โดยนายแพทย์สรศักดิ์ โล่ห์จินดารัตน์ รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจวิชาการของสถาบันฯ ผู้นำทีมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในครั้งนี้ กล่าวว่า “การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้ดำเนินการตรวจ วินิจฉัย และรักษาโรคเบื้องต้นให้แก่เยาวชนประมาณ 400 คน โดยแบ่งตามอายุออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ เด็กก่อนวัยเรียน ช่วงอายุ 1 – 6 ปี จำนวน 188 คน ซึ่งเป็นการตรวจรักษาด้านพัฒนาการ เช่น การมองเห็น การได้ยิน การพูด การเดิน การตรวจภาวะซีด เป็นต้น และเด็กวัยเรียน ช่วงอายุ 7 – 12 ปี จำนวน 222 คน ซึ่งเป็นการตรวจรักษาโรคทั่วไป การกำจัดเหา และตรวจด้านทันตกรรม โดยพบว่าเยาวชนไทยในถิ่นทุรกันดารมักพบโรคพื้นฐานด้วยกัน 4 โรค ได้แก่
- โรคหวัด โดยส่วนใหญ่มีอาการน้ำมูกไหล คัดจมูก เจ็บคอ ไอ จามเป็นชุด และ มีไข้ต่ำๆ อาจลุกลามเป็นปอดอักเสบได้
- โรคเหา ที่ศีรษะโดยเฉพาะเด็กผู้หญิง ซึ่งมีอาการคันศีรษะ ทำให้นอนหลับไม่สนิท และส่งผลต่อการเจริญเติบโตรวมถึงพัฒนาการของเด็ก เพราะต้องหยุดเรียนเพื่อลดการติดต่อสู่ผู้อื่น
- ฟันผุ ที่ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในเด็กเนื่องจากชอบกินของหวานหรือน้ำตาล ไม่เลิกขวดนม และแปรงฟันไม่สะอาด ทำให้เศษอาหารไปติดตามซอกฟันทำให้แบคทีเรียในช่องปากมาย่อยสลายเศษอาหารจนเกิดการผุกร่อน ซึ่งควรพบทันตแพทย์ เพื่อทำการตรวจฟัน อุดฟัน หรือรักษาตามแต่กรณี
- พัฒนาการช้า ซึ่งเกิดได้หลายสาเหตุ อาทิ ความผิดปกติที่เกิดจากตัวเด็กเอง เช่น โครโมโซมผิดปกติ ภาวะคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อย สมองผิดปกติ การได้ยินหรือการมองเห็นผิดปกติ หรือภาวะแวดล้อมและการเลี้ยงดูที่ไม่เอื้อต่อพัฒนาการที่ดีของเด็ก เช่น การให้เด็กอยู่กับโทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต มากจนเกินไป โดยสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้จากการดูว่าลูกน้อยตอบสนองต่อเสียงเรียก พูดหรือออกเสียงได้ไหม มีการมองตามคุณพ่อคุณแม่หรือไม่
“แม้ว่าโรคเหล่านี้จะไม่มีอันตรายแก่ชีวิตแบบเฉียบพลัน แต่ผู้ปกครองก็ไม่ควรละเลย เพราะโรคเหล่านี้ไม่เพียงสร้างความรำคาญ แต่ยังส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ร่วมพัฒนาประเทศไทยในอนาคต” นายแพทย์สรศักดิ์ กล่าวสรุป
ภาพ: สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก)