บ้านไหนมีลูกสองคนขึ้นไป…หากอยากทำให้ พี่น้องรักกัน แท้จริงแล้วต้องเริ่มจากการการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งจะมี วิธีทำให้พี่น้องรักกัน ได้อย่างไร ทีมแม่ ABK มีคำแนะนำจาก ผศ.ดร. ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์สาขาพัฒนาการมนุษย์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล มาฝากค่ะ
วิธีเลี้ยงลูกให้ พี่น้องรักกัน
เพราะลูกวัยเตาะแตะจะมีพัฒนาการสำคัญ คือ “การหวงพ่อแม่” ทำให้เมื่อมีลูกคนเล็ก คนพี่จึงแสดงอาการไม่รักน้อง แต่ปัญหานี้แก้ได้ ด้วยการส่งเสริมวินัยเชิงบวกให้ลูก ดังนั้นการทำให้ พี่น้องรักกัน นั้นไม่ยากเกินเอื้อม เพียงรู้หลักการและใส่ใจทำอย่างสม่ำเสมอ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถใช้เทคนิคเหล่านี้ไปสอนลูกน้อยได้ คือ
เทคนิคที่ 1 เสนอทางเลือก
อยากให้ พี่น้องรักกัน พ่อแม่ควรเสนอทางเลือกให้พี่มีส่วนร่วมเลี้ยงน้อง ซึ่ง มี 3 ขั้นตอนที่สำคัญ ได้แก่
- ทำลิสต์งานง่ายๆ เป็นงานที่ลูกเล็กสามารถทำให้น้องได้ เช่น การจัดเก็บผ้าอ้อมสะอาดเข้าตู้ การเตรียมผ้าอ้อมผืนใหม่หลังอาบน้ำ การเก็บผ้าอ้อมของน้องที่ใช้แล้วลงตะกร้า เป็นต้น
- แบ่งหน้าที่ร่วมกัน โดยการอ่านลิสต์งานให้ลูกฟัง แล้วให้เขาตัดสินใจเลือก ว่าเขาอยากจะทำงานอะไรและลิสต์งานที่ลูกไม่ได้เลือกจะแบ่งให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อและคุณแม่ด้วยเช่นกัน
- ขอบคุณลูกทุกครั้ง หลังจากที่ลูกช่วยทำงานที่ได้รับมอบหมายจนเสร็จแล้ว
สำหรับเด็กเล็กวัยเตาะแตะแล้ว การมีโอกาสได้เลือก และมีส่วนร่วมทำกิจกรรมกับคุณพ่อ คุณแม่ ถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่ทำให้เขารู้สึกมีตัวตน ได้รับการยอมรับ ให้ความสำคัญกับความต้องการ และเคารพการตัดสินใจ ซึ่งเทคนิคนี้นอกจากจะช่วยตอบสนองความต้องการพื้นฐานทางจิตใจอย่างเต็มที่แล้ว ยังช่วยปลูกฝังทักษะงาน และความรับผิดชอบให้ลูกอีกด้วย ส่งผลให้ลูกเปิดใจรับน้องแบ่งปันความรักและความอบอุ่นนี้ให้น้องได้ง่ายขึ้น
DON’Ts คำพูดต้องห้าม ทำลูกคิดติดลบ
- อย่าจับน้องแรงนะ!
- ไปเล่นห่างๆ น้องเลย!
- เป็นพี่ต้องดูแลน้องสิ!
