จิตแพทย์เด็กเผย! วิธีรับมือเมื่อ ลูกโดนเพื่อนแกล้ง (Bullying) - Amarin Baby & Kids

จิตแพทย์เด็กเผย! วิธีรับมือเมื่อ ลูกโดนเพื่อนแกล้ง (Bullying)

event

หากคุณพ่อคุณแม่บังเอิญรู้ว่า ลูกโดนเพื่อนแกล้ง ที่โรงเรียน แต่ไม่รู้จะแก้ไขยังไง ตามมาดูคำแนะนำดีๆ ถึงวิธีรับมือเมื่อ ลูกโดนเพื่อนแกล้ง จากคุณหมอมิน จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เจ้าของเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา กันค่ะ

จิตแพทย์เด็กเผย! วิธีรับมือเมื่อ ลูกโดนเพื่อนแกล้ง

สำหรับวิธีรับมือ เมื่อ วิธีรับมือเมื่อ ลูกโดนเพื่อนแกล้ง นี้ คงไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากรู้ เพราะแน่นอนว่าไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้กรณีนี้เกิดขึ้นกับลูกหลานของตัวเอง เช่นเดียวกับกระแสคลิปดังจากโลกออนไลน์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ หลังมีคนแชร์คลิปจากผู้ใช้เฟซบุ๊ก@เสกสรร มหายศ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่หลานสาว ถูกนักเรียนรุ่นพี่หญิงชายรุมทำผมเล่น

แต่กลับมีการดึงผมเด็กหญิงตัวน้อยอย่างรุนแรงไปมา จนหนูน้อยแทบจะทรงตัวไม่ได้ อีกทั้งยังมีการปิดห้องเรียนไม่ให้คนภายนอกเห็นการกระทำดังกล่าวอย่างสนุกสนาน ท่ามกลางใบหน้าที่เจ็บปวดของเด็กน้อยคนดังกล่าว และอีกหนึ่งคลิปเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่อง

และอีกหนึ่งคลิปที่ถูกโพสต์ลงมาต่อจากคลิปแรก เป็นเหตุการณ์ที่เด็กหญิงตัวน้อยถูกกระตุกจนล้มหงายหลัง และร้องไห้ออกมา ซึ่งก็มีรุ่นพี่เข้ามารุมข่มขู่อย่างสนุกสนานพร้อมปิดปากน้องเพื่อกั้นเสียงสะอื้น อีกทั้งน้องยังถูกรุ่นพี่ใช้เท้าถีบจนหงายหลังและรุ่นพี่ยังใช้เท้าลูบหน้าด้วยจนร่ำไห้ … ซึ่งก็ทำให้โลกออนไลน์ต่างแชร์และวิจารณ์การกระทำของกลุ่มเด็กนักเรียนในคลิปอย่างล้นหลาม

โดยล่าสุดเหตุการณ์นี้ นายนันทพล ฟูสีกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดง จ.พะเยา ได้สั่งทำทัณฑ์บนรุ่นพี่กลุ่มดังกล่าวแล้วพร้อมสั่งการให้ นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ตรวจสอบและหาคำตอบมาให้ได้ ล่าสุดได้รับรายงานว่ากำลังอยู่ระหว่างประชุมร่วมกับผู้ปกครองนักเรียน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

ซึ่งจากเหตุการณ์ข้างต้นนั้นหากเกิดขึ้นกับลูกน้อยของเรา คงทำให้คุณพ่อคุณแม่ เจ็บแทน และเครียดจนทำอะไรไม่ถูก ซึ่งเมื่อรู้ว่า ลูกโดนเพื่อนแกล้ง แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ตามมาอ่านวิธีรับมือเมื่อ ลูกถูก Bullying กับ Expert Account Pantip โดยคุณหมอมิน เจ้าของเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา กันค่ะ


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : dailynews.co.th
และภาพจากเฟซบุ๊ก@เสกสรร มหายศ

 

สำหรับวิธีรับมือเมื่อ ลูกโดนเพื่อนแกล้ง หรือ ลูกถูก Bullying นี้ เป็นบทความที่ทางเว็บไซต์พันทิป ได้ไปสัมภาษณ์กับ พญ.เบญจพร ตันตสูติ (หมอมิน) จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เจ้าของเฟซบุ๊กเพจ เข็นเด็กขึ้นภูเขา ซึ่งเชื่อว่าหากคุรพ่อคุณแม่อ่านจนจบจะได้รู้ถึงคำตอบว่า ถ้าอยู่ดีๆ ลูกของเราก็กลายเป็นเหยื่อของ “การกลั่นแกล้ง” หรือสภาพแวดล้อมที่ไม่สดใสในโรงเรียน จะต้องรับมือ หรือแก้ปัญหาอย่าไรดี ตามมาอ่านกันค่ะ

