4. หลีกเลี่ยงการใช้เก้าอี้หรือรถหัดเดิน
เพราะนอกจากไม่ช่วยลูกฝึกทักษะเรื่องการเดินแล้ว ยังอาจฉุดรั้งพัฒนาการตามธรรมชาติของเขาให้ช้ากว่าที่ควรด้วย
5. ข้อควรระวังและสัญญาณบอกเหตุ
หากลูกมีอาการอ่อนล้ามากผิดปกติ หรือกล้ามเนื้อขาไม่มีกำลัง และไม่อาจยืนขึ้นได้เอง ต้องยึดคุณไว้ตลอด แนะนำว่าควรปรึกษากุมารแพทย์เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรงเพื่อหาทางแก้ไขอย่างทันท่วงทีต่อไป (อ่านต่อ ลูกพัฒนาการช้า ควรไปหาหมอเมื่อไหร่ดี?)
“ถ้าลูกเริ่มยืนและเดินเร็วกว่าเด็กคนอื่น จะอันตรายต่อกระดูกลูกไหม?”
Q: ลูกวัย 8 เดือนเริ่มพยายามจะยืน และสังเกตว่าบางครั้งพยายามจะก้าวเท้าเดินด้วย พัฒนาการเขาเร็วเกินไปหรือเปล่า จะเป็นอันตรายต่อกระดูกของลูกได้หรือไม่คะ
ลูกคือคนที่รู้ดีที่สุดว่าควรยืนและเดินเมื่อไร ลูกจะทำเมื่อเขาพร้อม และแน่นอนว่ากระดูกย่อมแข็งแรงเพียงพอแล้ว การยืนและเดินไม่ทำให้เกิดภาวะขาโก่งแน่นอน (ลักษณะที่โก่งอยู่แล้วเป็นลักษณะปกติที่พบได้ในเด็กวัยนี้ อ่านต่อ ไขข้อข้องใจ ลูกทารก “ขาโก่ง” ผิดปกติไหม?)
ที่จริงแล้วการเดินและยืนจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นมีพัฒนาการที่ดีมากขึ้น รวมถึงทำให้รูปร่างของเท้าพัฒนาดีขึ้นเพราะการลงน้ำหนักที่เท้าทำให้เริ่มมีอุ้งเท้าขึ้นมา ส่วนที่อาจทำให้แย่น่าจะเป็นอาการปวดหลังของผู้ทำหน้าที่ช่วยจับแขนให้ลูก ยืนหรือเกาะเดิน เพราะต้องคอยก้มจับลูกไว้ตลอดเวลามากกว่า
อย่างไรก็ดี ไม่ควรบังคับหรือจับเด็กที่ยังไม่พร้อมมาฝึกเช่นเดียวกับพัฒนาการด้านอื่นๆ คือควรให้ลูกเป็นผู้นำ และคุณแม่เป็นผู้คอยส่งเสริม เพื่อให้ลูกมีความสุขในสิ่งที่ได้กระทำด้วยตัวเองและเกิดการต่อต้านน้อยที่สุด (ตอบโดย แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด)
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids
ภาพ: Shutterstock