส่วนใหญ่อยู่บริเวณผิวหนัง ไม่ได้อยู่ลึก ผู้นวดจึงไม่ต้องกดน้ำหนักลงไปลึก การที่คุณแม่มีเต้านมคัด ของเหลวที่อยู่ในเต้านมไม่ได้มีเพียงน้ำนมเท่านั้น แต่ยังประกอบด้วยสารคัดหลั่ง ดังนั้นการนวดตามหลักการของ lymphatic system คือ ไล่ระบายให้สารคัดหลั่งกลับสู่ต่อม น้ำเหลืองใต้รักแร้ได้ง่าย สะดวกขึ้น อาการคัดตึงเต้านม อาการเป็นก้อนจากท่อน้ำนมอุดตัน และความเจ็บปวดจะลดลง ใช้การประคบเย็นภายหลังการนวดเพื่อช่วยลดบวม”

 

นอกจากนี้ แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ ประธานศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า “การนวดเพียงอย่างเดียวไม่ได้ช่วยทำให้น้ำนมเพิ่มขึ้น การจะมีน้ำนมมากขึ้นต้องอาศัยหลักการเดิม คือ การให้ลูกได้ดูดบ่อย ดูดถูกวิธี ดูดให้นานพอ พบว่าในระหว่างการนวดและการดูดของลูก ฮอร์โมนออกซิโทซินมีลักษณะการหลั่งที่ต่างกัน ถ้าคุณแม่อยากเพิ่มน้ำนมก็ควรเอาลูกเข้าเต้าให้บ่อยขึ้น นอกจากนี้ ความเจ็บปวดจะกดการหลั่งของฮอร์โมนออกซิโทซิน ดังนั้น การนวดต้องไม่เจ็บ เมื่อคุณแม่รู้สึกสุขสบายจากการนวด น้ำนมก็จะไหลดี ทั้งนี้ไม่ควรสอดใส่วัสดุใดๆ เข้าทางรูเปิดของท่อน้ำนม เนื่องจากอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ เกิดเต้านมอักเสบเป็นฝีตามมา วิธีการปฏิบัติดังกล่าวยังไม่มีงานวิจัยที่ได้มาตรฐานรองรับและไม่เป็นคำแนะนำให้ปฏิบัติตามหลักการสากล”

 

รองศาสตราจารย์คลินิก แพทย์หญิงศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กล่าวสรุปว่า “ปัญหาเต้านมคัด ท่อน้ำนมตัน เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยที่ทำให้เป็นอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้สำเร็จ การให้ลูกดูดนมออก หรือการบีบน้ำนมออกบ่อยจากเต้า เป็นหลักการสำคัญในการจะเพิ่มการสร้างน้ำนม สำหรับการนวดเต้านมเป็นหนึ่งในขบวนการเสริมในกรณีเต้านมคัด ที่อาศัยเทคนิคการนวดที่แผ่วเบา ในทิศทางที่กระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนของระบบน้ำนม ระบบน้ำเหลือง ที่เหมาะสม ส่งผลต่อการกระตุ้นให้น้ำนมมีทางเดินออก และความรู้สึกผ่อนคลาย จะมีผลให้น้ำนมไหลดี  การเจาะแยงท่อน้ำนมเป็นเรื่องที่อันตรายต่อการนำการติดเชื้อเข้าสู่เต้า ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาความไม่เข้าใจหรือการส่งต่อความเข้าใจที่ผิดในสังคม สถาบันฯมีความยินดี ที่จะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ บนพื้นฐานของวิชาการ และงานวิจัยที่ได้มาตรฐาน เพื่อความถูกต้องในการปฏิบัติ และป้องกันอันตรายจากปัญหาแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์”

 

เรื่องโดย มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก

ภาพจาก shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up