ประโยชน์ของ กล้วยน้ำว้า
การให้ลูก กินกล้วยน้ำว้า แม่ฮันน่าห์ปรึกษาคุณหมอแล้ว ลูกน้อยจะได้รับประโยชน์และคุณค่าสารอาหารจากกล้วยได้ดีที่สุด คือ ควรให้กินเมื่ออายุได้ 6 เดือนไปแล้ว เพราะระบบทางเดินอาหารของเด็กทารกก่อน 6 เดือน มีความสามารถในการย่อยแป้ง ไม่มากนัก และจะย่อยได้ดีขึ้นได้เรื่อยๆเมื่ออายุมากขึ้น ปัญหาก็คือเด็กทารกแต่ละคนไม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่อาจจะเริ่มย่อยได้ดีตั้งแต่อายุ 3 เดือน และกินกล้วยได้โดยไม่มีปัญหาอะไร แต่หากเด็กคนนั้นโชคไม่ดี ลำไส้ย่อยไม่ได้ ก็อาจจะเกิดการอุดตันได้แม้จะไปป้อนตอนอายุ 4 5 เดือนแล้วก็ตาม
และนี่ก็ยังไม่นับว่า สมัยก่อนเด็กทารกมีอัตราการตายที่สูงมาก จนเราก็ไม่มีทางรู้ได้ว่าจริงๆตายเพราะป้อนอาหารผิดหรือตายเพราะติดเชื้อ ดังนั้นในยุคสมัยที่ มีอินเตอร์เน็ตแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ควรเลือกหนทางที่ปลอดภัยที่สุด และอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ซึ่งการป้อนกล้วยให้ลูกในวัย 6 เดือนขึ้นไปจึงปลอดภัยกับลูกมากที่สุด
ที่สำคัญในบรรดากล้วยทั้งหมด กล้วยน้ำว้าให้แคลเซียมสูงที่สุดด้วย นอกจากนั้น ยังมีวิตามินบี 1 บี 2 ซี และไนอะซิน (บี 6) ที่ช่วยกระตุ้นระบบภูมิต้านทาน มีกากใยอาหารทำให้ขับถ่ายได้ง่าย การรับประทานกล้วยให้ดีที่สุดควรรับประทานในตอนเช้า จะช่วยให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ดี หากรับประทานกล้วยได้ทุกวัน วันละ 2 ผล ร่างกายจะแข็งแรงห่างไกลความเจ็บป่วย นอกจากนั้นยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุอย่างธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แมกนีเซียม คาร์โบไฮเดรต ที่ช่วยป้องกันโรคความดันได้อีกด้วย
การเลือกซื้อและกินกล้วยน้ำว้าให้ได้ประโยชน์สูงสุด
อย่างไรก็ดี เมื่อทราบถึงประโยชน์ของ กล้วยน้ำว้า 4 วัย การเลือกซื้อกล้วยน้ำว้า ที่ดีหวานอร่อย เต็มไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ เหมาะสำหรับนำมาให้ลูกน้อยกิน แม่ฮันน่าห์ขอแนะนำว่า อายุของกล้วยนั้นต้องให้อยู่บนเครือประมาณ 3-4 เดือน และควรเลือกผลกล้วยที่มีลักษณะกลมมน มีเหลี่ยมน้อย เพราะเหลี่ยมเยอะจะเป็นกล้วยอ่อน ตำแหน่งของหวีต้องอยู่กลางเครือ และต่อหวีนึงควรมีผลอยู่จำนวนประมาณ 14-16 ลูก ส่วนขนาดจะเล็กใหญ่ไม่สำคัญ ซึ่งหากจำนวนผลกล้วยต่อหวีน้อยกว่านี้ ก็คือกล้วยปลายเครือ ซึ่งมีวิตามินและแร่ธาตุต่ำ คุณค่าทางสารอาหารไม่ดีเท่าที่ควร
วิธีกินกล้วยน้ำว้า คือ ปอกจากบนลงล่าง หรือกินจากปลายจุกลงมานั่นเอง ซึ่งคำแรกก็จะฝาดหน่อยๆ แต่เมื่อกินถึงโคนก็จะหวาน เพราะว่าธาตุอาหารจะอยู่ที่โคนนั่นเอง แต่ถ้าให้ลูกน้อยได้กินจากตรงโคนก่อน คือได้ลิ้มรสชาติหวานก่อน ก็อาจจะทำให้กินต่อเนื่องแบบไม่อร่อย หรือกินไม่หมดลูกก็เป็นได้
