“การทำงานร่วมกับผู้อื่นนั้น ที่จะให้เป็นไปโดยราบรื่น ปราศจากปัญหาข้อขัดแย้ง ย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะคนจำนวนมากย่อมมีความคิดความต้องการที่แตกต่างกันไป มากบ้างน้อยบ้าง ท่านจะต้องรู้จักอดทนและอดกลั้น ใช้ปัญญาไม่ใช้อารมณ์ ปรึกษากันและโอนอ่อนผ่อนตามกันด้วยเหตุผล โดยถือว่าความคิดที่แตกต่างกันนั้น มิใช่เหตุที่จะทำให้เป็นข้อขัดแย้ง โต้เถียง เพื่อเอาแพ้เอาชนะกัน แต่เป็นเหตุสำคัญที่จะช่วยให้เกิดความกระจ่างแจ้ง ทั้งในวิถีทางและวิธีการปฏิบัติงาน”
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๑
4. สอนลูกยอมรับความแตกต่าง อยู่อย่างเข้าใจ
ในสังคมเรานั้นมีความแตกต่างหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมยุคใหม่ ที่ทุกส่วนในโลกเชื่อมโยงถึงกันได้อย่างง่ายดาย ความหลากหลายทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อ และทัศนคติต่างๆ แม้จะเป็นสิ่งธรรมดาที่มีอยู่ในสังคมมาช้านาน แต่เมื่อโลกที่เชื่อมโยงเข้าด้วยกันความแตกต่างเหล่านี้ก็ยิ่งเด่นชัดขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราต้องเผชิญกับความแตกต่างหลากหลายในด้านต่างๆ ในสังคมทุกๆ วัน ดังนั้นการเรียนรู้ที่จะยอมรับและเข้าใจความแตกต่างเหล่านั้นคือหัวใจสำคัญที่จะทำให้เรามีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
หน้าที่ของพ่อแม่คือการเตรียมลูกให้พร้อมที่จะอยู่ในสังคมที่หลากหลายนี้ด้วยความเข้าใจ เพื่อที่ลูกน้อยจะสามารถทำงานและใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่นและช่วยให้ลูกประสบความสำเร็จในชีวิตได้ในที่สุด ในภาษาอังกฤษมีคำว่า Tolerance ซึ่งหมายถึงทัศนคติที่เปิดกว้างและมีความอดทนอดกลั้น ยอมรับความแตกต่างของปัจเจกบุคคล นอกจากนี้ยังหมายถึงการเรียนรู้จากผู้ที่แตกต่างจากเรา ให้เกียรติและให้คุณค่ากับความคิดความเชื่อประเพณี วัฒนธรรมที่แตกต่าง และการหาจุดกึ่งกลางความสมดุลในการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
การสอนลูกให้เข้าใจและรับมือกับความแตกต่างนั้น หัวใจสำคัญต้องเริ่มจากคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องประพฤติตนเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกค่ะ เริ่มต้นง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การไม่วิพากษ์วิจารณ์ ล้อเลียน รูปลักษณ์ของคนอื่นที่ไม่เหมือนเรา ไม่ให้คุณค่ากับภาพลักษณ์ภายนอกมากกว่าความสำคัญของจิตใจ จริงๆ การสอนเจ้าตัวน้อยในเรื่องนี้ เป็นเหมือนการปลูกฝังทัศนคติที่ทำได้ตั้งแต่ลูกยังแบเบาะ เพราะในทุกๆ วันลูกเฝ้ามองดูคุณเป็นแบบอย่างอยู่เสมอ เด็กเรียนรู้จากการเลียนแบบ ดังนั้น หากคุณต้องการให้ลูกมีแนวคิดในการดำรงชีวิตอย่างไร พ่อแม่เริ่มได้จากการเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น
- สังเกตทัศนคติของตนเองอยู่เสมอพยายามอย่าใช้ทัศนคติแบบเหมารวม รวมทั้งเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็นในเรื่องการเคารพความแตกต่างหลากหลายในสังคม
- ระลึกอยู่เสมอว่าลูกคอยฟังสิ่งที่คุณพูดอยู่เสมอ แม้ว่าคุณไม่ได้พูดกับเขาก็ตาม ระวังถ้อยคำและน้ำเสียงที่คุณใช้พูดถึงคนที่แตกต่าง ไม่ควรล้อเลียนภาพลักษณ์ของคนอื่นเพียงเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องตลก
- เลือกหนังสือ เพลง หรือเรื่องราวตามสื่อต่างๆ อย่างระมัดระวัง อิทธิพลของสื่อต่อการหล่อหลอมทัศนคติของคนเรานั้นมีพลังมากกว่าที่เราคาดคิด
