คุณแม่ของน้องพัฟ เด็กชายวัย 1 ขวบ 8 เดือน สงสัยว่าเหตุใดลูกจึงทำสิ่งที่ยากขึ้นได้มากมาย แต่กลับยังไม่พูดสักที
พ่อ – แม่จำนวนไม่น้อยกลุ้มใจกับเรื่องนี้โดยเฉพาะเวลาที่ไปเจอเด็กวัยเดียวกันพูดเจื้อยแจ้ว
เด็กในวัย 2 ขวบที่พูดได้น้อยกว่า 50 คำ จัดอยู่ในข่ายพูดช้า เราจะพบเด็กพูดช้าราว 10 เปอร์เซ็นต์ของวัยเตาะแตะ ดร.มอร่า มัวเยอร์ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความปกติด้านการพูดกล่าว เด็กราวครึ่งหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มพูดช้ามักพูดได้ดีขึ้นด้วยตัวของเขาเองในที่สุด เด็กกลุ่มที่มักพบปรากฏการณ์พูดช้า ได้แก่
1. เด็กผู้ชาย
เด็กผู้ชายมีแนวโน้มพูดช้ามากกว่าเด็กผู้หญิงถึง 3 เท่า อาจเป็นเพราะโดยธรรมชาติเด็กผู้ชายถนัดเรียนรู้ทีละทักษะ
2. เด็กคลอดก่อนกำหนด
กลุ่มนี้อาจต้องการเวลาพัฒนาทักษะการพูดมากกว่าคนอื่นๆ
3. ฝาแฝด
ผู้เชี่ยวชาญบางท่านอธิบายว่า เป็นไปได้ที่ฝาแฝดสื่อสารกันได้อย่างดีเยี่ยมโดยไม่ต้องใช้คำพูด พวกเขาจึงไม่รีบร้อนที่จะพัฒนาทักษะด้านการพูด
4. วัยเตาะแตะที่มีพี่น้องช่างจ้อ
เด็กอาจรู้สึกว่าคนอื่นพูดเยอะแล้ว เขาไม่ต้องพูดอีกก็ได้
เพื่อช่วยพัฒนาการพูดของลูก ให้พยายามสื่อสารด้วยการพูดคุยกับเขาเจาะจงแบบตัวต่อตัว แต่อย่าออกคำสั่งหรือใช้วิธีกดดัน เพราะการพูดคุยกับลูกคือวิธีกระตุ้นการเรียนรู้ทักษะการพูดที่ดีที่สุด แม้มีข้อสันนิษฐานข้างต้น ก็ไม่ง่ายนักที่จะรู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุแท้จริงที่ทำให้ลูกพูดช้า อาจเป็นเพราะปัญหาในการได้ยินก็ได้ หากเกิดสัญญาณผิดปกติเหล่านี้ร่วมด้วย ลองให้คุณหมอตรวจเช็คดูจะดีกว่า
- ครอบครัวมีประวัติความผิดปกติด้านการพูด
- ลูกดูไม่แสดงอาการสนใจหรือรับรู้ว่าคุณพูดอยู่กับเขา
- หนึ่งขวบครึ่งแล้วก็ยังไม่พูดสักคำเดียว
- เขาดูไม่เข้าใจคำสั่งหรือสิ่งที่คุณพูด
- ลูกไม่เริ่มพึมพำเหมือนกับเด็กวัยเตาะแตะคนอื่นๆ หรือหากพูดบ้างก็ไม่สามารถออกเสียงพยัญชนะได้เลย
- ลูกมีปัญหาหูอักเสบเรื้อรัง
หากสังเกตอาการต่างๆ ของลูกแล้วเกิดคำถามหรืออยากให้ลูกได้รับการทดสอบโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ขอแนะนำให้ปรึกษากุมารแพทย์ประจำของคุณเป็นคนแรกค่ะ
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง