rsv คือ โรคที่ระบาดในฤดูฝนอันตรายกับเด็กเล็ก โรคติดเชื้อทางเดินหายใจมีอาการคล้ายไข้หวัดแต่ส่งผลรุนแรง ถึงขั้นปอดอักเสบได้ ยังไม่มีวัคซีน แต่ป้องกันได้
rsv คือ โรคอันตรายในเด็กเล็ก ไม่มีวัคซีนแต่ป้องกันได้
เมื่อต้องเผชิญกับภาวะฝนตกเกือบทุกวันในหน้าฝน ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กที่ถูกฝนเปียกชื้นบ่อยๆ แล้วถ้าไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีก็อาจจะเจ็บป่วยไม่สบายได้อย่างง่ายๆ ซึ่งโรคที่พบมากในเด็กในช่วงหน้าฝนก็มีมากมาย เช่น ไข้หวัดใหญ่ มือเท้าปาก โรคไข้เลือดออก อีสุกอีใส และอีกหนึ่งโรคที่คุณพ่อคุณแม่ควรต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง คือ ไวรัส RSV
ดังนั้นมาทำความรู้จักกับเชื้อไวรัส rsv คือ อะไรกันสักหน่อย เพราะมองเผินๆ คุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่าลูกเป็นหวัดธรรมดา แต่ถ้าไม่สังเกตอาการ และปล่อยไว้นานอาจจะกลายเป็นโรคร้ายที่อันตรายต่อชีวิตเด็ก ๆ ได้ ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ มีโอกาสที่จะเกิดซ้ำอีกได้ถ้าน้อง ๆ ร่างกายอ่อนแอ ซึ่งจะกระตุ้นอาการหอบจนทำให้เป็นโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังได้ในที่สุด
ไวรัส RSV คือ อะไร
RSV หรือชื่อเต็มๆ ว่า Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะในเด็กเล็ก เชื้อไวรัสนี้สามารถทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบได้เนื่องจากมักเกิดพยาธิสภาพในส่วนของหลอดลมเล็ก (bronchiole) และถุงลม (alveoli) ทำให้มีการสร้างสิ่งคัดหลั่ง เช่น เสมหะ ออกมาในปริมาณมาก และมีการหดตัวของหลอดลมเนื่องจากการบวมของเยื่อบุหลอดลมและทางเดินหายใจต่างๆ ส่งผลให้เด็กมีอาการหอบ เหนื่อย และหายใจลำบากได้อย่างรวดเร็ว เชื้อนี้ติดต่อกันได้โดยการสัมผัสใกล้ชิดกับสิ่งคัดหลั่งต่างๆ ของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ
อาการของโรคติดเชื้อไวรัส RSV บางอย่างอาจคล้ายกับอาการไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้ (ส่วนใหญ่ไข้ไม่สูงนัก) ไอ จาม แต่ก็มีอาการที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกต และสงสัยว่าลูกอาจได้รับเชื้อไวรัส RSV
อาการ rsv ที่บ่งบอกเด่นชัด
- หอบเหนื่อย
- หายใจเร็ว หายใจแรง
- หายใจครืดคราด
- ตัวเขียว
- มีเสียงหวีดในปอด (จากการที่เยื่อบุทางเดินหายใจบวมอักเสบและหลอดลมหดตัว)
- มีเสมหะมาก
- ไอโขลกๆ
อาการของเด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV จะต่างจากการเป็นหวัดธรรมดาอย่างไร
เด็กที่เป็นหวัดธรรมดาจะมีอาการเป็นแบบหวัด คือ มีไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล กินน้ำ-นมได้ อาจกล่องเสียงอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไอแบบมีเสมหะร่วมด้วยซึ่งจะหายได้ใน 5-7วัน
แต่อาการที่เกิดจากไวรัส RSV คือ อาการหอบ เหนื่อย บางคนหอบมากจนเป็นโรคปอดบวม หายใจหอบจนอกบุ๋ม หายใจแรงจนหน้าอกโป่ง หายใจออกลำบาก หรือหายใจมีเสียงวี้ดแบบหลอดลมฝอยอักเสบ บางรายไอมากจนอาเจียน ซึม ตัวเขียว กินข้าว น้ำ นมไม่ได้ทางที่ดีถ้าเด็กมีไข้ 3 วันควรรีบพาไปพบแพทย์
ในเด็กเล็กที่อ่อนแอมาก เช่น เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด เด็กที่มีโรคหัวใจ โรคปอด และหอบหืดอยู่แล้ว อาจมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว โดยอาจมีอาการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ หรือหายใจล้มเหลว จนต้องนำเข้าหอพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) และอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจด้วย
ไวรัส RSV ไม่มียา และวัคซีน แล้วต้องทำอย่างไร
ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกันโรคนี้โดยเฉพาะ ดังนั้นเมื่อเด็กได้รับไวรัสนี้จึงต้องรักษาตามอาการ ทานยาลดไข้ตามอาการทุก 4-6 ชั่วโมงพร้อมกับเช็ดตัวลดไข้ นอนพักผ่อนเยอะๆร่างกายก็จะฟื้นตัวช้าใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์จึงจะหาย แต่หลังจากหายแล้วหลอดลม และถุงลมฝอยของเด็กจะมีอาการอักเสบได้ง่ายเมื่อติดเชื้อครั้งใหม่ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลเป็นพิเศษทั้งเรื่องอาหาร และการออกกำลังกายในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง
รักษาตามอาการ
โดยทั่วไปการรักษาจะเป็นไปตามอาการที่ป่วย เช่น ให้ยาแก้ไอละลายเสมหะ ยาขยายหลอดลม ยาลดไข้ หรือพ่นยา ซึ่งก็ช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นได้ ในผู้ป่วยที่มีอาการเหนื่อย หายใจไม่ค่อยดี และเริ่มมีออกซิเจนในเลือดต่ำลง การรักษาจะเป็นในรูปแบบประคับประคอง เช่น ให้สารน้ำทางหลอดเลือด ให้ยาพ่นขยายหลอดลม เคาะปอด ดูดเสมหะ รวมถึงให้ออกซิเจน ส่วนในรายที่มีอาการหนักมาก อาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยให้การดูแลในหอพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติจนกว่าอาการจะดีขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการหนักอาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนด้วยไวรัสชนิดอื่นๆ เช่น เชื้อไข้หวัดใหญ่ เชื้อมัยโคพลาสมา หรือเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้การรักษาที่ครอบคลุมการติดเชื้อเหล่านี้ตามความเหมาะสม
แม้ไม่มียา แต่ป้องกันได้!!
ซึ่งการติดต่อของไวรัส RSV เหมือนไข้หวัดใหญ่ เป็นการสัมผัสฝอยละออง (droplets infection) ไม่ใช่ติดต่อทางอากาศ (airborne) เป็นการติดต่อจากผู้หนึ่ง ไปสู่อีกผู้หนึ่งมีอำนาจการแพร่กระจายโรคเท่ากับไข้หวัดใหญ่ ลักษณะอาการของผู้ที่ติดเชื้อเหมือนโรคหัด คอตีบ ติดง่ายมาก สำหรับวิธีป้องกันโรคไวรัส RSV นี้ คือการรักษาความสะอาด คนที่ใกล้ชิดเด็กเล็กควรล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดคนป่วย
แนวทางการป้องกันเชื้อ rsv
- ล้างมือให้เด็กบ่อยๆ รวมถึงคนรอบข้าง พ่อแม่ที่ดูแลก็ด้วยจำเป็นต้องล้างมือบ่อย ๆ เช่นกัน
ล้างมือถูกวิธี เลี่ยงเชื้อโรค
ขอบคุณภาพ infographic จาก http://infographic.kapook.com/view101555.html
- เมื่อมีเด็กป่วย หากเป็นไปได้ให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน แต่หากไม่สามารถรับกลับบ้านได้ ให้แยกเด็กและแยกเครื่องใช้ของเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค
- พ่อคุณแม่ที่มีลูกป่วยควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติเพื่อป้องกันการไอจามแพร่เชื้อให้กับผู้คนที่อยู่รอบข้าง ถ้าลูกเริ่มเข้าเนิร์สเซอรีหรือโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกหยุดเรียนอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์จนกว่าจะหายเป็นปกติ
ถึงแม้ว่าไวรัส RSV โรคติดเชื้อทางเดินหายใจในเด็ก จะมีอาการรุนแรงมากกว่าไวรัสหวัดทั่วไป และยังไม่มียารักษาเฉพาะ และวัคซีน แต่ถ้าหากดูแลสุขภาพลูกน้อยให้แข็งแรง ก็ปลอดภัยจากไวรัส RSV ได้
สรุปด้วย 12 คำถาม พร้อมคำตอบเกี่ยวกับ rsv คือ อะไร
หากคุณพ่อคุณแม่ยังคงสับสน คาใจ และไม่แน่ใจเกี่ยวกับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจในเด็ก rsv ลองมาฟังคุณหมอขอตอบเพียง 12 คำถามรู้ครบจบคำถาม rsv คืออะไร ยังไง
1.RSV (Respiratory Syncytial Virus) คืออะไร?
RSV คือ เชื้อไวรัสตระกูลที่มีเปลือกนอก envelopedในกลุ่ม Paramyxoviridae
ลักษณะสำคัญ คือ มีไกลโคโปรตีนที่ผิวชนิด Fและ Gทำให้แทรกซึมเข้าสู่ทางเดินหายใจ ทำให้เกิดโรคทางระบบทางเดินหายใจที่รุนแรง โดยเฉพาะอยางยิ่งโรคปอดบวมและปอดอักเสบ
2.RSV ติดได้อย่างไร?
เป็นเชื้อไวรัสของ ระบบทางเดินหายใจติดต่อกันแบบ Dropletคือ จากสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย ผ่านการไอ จาม และการสัมผัสกันโดยตรง
3.RSVระบาดช่วงเวลาใด?