- หาโอกาสสอนและอธิบายให้ลูกฟังว่าการล้อเลียนคนอื่นที่ต่างจากเราเป็นการไม่ให้เกียรติและไม่สุภาพ อีกทั้งยังทำร้ายความรู้สึกของคนที่ถูกล้อเลียนอีกด้วย เช่น ในรายการทีวีที่ล้อเรื่องสีผิว หรือน้ำหนักของบุคคล เป็นต้น
- สร้างสังคมแห่งการให้เกียรติและยอมรับซึ่งกันและกันในครอบครัว ยอมรับความทักษะ ความชื่นชอบและสไตล์ที่ต่างกันของลูกแต่ละคน ให้คุณค่ากับความเป็นตัวของตัวเองของสมาชิกในครอบครัว
- เปิดโอกาสให้ลูกได้พบปะผู้คน สังคมที่หลากหลาย ด้วยการพาลูกทำกิจกรรมต่างๆ เข้าค่ายฤดูร้อน หรือเป็นอาสาสมัครกิจกรรมเพื่อสังคม เป็นต้น
- อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าการยอมรับความแตกต่างนั้น ไม่ได้หมายถึงการยอมรับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น คนที่รังแกคนอื่น แต่การยอมรับความต่าง คือการเข้าใจว่าคนทุกคนมีสิทธิได้รับการยอมรับ ปฏิบัติและให้เกียรติอย่างเท่าเทียมกัน
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ในความโศกเศร้า คุยกับลูกอย่างไร
การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด ครั้งหนึ่งของชาวไทย บรรยากาศแห่งความโศกเศร้าที่ปกคลุมไปทั่วทั้งแผ่นดิน ย่อมส่งผลต่อประชาชนตัวน้อยๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และคุณพ่อคุณแม่จำนวนไม่น้อย คงต้องคิดตอบคำถามลูกว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมแม่ถึงน้ำตาไหลทุกครั้งที่ดูข่าว ทำไม่คุณพ่อดูซึมๆ คุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายก็ไม่สดใสเหมือนเดิม
ผศ.พญ.ปราณี เมืองน้อย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ มีข้อแนะนำพ่อแม่ผู้ปกครองในการพูดคุยกับลูกในเรื่องนี้ว่า ควรบอกลูกอย่างตรงไปตรงมา โดยเลือกใช้คำที่เด็กเข้าใจได้ง่ายๆ เช่น “ในหลวงกลับไปอยู่บนสวรรค์แล้ว แม่เสียใจเพราะจะไม่มีโอกาสได้เห็นท่านอีก” โดยไม่ต้องอธิบายให้ซับซ้อน เพราะเด็กเล็กยังไม่เข้าใจเรื่องความตายมากนัก ในกรณีที่คุณแม่หรือสมาชิกในครอบครัวมีความโศกเศร้ามาก บรรยากาศในครอบครัวมีแต่ความหม่นหมอง เด็กๆ อาจรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย เพราะผู้ใหญ่มีท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไป คุณควรให้ความมั่นใจกับลูก รวมทั้งทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ กับลูกให้เป็นปกติมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
พ่อแม่อาจใช้โอกาสนี้อธิบายให้ลูกเข้าใจถึงอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นได้เป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อเศร้าโศกร้องไห้แล้วก็ต้อง จัดการกับอารมณ์ของตัวเองและดำเนินชีวิตต่อไป เล่าให้ลูกฟังถึงพระราชกรณียกิจของในหลวง ความดียิ่งใหญ่ที่ท่านทรงทำให้กับประชาชน ทำให้ท่านทรงเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย เมื่อท่านเสด็จสู่สวรรคาลัย ทุกคนจึงเสียใจมาก บอกลูกว่าการทำความดีนั้นเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และถึงแม้ว่าผู้ที่ทำดีนั้นจะจากไป แต่ความดียังคงอยู่ในคนรุ่นหลังได้ระลึกถึงเสมอ พญ.ปราณี กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ: เวิรฟ คุณประสิทธิ์ กฤษฎาอริยชน (บ๊อบ) โทร ๐๘๑ ๕๘๖ ๒๘๑๓
ศูนย์จัดหาทุนอาคารเฉลิมพระเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษามหาราชินี มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก คุณณัฎฐ์วนัน ฐานิสโร ๐๘๘ ๘๗๔ ๔๖๗๑