- ทำไม พี่น้องนิสัยต่างกัน ทั้งที่เลี้ยงเหมือนกัน? โดย พ่อเอก
- เทคนิคการเลี้ยงลูก 2 คน พี่น้องรักกัน ไม่อิจฉากัน
เทคนิคที่ 2 ใช้เวลาคุณภาพ
หากอยากให้ พี่น้องรักกัน การจัดสรรเวลาคุณภาพที่ดีก็มีส่วนสำคัญ โดยให้แบ่งเป็น 20/7 คือ การใช้เวลาคุณภาพอยู่ตามลำพังกับลูก 20 นาทีทุกวัน โดยที่ไม่มีน้องเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม มีขั้นตอนสำคัญ ดังนี้
- จัดตารางกิจวัตรประจำวันสำหรับเวลาแห่งคุณภาพ 20 นาที ไม่จำเป็นต้องกำหนดเป็นเวลาแน่นอน แต่กำหนดเป็นช่วงเวลาที่สามารถคาดการณ์ได้ เช่น หลังลูกตื่นนอนตอนเช้า ขณะที่น้องของลูกนอนกลางวัน หรือก่อนลูกเข้านอน เป็นต้น
- ให้ลูกคิดกิจกรรม โดยเริ่มจากการอธิบายว่าลูกและเราจะมีเวลาคุณภาพ 20 นาทีทุกวันในช่วงเวลาตามที่กำหนดไว้ และช่วงเวลานี้จะมีแค่เราสองคน (คุณพ่อหรือคุณแม่และลูก) หรือ สามคน (คุณพ่อคุณแม่และลูก) เราจะทำอะไรด้วยกันก็ได้ตามที่ลูกต้องการ ขอให้ลูกคิดไว้เลยว่า เมื่อถึงเวลาคุณภาพแล้ว เราจะทำอะไรด้วยกันดี
- ใช้เวลาคุณภาพกับลูก เป็นเวลา 20 นาที โดยทุ่มความสนใจทั้งหมดไปที่ลูกคนพี่เท่านั้น งดอุปกรณ์ติดต่อสื่อสาร และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เน้นการพูดคุย การเล่น และการมีปฏิสัมพันธ์กับลูก
เด็กเล็กวัยเตาะแตะจะต้องการความรัก ความสนใจมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงวัยแห่งการสำรวจ เรียนรู้ และทำความเข้าใจโลกใบนี้ แต่ด้วยพัฒนาการและประสบการณ์ที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงทำให้เด็กเล็กยังจำเป็นต้องพึ่งพาคุณพ่อคุณแม่ให้ช่วยดูแล ตอบสนองความอยากรู้อยากเห็น และความต้องการพื้นฐานทางร่างกาย และจิตใจ เพื่อให้แน่ใจว่าโลกใบนี้มีความมั่นคงปลอดภัยต่อชีวิตของเขา เมื่อวันหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลง ด้วยการมีน้องเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ก็ยิ่งจำเป็นจะต้องทำให้ลูกมั่นใจว่าความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตของเขาจะยังคงเดิม เทคนิคนี้จึงเป็นเครื่องรับประกันว่า เขาจะยังคงได้รับความรัก ความสนใจจากพ่อแม่อยู่ และยังเป็นเครื่องมือให้ลูกใช้ยึดเหนี่ยวจิตใจในเวลาที่ต้องรอคุณพ่อคุณแม่ให้เสร็จภารกิจจากการดูแลน้องอีกด้วย
DON’Ts คำพูดต้องห้าม ทำลูกคิดติดลบ
- ไปเล่นที่อื่นก่อน!
- แม่ดูแลน้องอยู่ ทำให้ไม่ได้!
- น้องยังเด็ก หนูโตแล้วต้องหัดทำเอง!
สุดท้ายนี้คำว่า “พี่น้อง” เป็นความสัมพันธ์ที่สวยงามที่สุดเท่าที่จะเกิดขึ้นได้ในชีวิตของคนๆ หนึ่ง เราต่างรู้กันดีว่าการเลี้ยงพี่น้องมีความละเอียดอ่อนมาก วิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการส่งเสริมหรือยับยั้งความสัมพันธ์ที่ดีของพี่น้อง เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวก 2 เทคนิคนี้ได้นำเสนอแนวทางการเลี้ยงดูสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่จะช่วยสร้างประสบการณ์และความทรงจำดีๆ ให้พี่น้องร่วมกันในวัยเยาว์ และเป็นการลงทุนระยะยาวที่คุ้มค่า เปรียบเหมือนของขวัญล้ำค่าจากพ่อแม่ที่มอบให้ลูกๆ ทุกคน
ขอบคุณบทความจาก ผศ.ดร. ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์สาขาพัฒนาการมนุษย์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก :
- 5 ข้อดีและข้อเสียของการมีลูกคนเดียว
- เทียบชัดๆ มีลูกคนเดียว กับ มีลูกสองคน ต่างกันแค่ไหน?
- ตั้งชื่อลูกแฝด ไอเดีย ตั้งชื่อลูกแฝดชายหญิง คล้องจองทั้งพี่น้อง
- เผย! ลูกคนกลางมีแนวโน้มสร้างปัญหามากกว่าพี่น้องคนอื่น
- สอนให้พี่น้องรักกัน ด้วย 7 วิธีง่ายๆ ในการปลูกฝังที่พี่คนโต
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่