Q วันนั้นทะเลาะกับสามี มีการเถียงกันค่อนข้างรุนแรง และขว้างปาของใส่กัน แต่ไม่รุนแรงถึงขั้นเลือดตกยางออก แล้วลูกมาเห็นพอดี ลูกดูตกใจมาก ตั้งแต่วันนั้นเราทั้งคู่รู้สึกผิดมาก ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไรดีค่ะ เขาจะฝังใจจนมีปัญหาอะไรไหม
มีแน่นอน ไม่มากก็น้อย ต่อไปก็ไม่ทำอีก
ขึ้นกับว่าลูกอายุเท่าไร หากเป็นลูกเล็กก่อน 3 ขวบ จะกระทบความสามารถในการไว้วางใจโลกและผู้คน (trust) พัฒนาการอาจจะช้าลงชั่วคราว หรือถดถอยกลับไปบ้าง เช่น เคยไม่ฉี่รดที่นอนก็ฉี่รดที่นอน เคยไม่พูดโกหกก็เริ่มพูดโกหก
หากอายุ 4-5 ขวบ จะกระทบพัฒนาการทางเพศ (psychosexual development)
เขาไม่มั่นใจว่าอยากเป็นเพศอะไรดี ดุร้ายกันจัง
หากอายุ 6-10ขวบ เขาจะโทษตนเอง จับเรื่องหนึ่งผูกเข้ากับเรื่องพ่อแม่ทะเลาะกัน
แล้วสรุปว่าเขาเป็นต้นเหตุ จะรู้สึกผิด (guilty feeling) เริ่มมีพฤติกรรมระงับความรู้สึกผิดที่ก่อตัว เช่น ขโมยของ หนีโรงเรียน ลองเสพยา เมื่อพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้ผล ขโมยของตามห้างก็แล้ว ปีนรั้วโรงเรียนก็แล้ว สูบบุหรี่ก็แล้ว ยังไม่หายรู้สึกผิด ก็จะเข้าสู่อารมณ์เศร้าเต็มรูปแบบ อาจจะแสดงออกว่าเศร้าหรือปรารถนาที่จะตาย หรือแสดงออกด้วยพฤติกรรมเกเรมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
หากคุณพ่อคุณแม่เผลอไปครั้งเดียวไม่ได้เกิดเรื่องทั้งหมดนี้หรอกครับ ไม่ต้องห่วง แต่จะให้ผมพูดว่าไม่เป็นไรพวกเราก็ทำซ้ำอีก ครั้นเขียนออกไปให้หมดความก็จะหวั่นวิตกว่าแย่แล้ว อันที่จริงหวั่นวิตกก็ดีจะได้ไม่ทำอีก
สามีภรรยาไม่มีปากเสียงกันบ้างเป็นเรื่องแปลก แต่จะเห็นว่าการมีปากเสียงเป็นเรื่องธรรมดาและเด็กๆ ควรยอมรับได้นั้น วิธีคิดแบบนี้ผิด พ่อแม่ทะเลาะกันอย่างไรในที่สุดเด็กทุกคนในโลกก็จะยอมรับได้จริงๆ แต่เขาต้องจ่ายอะไรบางอย่างออกไปด้วย การทะเลาะกันของพ่อแม่ ขว้างปาข้าวของ ตบตีลงไม้ลงมือ ทำร้ายร่างกายสาหัส เหล่านี้มีต้นทุนมากน้อยต่างๆ กัน แต่มีต้นทุน และคนจ่ายคือลูกของพวกคุณ
คำว่ายอมรับ ภาษาอังกฤษว่า accept คำนี้มีต้นทุน ไม่ฟรี
บอกลูกสั้นๆ ได้ว่าพ่อแม่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน จึงโกรธ จึงเผลอทะเลาะกัน และจึงเผลอขว้างปาข้าวของใส่กัน บอกเขาว่าคนเราคิดเห็นไม่ตรงกันเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ผิดอะไร คนเราโกรธได้ไม่ผิดอะไร แต่คนเราเวลาโกรธแล้วจะทะเลาะกันหรือเปล่าควรคิดให้ดีๆ ว่าควรทำหรือเปล่า เรื่องขว้างปาข้าวของใส่กันผิดแน่ๆ ไม่มีใครควรทำทั้งนั้น ครั้งนี้พ่อแม่ทำผิด ลูกอย่าทำตาม พูดประมาณเท่านี้ได้
อย่าสัญญาว่าจะไม่ทำอีก เพราะคุณจะทำไม่ได้ ยุ่งมากยิ่งขึ้นเปล่าๆ
อย่าสั่งสอนซ้ำไปซ้ำมา เพราะคุณเสียสิทธิสั่งสอนไปแล้ว ทำให้เขาดูและให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์
เวลาสามีภรรยามีปากเสียงกัน อย่าใช้เหตุผล ใช้อารมณ์ล้วนๆ คือรัก และให้อภัย ให้ดอกกุหลาบสักช่อหนึ่ง
นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์