ทำความรู้จักกับ Bully + Cyberbullying

อันดับแรกคุณพ่อคุณแม่ต้องรู้จักกับคำว่า Bullying กันก่อน ซึ่งคำอธิบายของปัญหานี้ อ้างอิงมาจากหนังสือ “ผลของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านจอต่อเด็กและวัยรุ่น” เขียนโดย รศ.นพ.วีระศักดิ์ ชลไชยะ ซึ่งคุณหมอมินได้ร่วมเขียนในบทที่ว่าด้วยเรื่อง Cyberbullying ด้วย พร้อมนำมาอธิบายเป็นข้อมูลให้เข้าใจกันว่า…

จากอดีตที่ผ่านมา เด็กและวัยรุ่นประสบกับปัญหาการถูกกลั่นแกล้งที่จำกัดเฉพาะในบางสถานที่ เช่น โรงเรียน ซึ่งการกลั่นแกล้งทั่วๆ ไป (Traditional bullying) นั้น มีลักษณะ 4 ประการ ได้แก่ มีความรุนแรงก้าวร้าว ,มีความตั้งใจ ,มีการกระทำซ้ำๆ ,และมีความไม่เท่าเทียมของพลังอำนาจ

การสื่อสารรูปแบบใหม่ที่มาพร้อมเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตทำให้เกิดรูปแบบการกลั่นแกล้งนอกเหนือจากการแกล้งทั่วๆ ไป เรียกว่า ‘Cyberbullying’ หรือ ‘การกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์’

ชนิดของการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์

  1. Harassment ผู้กระทำการกลั่นแกล้งส่งข้อความที่ข่มขู่คุกคาม หรือหยาบคาย ซึ่งอาจจะนำมาสู่การข่มขู่คุกคามทางร่างกายในชีวิตจริงก็ได้
  2. Flaming ผู้กระทำการกลั่นแกล้งจะใช้สื่ออินเทอร์เน็ตที่หลากหลาย เช่น สื่อสังคมออนไลน์ ชุมชนออนไลน์
  3. Exclusion เป็นการกลั่นแกล้งโดยการตั้งใจเพิกเฉยไม่สนใจกับเหยื่อ ทำให้เหยื่อรู้สึกว่าถูกตัดออกจากกลุ่ม เช่น การรวมตัวกันไม่คุยกับเหยื่อในไลน์กลุ่ม และอาจจะมีข้อความหรือรูปภาพที่ส่งกันในกลุ่มนั้นเพื่อข่มขู่คุกคาม ทำให้เหยื่อรู้สึกไม่ดี
  4. Outing เป็นการกลั่นแกล้งที่ผู้กระทำส่งต่อข้อมูลส่วนตัวที่เป็นข้อความลับของเหยื่อ เช่น ข้อความ รูปภาพ คลิปวิดีโอ ออกไปสู่สาธารณะและเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต
  5. Masquerading เป็นสถานการณ์ที่ผู้กระทำการกลั่นแกล้งปลอมแปลงตัวตนในการเป็นเหยื่อในโลกไซเบอร์ เช่น สร้างเฟซบุ๊กโดยใส่ชื่อและรูปภาพให้คนอื่นเข้าใจว่าเป็นเหยื่อ นอกจากนั้นอาจเป็นการปลอมแปลงตัวตนเป็นอีกบุคคลหนึ่งเพื่อการกลั่นแกล้งเหยื่อก็ได้

ระหว่าง Bullying กับ Cyberbullying ปัญหาไหนมีมากกว่ากัน

ซึ่งหมอมินก็ได้บอกว่า… มีคนเข้ามาปรึกษา Bullying เยอะกว่ามาก แต่ในขณะเดียวกัน Cyberbullying ก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในไทยมีงานวิจัยพบว่า… เด็กชั้น ม.ต้นที่บอกว่าตัวเองถูก Cyberbullying อย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง มีถึง 45% เพราะการกลั่นแกล้งในโลกไซเบอร์นั้น เป็นสิ่งที่ไม่จำกัดสถานที่ ไม่ต้องไปโรงเรียนแล้วจึงจะถูกแกล้ง บางทีอยู่ที่บ้านในห้องนอน เปิดมือถือมาก็เจอว่าถูกเพื่อนโพสต์ด่า เพราะอินเทอร์เน็ตมันใช้ง่าย เร็วด้วย เผยแพร่ไปได้ทุกที่ แค่อยากพิมพ์มันก็พิมพ์ได้เลย

ตามสถิติ Cyberbullying จะพบมากหน่อยก็ในเด็กมัธยมหรือช่วงวัยรุ่นส่วนใหญ่ ประมาณ ม.1-ม.4 เป็นวัยที่เด็กมีมือถือกันแล้ว และเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่าย และอายุที่พบก็น้อยลงเรื่อยๆ

วิธีสังเกต สัญญาณเตือนเมื่อ ลูกโดนเพื่อนแกล้ง

สำหรับ สัญญาณเตือนเมื่อ ลูกโดนเพื่อนแกล้ง คุณหมอมินอธิบายว่า… เรื่องภายในจิตใจ บางทีจะไม่แสดงออกมาชัดเจน และไม่ได้แสดงออกทันที แต่มันจะเป็นปัญหาที่เก็บเอาไว้นานพอสมควรถึงจะแสดงออกมา ในช่วงแรกเด็กก็จะทนๆ ไปก่อน เพราะบางทีก็กลัวว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ บางคนกลัวว่าพ่อแม่จะริบมือถือ ก็อยากให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตพฤติกรรม ในเรื่องของอารมณ์ เรื่องของการเรียน คือเด็กอาจจะเริ่มด้วยปัญหาไม่ชอบโรงเรียน ไม่อยากไปเรียน

