ลูกพูดช้า ไม่ยอมพูด พ่อแม่จะทำอย่างไรดี - amarinbabyandkids

ลูกพูดช้า ทำอย่างไรดี

event

ลูกพูดช้า

สัญญาณผิดปกติเมื่อ ลูกพูดช้า

  • ครอบครัวมีประวัติความผิดปกติด้านการพูด
  • ลูกดูไม่แสดงอาการสนใจหรือรับรู้ว่าคุณพูดอยู่กับเขา
  • หนึ่งขวบครึ่งแล้วก็ยังไม่พูดสักคำเดียว
  • เขาดูไม่เข้าใจคำสั่งหรือสิ่งที่คุณพูด
  • ลูกไม่เริ่มพึมพำเหมือนกับเด็กวัยเตาะแตะคนอื่นๆ หรือหากพูดบ้างก็ไม่สามารถออกเสียงพยัญชนะได้เลย
  • ลูกมีปัญหาหูอักเสบเรื้อรัง

หากสังเกตอาการต่างๆ ของลูกแล้วเกิดคำถามหรืออยากให้ลูกได้รับการทดสอบโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ขอแนะนำให้ปรึกษากุมารแพทย์ประจำของคุณเป็นคนแรกค่ะ

ลูกพูดช้า ทำอย่างไรดี?

คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลช่วยเหลือหากลูกมีพัฒนาการภาษาล่าช้าหรือพูดช้า ได้โดย

1. ให้การเลี้ยงดูที่เอื้อต่อพัฒนาการทุกด้านของเด็ก เช่น การเล่น การเล่านิทาน การพูดคุยกับเด็ก ไม่ให้ดูโทรทัศน์มากเกินไป และควรสังเกตพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลูกอย่างใกล้ชิด

2. ตรวจประเมินเพื่อหาสาเหตุของภาวะพูดช้า และให้การรักษาที่ตรงกับสาเหตุ รวมถึงใช้อุปกรณ์ช่วยฟังถ้ามีความบกพร่องทางการได้ยิน

3. ส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาและด้านอื่นๆที่บกพร่องอย่างสม่ำเสมอ ดูแลเด็กให้มีโอกาสได้รับการส่งเสริมพัฒนาการในชีวิตประจำวัน และครอบครัวควรต้องมีส่วนร่วมในการส่งเสริมพัฒนาการ

4. การใช้ยา การใช้ยาอาจจำเป็นเพื่อบรรเทาปัญหาพฤติกรรมบางอย่างเช่น ซน ไม่อยู่นิ่ง ต่อต้าน อาละวาด ก้าวร้าว แต่ไม่มียาหรือวิตามินหรืออาหารเสริมชนิดใดที่ทำให้พัฒนาการดีขึ้น

5. ตรวจหาและรักษาความผิดปกติที่พบร่วม เช่น ปัญหาซน สมาธิสั้น การใช้กล้ามเนื้อมือและสายตา ทักษะทางสังคม และปัญหาการเรียนรู้

6. การช่วยเหลือด้านการศึกษา ถ้าเด็กได้รับการประเมินจากแพทย์และโรงเรียนร่วมกันว่ามีความพร้อมเพียงพอ เด็กสามารถเข้าเรียนได้ตามวัยและควรเรียนในโรงเรียนทั่วไปร่วมกับเด็กปกติ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะทางสังคม การสื่อสาร และทักษะอื่นๆในการดำรงชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เพื่อเน้นเนื้อหาสาระในการเรียน ควรมีการจัดแผนการสอนเฉพาะตัวสำหรับเด็กโดยความร่วมมือของครูแพทย์และพ่อแม่ให้สอดคล้องกับปัญหาและระดับพัฒนาการของเด็กเช่น ใช้สื่อการสอนที่ช่วยพัฒนาทักษะทางภาษาเช่น สื่อรูปภาพ เป็นต้น

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

ลูกพูดช้า

เทคนิคเพื่อกระตุ้นการพูดของลูก

การดูแลรักษาเด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับการพูดและใช้ภาษาจำเป็นต้องได้รับการดูแล เพราะหากละเลยไม่กระตุ้นลูก นอกจากจะเป็นปัญหาด้านพัฒนาร่างกายแล้ว ยังส่งผลให้เด็กมีปัญหาทางด้านอารมณ์และจิตใจตามมานะคะ ถึงเวลาที่คุณแม่ต้องช่วยคุณลูกแล้วนะคะ

