อาการแหวะนมของลูกน้อย
ทารกทั่วไปสามารถแหวะนมออกมาได้ประมาณหนึ่ง โดยมักจะเกิดขึ้นระหว่างที่เรอหรือทันทีที่กินนม ซึ่งเด็กแต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน บางคนอาจจะแหวะนมออกมามากกว่าคนอื่นๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา และไม่มีผลกระทบต่อสารอาหารที่ลูกน้อยจะได้รับ เพียงแค่หากลูกแหวะนมออกมามากๆ คุณแม่ อาจจะต้องให้ลูกกินนมบ่อยขึ้น ของเหลวปริมาณเล็กน้อยอาจจะดูเหมือนมีปริมาณมากเมื่อหกออกมา (ลองหยดนม 2 – 3 ช้อนโต๊ะลงบนโต๊ะ และดูว่าเป็นอย่างไร) เพราะฉะนั้น ปริมาณที่คุณแม่เห็น อาจไม่ได้มากเท่าไหร่นักถ้าเทียบกับจำนวนที่ลูกกินเข้าไป คุณแม่จึงไม่ต้องกังวล เพราะถึงแม้ว่าลูกจะแหวะนม แต่เขายังเติบโตและแข็งแรงดี
ทั้งนี้อาการแหวะนมของเด็ก มีทั้งปกติและไม่ปกติ พบได้บ่อยในเด็กแรกเกิด – 4 เดือน เนื่องจากการทำงานของหูรูดกระเพาะอาหารยังไม่สมบูรณ์หลังดูดนมอิ่มแล้ว จึงทำให้น้ำนมท้นขึ้นมาจากกระเพาะอาหารและแหวะออกมาทางปาก บางครั้งออกทั้งทางปากและจมูก แต่ในเด็กบางคน แหวะนมบ่อย จนน้ำหนักตัวลดลงอาจเกิดจากโรคบางอย่างและส่งผลต่อการเจริญเติบโตของลูกได้ …. เพราะฉะนั้นคุณแม่มือจึงจำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการเเหวะนม ดังนี้ค่ะ
1.ลูกมีอาการแหวะนม หลังดูดนมทุกมื้อ
สาเหตุ เกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดกระเพาะหย่อน
วิธีการป้องกันแก้ไข คุณแม่ลองปรับปรุงการให้นมลูกใหม่ดูนะคะ หลังลูกดูดนม อย่างเพิ่งให้ลูกนอนราบ แนะนำให้อุ้มลูกในท่าศีรษะสูงนานมากกว่า 30 นาทีขึ้นไป เพื่อให้น้ำนมได้ผ่านการย่อยบางส่่วนไปบ้างแล้ว ค่อยให้ลูกนอนลง หากยังแหวะอยู่ ให้ลูกนอนในท่าศีรษะสูงโดยใช้ผ้าขนหนูพับ 2-3 พับ หนุนตั้งแต่ไหล่ขึ้นไป เมื่อลูกหลับสนิทค่อยๆเอาผ้าออก หากไม่ดีขึ้น แนะนำให้พบแพทย์ เพื่อรับยาปรับกระเพาะอาหารให้มีการบีบตัวมากขึ้นเพื่อส่งน้ำนมลงสู่ลำไส้เล็กได้ดี อาการดังกล่าวจะหายไป
2.ลูกแหวะนมพร้อมกับอาการเรอ และผายลมด้วย
สาเหตุ เกิดจากขณะดูดนมลูกกลืนลมลมเข้าไปด้วยค่ะ จึงทำให้มีอาการท้องอืด
วิธีการป้องกันแก้ไข คุณแม่ต้องปรับปรุงเรื่องการให้นมลูกเป็นการด่วนค่ะ หากคุณแม่ให้หนูกินนมจากขวด คุณแม่ต้องดูให้ดีนะคะ อย่าหมุนปิดฝาจุกนมแน่นเกินไป ต้องให้มีฟองอากาศไหลเข้าขวดนมได้สะดวกตอนหนูดูด อย่าให้จุกนมแฟบ ถ้าแฟบจะทำให้หนูดูดน้ำนมจากขวดไม่ออก ซึ่งทำให้หนูดูดแต่ลมเข้าท้องค่ะ และหลังกินนมคุณแม่ลูบหลังให้หนูได้เรอนมออกมาซะหน่อยก็ดีค่ะ
3.ลูกอาเจียนเป็นของเหลวสีขาว (นมย่อย) หลังอาเจียน มีอาการหิวนมอีก
สาเหตุ เกิดจากกระเพาะอาหารส่วนไพโรรัสมีการอุดกั้น
วิธีป้องกันแก้ไข ให้คุณแม่นับจำนวนครั้งและสังเกตอาการขณะลูกอาเจียน หากลูกมีอาเจียนบ่อยทุกวันติดต่อกันมากกว่า 1 สัปดาห์ คาดเดาได้ว่าลูกของคุณแม่อาจมีความผิดปกติเกี่ยวกับ ก้อนในท้อง หรือเนื้องอกต่างๆในระบบทางเดินอาหารได้ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด
4.ลูกแหวะนมบ่อยครั้งร่วมกับน้ำหนักตัวลดลงเรื่อยๆ
สาเหตุ เกิดจากความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร
วิธีป้องกันแก้ไข ปรับปรุงมื้อนมใหม่ควรให้กินนมเพียงครึ่งเดียวก่อน จับให้เรอ แล้วให้กินต่อจนหมด จึงจับให้เรออีกครั้ง พยายามจัดท่าให้หลังของลูกตรงโดยใช้แขนวางทาบแผ่นหลังประคองให้หลังตรง เพราะถ้าหลังงอ หน้าอกจะก้มลงมาด้านหน้า เพิ่มความดันในช่องท้อง กระเพาะอาหารจะถูกกด ทำให้แหวะหรืออาเจียนได้ง่าย นอกจากนั้นการให้นมมากเกินไปในแต่ละมื้อ ลูกก็แหวะได้เช่นกัน คุณแม่ต้องพยายามให้นมให้ถูกวิธี ตรวจปริมาณนมต่อมื้อให้เหมาะสมตามวัย คือ 3 – 4 ออนซ์ ต่อมื้อให้ทุก 3 – 4 ชั่วโมง หากยังแหวะอยู่บ้างให้ดูที่ตัวลูกเป็นสำคัญ หากน้ำหนักขึ้นดี แจ่มใส ร่าเริง นับว่า เป็นปกติ แต่ถ้าแหวะบ่อย น้ำหนักไม่ขึ้นควรปรึกษากุมารแพทย์ค่ะ
คุณแม่ที่กำลังเจอปัญหานี้อยู่ คงเข้าใจมากขึ้น แต่หากคุณแม่ท่านไหนไม่มั่นใจในอาการของลูกเกี่ยวกับการแหวะนม และอาเจียนแนะนำให้ปรึกษากุมารแพทย์ เป็นการด่วนนะคะ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างทันท่วงที “เพราะลูกคือคนพิเศษรอช้าไม่ได้”
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก เฟสบุ๊คคุณแม่ Panita Veerachat
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
ผมร่วงหลังคลอด แม่มือใหม่รับได้มั้ย 6 เคล็ดลับป้องกันผมร่วงให้ลูกจำหน้าแม่ได้แบบสวยๆ