ทั้งนี้ กล้วยน้ำว้า เป็นอาหารฤทธิ์เย็น เวลาไปผ่านความร้อนจะเป็นอาหารฤทธิ์อุ่นถึงร้อนขึ้นอยู่กับวิธีการทำ เช่น กล้วยปิ้งไฟอ่อน ปิ้งไม่นานมากก็จะได้ฤทธิ์อุ่น หรือ กล้วยทอด ก็จะมีฤทธิ์ร้อน เป็นต้น ซึ่งลักษณะของกล้วยน้ำว้าที่สุกจะมีแคมเซียมสูงและดูดซึมได้เร็วเมื่อนำไปผ่านความร้อน เช่น กล้วยปิ้ง กล้วยบวชชี กล้วยต้ม เป็นต้น เวลากินร่างกายจะดูดซึมแคลเซียมดีขึ้นหลายเท่า
วิธีเก็บกล้วยให้อยู่ได้นาน
ก่อนอื่นคุณแม่ต้องรู้ก่อนว่าระยะการสุกของกล้วยน้ำว้า เป็นอย่างไร
- ระยะแรก ผลแข็ง เป็นเหลี่ยมชัดเจน เปลือกสีเขียว ทิ้งไว้จะไม่สุก
- ระยะที่2 ผิวเปลือกเริ่มเปลี่ยนสีจากสีเขียวออกเหลืองเล็กน้อย
- ระยะที่3 ผิวเปลือกเปลี่ยนสีเป็นเหลืองมากขึ้น แต่ยังมีสีเขียวมากกว่า
- ระยะที่4 ผิวเปลือกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองมากขึ้น และมีสีเหลืองมากกว่าสีเขียว
- ระยะที่5 ผิวเปลือกบริเวณต้นผลเป็นสีเหลือง ส่วนปลายผลเป็นสีเขียว
- ระยะที่6 ผิวเปลือกทั่วผลจะมีสีเหลืองทั้งหมด เป็นระยะผลสุกพอดี แต่ยังไม่มีกลิ่น
- ระยะที่7 ผิวเปลือกมีสีเหลือง และเริ่มมีจุดสีดำหรือน้ำตาล เป็นระยะผลสุกเต็มที่ และเริ่มมีกลิ่นหอม
- ระยะที่8 ผิวเปลือกมีสีเหลือง และมีสีดำหรือน้ำตาลกระจายทั่วผล เป็นระยะที่ผลสุกมากเกินไป เนื้อกล้วยจะอ่อนนิ่ม มีกลิ่นแรง และจะเริ่มเน่าภายใน 2-3 วัน
วิธีเก็บรักษา
1. เอากล้วยที่ยังแข็ง เขียวอยู่มาเด็ดจากหวี ***โดยจับที่ก้านแล้วเด็ดออกจากหวี อย่าจับที่ตัวลูกและ อย่าใช้มีดตัดจากเครือ มันจะช้ำ
2. จากนั้นเอากล้วยมาพันด้วยแรปพลาสติก โดยพันที่บริเวณโคนหรือตรงก้านที่เด็ดออกมาจากหวี หรือใส่ถุงกระดาษ เป็นลูกๆ แล้วแช่เย็นไว้ จะทำให้เก็บไว้ได้นาน และไม่ช้ำ
3. พอจะทานก็เอาออกมาวางนอกตู้เย็นทิ้งไว้ซักคืนนึง 2 คืน ก็กินได้แล้ว แล้วแต่ความแก่ของกล้วย วิธีนี้จะทำให้กินอร่อยทุกลูก ได้จนหมดหวี ไม่ต้องโยนทิ้งเลย
นอกจากนี้เปลือกของ กล้วยน้ำว้า ยังสามารถช่วยบรรเทา อาการคัน อันเนื่องมาจากแมลงกัดต่อย และ ผื่นแดง จากอาการคันได้ เนื่องจากมีฤทธิ์ในการ ต้านเชื้อรา และ ต้านเชื้อแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดหนองได้อีกด้วย เป็นอย่างไรก็บ้างค่ะ กับวิธีการเลือกซื้อ การกิน การเก็บ และสรรพคุณต่างๆ ของ กล้วยน้ำว้า ที่แม่ฮันน่าห์ ได้แนะนะมาข้างต้นทั้งหมดนั้น เมื่อรู้ว่ากล้วยน้ำว้าดีขนาดนี้แล้ว คุณแม่ก็รีบไปซื้อติดบ้าน ไว้ให้ลูกน้อยกินกันได้เลยนะคะ
อ่านต่อบทความดีๆน่าสนใจ คลิก :
- ตำลึง ตัวผู้ ตัวเมีย ดูให้ดี!เลือกผิด? ลูกกินอาจท้องเสีย
- เผยวิธีเลือก อัลมอนด์ แบบไหน ลูกกินแล้วปลอดภัย?
- ไข่ไก่ กับ ไข่เป็ด อะไรดีกว่ากัน ลูกควรกินไข่ชนิดไหน?
- วิธีดูไข่เก่าไข่ใหม่ เลือกอย่างไรให้ได้ไข่สด!
- เผยวิธี ปอกแอปเปิ้ล อย่างไรไม่ให้ดำ! (มีผลการทดลอง)
- เผยเคล็ดลับ! วิธีเลือกส้มหวาน อร่อย ไม่เปรี้ยว ไม่ฟ่าม
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่