ระบาดตามฤดูกาล ช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาวหรือช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง นั่นคือ ระบาดมากช่วงเดือน สิงหาคม จนถึง พฤศจิกายน
4.เมื่อไหร่จะสงสัย ว่าติดเชื้อ RSV?
อาการเริ่มแรกเหมือนไข้หวัดทั่วไป คือ มีไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล และจะหายได้ ภายใน 5-7 วัน เด็กบางคนมีอาการมากกว่าไข้หวัดธรรมดา คือ ไอแบบมีเสมหะร่วมด้วย ไอมากจนอาเจียน อาจมีหายใจเร็ว แรง หายใจลำบาก หรือหายใจแบบมีเสียงวี๊ด (Wheezing) ได้ในรายที่มีอาการหนัก
5.เมื่อติดเชื้อ RSVแล้ว จะป่วยรุนแรงขนาดไหน?
เป็นได้ตั้งแต่ ไข้หวัดธรรมดา (Common cold) กล่องเสียงอักเสบ (Laryngitis) ไปจนถึง หลอดลมอักเสบ (Bronchitis) หลอดลมฝอยอักเสบ (Bronchiolitis) ปอดบวม ปอดอักเสบ (Pneumonia)
6.ติดเชื้อ RSV จะป่วยนานแค่ไหน?
ขึ้นกับว่าติดเชื้อรุนแรงระดับไหน ไข้หวัดธรรมดามักหายได้เอง ภายใน 5-7 วัน ถ้าติดเชื้อถึงทางเดินหายในส่วนล่าง มักจะมีปัญหาเรื่อง ไอ เสมหะเรื้อรัง บางรายจำเป็นต้องได้รับการเคาะปอด ดูดเสมหะ เป็นระยะเวลานานถึง 2-3 สัปดาห์
7.ใครบ้าง ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ RSV?
เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง
8.ปัจจัยที่ทำให้อาการของการติดเชื้อ RSVเป็นรุนแรงขึ้น?
กลุ่มที่มีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ทารกคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อยหรือภูมิต้านทานต่ำ รวมถึงเด็กเล็กที่ใกล้ชิดคนสูบบุหรี่
9.การตรวจเชื้อ RSVทำได้อย่างไร?
ตรวจคัดกรองเบื้องต้น โดยการป้ายสารคัดหลั่งน้ำมูกในจมูก (Nasal swab) เหมือนการตรวจไข้หวัดใหญ่ทั่วไป นิยมใช้ การตรวจแบบด่วน (RSV rapid test) ในปัจจุบันมักจะสั่งตรวจควบคู่ไปกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่
10.RSV รักษาให้หายได้อย่างไร?
การรักษา แบ่งเป็น 2 ประเภท
- การประคับประคองอาการทั่วไป เช่น ให้สารน้ำทางเส้นเลือดดำ ให้ออกซิเจน ช่วยดูดระบายเสมหะ
- การรักษาแบบเฉพาะที่ เช่น พ่นยาขยายหลอดลม พ่นน้ำเกลือเข้มข้นชนิดพิเศษ เพื่อลดภาวะหลอดเกร็ง หายใจมีเสียงวี๊ด ในปัจจุบันมีรายงานการใช้ยา Montelukastในการลดความรุนแรงในช่วงแรกของการหายใจหอบ เหนื่อยแบบมีเสียงวี๊ด และใช้ยาต่อเนื่องเพื่อลดการกลับมาเป็นซ้ำ
11.ภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะตามมาหลังติด RSV?
แม้จะรักษาหายขาดแล้ว ก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก โดยเด็กมักมีภาวะหลอดลมไวตามมา ทำให้หายใจเหนื่อยง่าย หลังการติดเชื้อทางเดินหายใจรวมถึงมีรายงานเมความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบหืดได้สูงขึ้นทั้งในเด็กที่มี และไม่มีความเสี่ยงของโรคภูมิแพ้ในครอบครัว
12.การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ RSV?
ในปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ดังนั้นจึงเน้นการป้องกัน โดยการเพิ่มภูมิต้านทานธรรมชาติ โดยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในสถานที่แออัด หรือพาเด็กไปเยี่ยมผู้ป่วย มาตรการสำคัญในการป้องกันการระบาดของโรค คือ การหมั่นล้างมือให้สะอาด หรือใช้เจลแอลกอฮอลล์ลูบมือบ่อยๆ ไม่ควรให้เด็กอยู่ร่วมกัน แยกเด็ก แยกของเล่นเด็ก เมื่อมีเด็กป่วย สงสัยว่ามีการติดเชื้อ หากเป็นไปได้ควรให้ผู้ปกครองมารับกลับบ้าน
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.oknation.net , www.bumrungrad.com
อ่านต่บทความดี ๆ คลิก
รวม 20 อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย แบบนี้..! กำลังป่วยเป็นโรคอะไร?
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่