  • หมั่นพูดกับลูก : คุณแม่ควรให้ความเอาใจใส่ พูดคุยกับลูกบ่อย ๆ ตั้งแต่ยังเล็กให้เหมาะสมกับระดับพัฒนาการ
  • เลียนเสียงโต้ตอบ : เมื่อลูกเริ่มเปล่งเสียง เล่นเสียง ให้คุณแม่เลียนเสียงโต้ตอบกับลูก พยายามกระตุ้นและจูงใจให้ลูกพูดด้วย
  • สถานการณ์ผ่อนคลาย : ในกรณีที่ลูกยังไม่พูด คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรคาดคั้นหรือลงโทษลูก เพราะจะยิ่งทำให้ลูกเครียด และไม่ยอมพูดมากขึ้น
  • ให้กำลังใจ : ช่วงที่ลูกพยายามพูด แม้ในระยะแรกจะพูดไม่ชัด ไม่ควรตำหนิเด็ก แต่ควรพูดคำที่ถูกต้องให้เด็กฟัง อาจเลือกคำสั้น ๆ ง่าย ๆ ก่อน
  • กระตุ้น : คุณแม่สามารถกระตุ้นการพูดของลูกได้โดย เริ่มจากสิ่งที่เด็กกำลังสนใจอยู่ เช่น อ่านนิทานที่ลูกชอบให้ฟัง ชี้ชวนให้ดูภาพและพูดภาพนั้นออกมาให้ลูกได้ยิน
  • อย่าละเลย : ควรหมั่นกระตุ้นส่งเสริมและเช็กอาการผิดปกติ ด้านการพูดของลูกน้อย ไม่ควรชะล่าใจ เพื่อจะได้รับมือกับอาการที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูกน้อยค่ะ

จากสภาพการณ์ในปัจจุบัน ท่ามกลางความเร่งรีบ และสังคมตัวใครตัวมัน ทำให้เด็กยุคสมัยนี้มักจะพูดช้าเพราะไม่ค่อยมีใครคุยด้วย หรือไม่ก็ถูกปล่อยให้อยู่กับทีวี หรือพี่เลี้ยง ยิ่งถ้าพี่เลี้ยงใช้ภาษาอื่นด้วยแล้ว ยิ่งจะเป็นปัญหาสำหรับเด็กเพิ่มขึ้นไปอีก  โดยเฉพาะพ่อแม่ในสังคมชนบทมักจะปล่อยเรื่องการพูดของลูกให้เป็นเรื่องตามธรรมชาติ หากลูกพูดช้าหรือพูดไม่ชัดก็มักจะจบลงที่ว่าเมื่อถึงเวลาก็พูดได้ หรือก็พูดชัดได้เอง   ในขณะที่พ่อแม่คนเมืองกลับมีปัญหาอีกแบบ ก็คือ พ่อแม่ไม่มีเวลาอยู่กับลูก ไม่มีเวลาได้ฝึกพูดกับลูก หรือไม่ลูกก็ถูกปล่อยให้อยู่กับผู้อื่น หรืออยู่กับเทคโนโลยีมากกว่า

ฉะนั้น เมื่อพบว่า ลูกพูดช้า คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรพาเด็กไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุของการพูดช้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ในการวางแผนช่วยเหลือให้เหมาะสมกับเด็กได้อย่างทันท่วงที และสุดท้าย…ไม่ว่าเด็กจะพูดช้า หรือพูดไม่ชัด ก็เป็นหน้าที่ของคนเป็นพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูเด็กนั่นแหละค่ะที่ต้องตามแก้ปัญหาและช่วยเหลือลูก อย่าลืมว่า ปัญหาเรื่องลูกพูดช้า หรือพูดไม่ชัด ก็ยังดีกว่าลูกพูดไม่รู้เรื่องนะคะ

อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!

12 วิธี สำหรับพ่อแม่สอนลูก“ฝึกพูด”
พูดกันดีๆ สร้างลูก EQ ดี เพื่อชีวิตเป็นสุขและพบความสำเร็จในแบบตัวเอง
12 ประโยคที่พ่อแม่ควรพูดกับลูกทุกวัน

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids

บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

ข้อมูลอ้างอิงจาก : www.manager.co.th , haamor.com

Save

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up