5 อันดับยอดฮิต… โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ในเด็กเล็ก
โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เกิดจากอากาศเปลี่ยนแปลงค่อนข้างบ่อย มีความชื้นมากทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตและแพร่เชื้อได้ดี โดยเฉพาะเด็กเล็กก็มีโอกาสเจ็บป่วยมีโอกาสเกิดโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจได้ง่าย
ซึ่งพ่อแม่ควรสังเกตดูอาการลูกน้อยขณะป่วยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะรักษาโรคได้ทันท่วงที เรามาดูกันค่ะว่า 5 โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ยอดฮิตมีอะไรบ้าง
1. โรคหวัดและโรคไข้หวัดใหญ่
80-90% ของโรคหวัดเกิดจากเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรียที่ซ้ำเติมเป็นเหมือนพวกถือโอกาสเข้ามาซ้ำเติมด้วย โดยทั่วไปมนุษย์ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีแบคทีเรียในทางเดินหายใจอยู่แล้ว เมื่อไรเราอ่อนแอมันก็จะมาซ้ำเติม ขึ้นกับว่าเชื้อรุนแรงมากน้อยแค่ไหน เชื้อที่อันตราย เช่น เชื้อฮิบ และ เชื้อนิวโมคอคคัส
การรักษาโรคหวัดเป็นการรักษาตามอาการเพราะยาที่เรามีไม่ได้รักษาเจาะจงเชื้อไวรัสหวัดชนิดใดโดยเฉพาะ หากอาการไม่หนักก็ดูแลที่บ้านได้ มีเพียงยาโอเซลทามิเวียร์ที่เป็นยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั้งสายพันธุ์ A และ B แต่ต้องใช้รักษาตั้งแต่ระยะแรกของการป่วยจึงจะได้ผลดี หากตรวจหาเชื้อก่อโรคไม่ได้ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีการติดเชื้อหรือว่าหมอวินิจฉัยผิดแม้ในปัจจุบันมีวิธีการตรวจหาเชื้อไวรัสมากมายแต่ก็ยังไม่สามารถครอบคลุมเชื้อไวรัสได้ทุกชนิด และอาจทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากโดยไม่จำเป็น แพทย์จะทำต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้พิเศษเช่น มีอาการหนัก
ในกรณีติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน ทารกคลอดก่อนกำหนด หรือมีโรคหัวใจ ปอด หอบหืด โรคเลือด โรคประจำตัวอื่นๆ หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งหากเป็นไข้หวัดใหญ่จะมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้มาก ควรดูแลใกล้ชิดและหากจำเป็นควรเริ่มยาโดยเร็ว หรือจะรอดูอาการก็ได้ แล้วแต่การตัดสินใจร่วมกันกับแพทย์
2. โรคปอดบวมหรือโรคปอดอักเสบ
เป็นพยาธิสภาพหรือเป็นการตรวจพบว่ามีรอยโรคในปอดซึ่งเกิดจากเชื้อหลายแบบทั้งไวรัสหรือแบคทีเรีย ไวรัสที่ดุถึงขั้นลงปอดก็จะทำลายเยื่อบุหลอดลม และถุงลมได้พอควร ทำให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนไม่ดีพอ ออกซิเจนจึงต่ำ ผู้ป่วยจะหายใจเร็ว มีเสมหะมาก ทำให้การหายใจล้มเหลว บางครั้งก็ติดเชื้อร่วมกันทั้งไวรัสและแบคทีเรียทำให้อันตรายถึงชีวิตได้ ปัจจุบันยามีประสิทธิภาพดีขึ้น เด็กที่ป่วยมาหาหมอเร็วขึ้น การติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมจึงน้อยลง
เด็กที่ป่วยอาจจะมีไข้หรือไม่ก็ได้ ที่สำคัญคือมักไอมากและหายใจเร็ว แพทย์จะวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในกระแสเลือด หากเป็นปอดบวมที่รุนแรงผลค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในกระแสเลือดจะต่ำลง ตรวจพบเสียงเสมหะในทางเดินหายใจ และอาจมีการทำเอ็กซเรย์ปอดเพื่อประเมินสภาพปอดว่าเป็นฝ้าขาวมากน้อยเพียงใด
การรักษาจะเริ่มจากทำให้เด็กหายใจได้สะดวกโดยดูดเสมหะออก อาจให้ยาสำหรับการติดเชื้อหากมีข้อบ่งชี้ หากมีอาการปอดบวมรุนแรงก็จะมีการตรวจว่าเชื้อก่อโรคเป็นเชื้ออะไร รวมถึงการให้การดูแลเรื่องการหายใจฯลฯ ในรายที่เป็นรุนแรงอาจถึงขั้นต้องเข้าดูแลในไอซียู และอาจถึงขั้นต้องใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ
3. ไซนัสอักเสบ
ไซนัสเป็นโพรงอากาศด้านในกะโหลกศีรษะ จัดเป็นหนึ่งในทางเดินหายใจส่วนบน เวลาเป็นหวัดลูกอาจมีปัญหาคัดในโพรงไซนัสได้บ้างเป็นธรรมดา เมื่อหายจากหวัดก็จะหายไปเอง ในบางรายอาจไม่หายพร้อมหวัด ทำให้โพรงไซนัสตัน มีน้ำมูกสีเขียวหรือเหลือง ปวดกระบอกตาซึ่งต้องรักษา ถ้าอาการถึงขั้นนี้ลูกอาจจะไอเป็นสัปดาห์ หากเป็นเยอะจะมีกลิ่นลมหายใจ ร่วมกับมีน้ำมูกเขียว บางคนติดไอกระแอม รักษาได้ด้วยการล้างจมูก พ่นจมูก อาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะช่วงหนึ่ง ในเด็ก 80-90% มักเป็นไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลัน หายภายใน 1-2 สัปดาห์ถ้ารักษาถูกต้องโดยไม่ต้องผ่าตัด ต่างจากผู้ใหญ่
การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือจะพาน้ำมูกและสิ่งที่เหนียวปิดรูไซนัสออกมา ทำให้หนองหรือน้ำมูกที่ค้างในโพรงไซนัสออกมาได้ง่ายขึ้น ทำให้แบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนภายในโพรงไซนัสตายไปเอง เยื่อบุทางเดินหายใจบวมน้อยลง เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น หากได้รับยาปฏิชีวนะ ยาจะเข้ามากำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ใช้ออกซิเจนได้ดีขึ้น การล้างจมูกจึงช่วยให้หายเร็วขึ้น