มีอาการทางกายบางอย่างแสดงออกมา เช่น ปวดหัว ปวดท้อง บางทีก็เกิดจากจิตใต้สำนึกที่เด็กไม่อยากไปโรงเรียนนั่นแหละ ในเรื่องของอารมณ์ก็จะซึมเศร้า วิตกกังวล แยกตัว ซึมหรือเงียบไป ไม่เหมือนเดิม หรือเวลาเล่นโทรศัพท์แล้ว ลูกสีหน้าเปลี่ยนไป เพราะอาจเจอ Cyberbullying เข้า บางทีรุนแรงถึงขั้นทำร้ายตัวเองได้

Must read : 5 สัญญาณเตือน “ลูกอาจมีปัญหาที่โรงเรียน”

พ่อแม่ต้องทำอย่างไรให้ลูกเปิดใจพูดปัญหาว่า “ถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง”

ถ้าพ่อแม่อยากจะเป็นที่ปรึกษาให้ลูก อยากให้ลูกพูดเปิดใจ พ่อแม่จะต้องสร้างความใกล้ชิด คอยรับฟังเด็กตั้งแต่ตอนเล็กๆ เพราะพอโตขึ้นตามธรรมชาติของเด็กวัยรุ่นมักจะห่างพ่อแม่ติดเพื่อนและเชื่อเพื่อนมากกว่าแล้ว

ดังนั้นเราจะต้องเริ่มตั้งแต่เด็กยังเล็กๆ ยกตัวอย่างวิธีง่ายๆ ตั้งแต่เล็กพ่อแม่ควรมีเวลาพูดคุยเรื่องที่โรงเรียน ถามเด็กว่าตอนไปโรงเรียนเป็นยังไงบ้าง เกิดอะไรขึ้นบ้าง มีใครทำอะไรที่หนูไม่ชอบมั้ย เหมือนเป็นการสร้างสะพานให้เด็กรู้สึกว่าเรื่องแบบนี้มันสามารถคุยกับพ่อแม่ได้นะ พ่อแม่เป็นที่พึ่งพิงให้เขาได้ ก็จะสร้างความไว้วางใจให้เด็กรู้สึกว่าสนิทสนมกับเราได้ค่ะ

***ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องมีเวลาให้เขา ไม่ใช่ทำงานจนไม่มีเวลาให้กับลูกเลย พ่อแม่บางคนทำงานหนักแล้วพอเจอลูกก็มีแต่ดุ ตำหนิเด็ก เด็กก็จะคิดว่าถ้าเล่าให้พ่อแม่ฟังก็อาจจะทำให้เกิดปัญหามากกว่าเดิม เด็กก็จะเลือกที่จะเก็บเงียบค่ะ

Must read :  30 คำถามหลังเลิกเรียน ไขปริศนา ลูกถูกเพื่อนแกล้ง หรือไม่?

ทั้งนี้คุณหมอมินยังบอกอีกว่า … การไปหาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพื่อขอคำแนะนำนั้นไม่ได้หมายความว่าลูกต้องป่วยเป็นโรคทางจิตเสมอไป คิดว่าปัจจุบันมีผู้ปกครองเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้นพอสมควร แต่ก็อยากบอกว่าถึงจะยังไม่ได้เป็นอะไรสงสัยเฉยๆ ก็เข้ามาปรึกษาได้

ซึ่งคุณหมอก็ให้คำแนะนำ และทุกเรื่องที่เข้ามาปรึกษา รวมถึงประวัติต่างๆ ก็จะถูกเก็บเป็นความลับ ถ้าไม่ได้รับการอนุญาตจากผู้ปกครอง แพทย์ก็ไม่มีสิทธิ์เปิดเผยข้อมูลอยู่แล้วค่ะ เพราะฉะนั้นอยากให้คุณพ่อคุณแม่สบายใจได้เลย และรีบมาปรึกษาดีกว่าปล่อยทิ้งไว้จนมันสายไป

อย่างไรก็ดีคุณหมอมิน ยังได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “การถูกกลั่นแกล้งเป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ บางคนอาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องเล็ก แต่มันก็กระทบถึงจิตใจในระยะยาวได้ หมอไม่อยากให้นิ่งนอนใจ ควรปรึกษาผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดและไว้วางใจ หรือส่งคำถามไปที่เว็บไซต์ stopbullying.lovecarestation.com หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323 จะมีเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญสามารถให้คำแนะนำและวิธีรับมือได้นะคะ”

อ่านต่อบทความอื่นๆที่น่าสนใจ คลิก : 


ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงดีๆ จากกระทู้พันทิป เผยวิธีรับมือเมื่อถูกเพื่อน Bullying กับ Expert Account Pantip : หมอมินเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา pantip.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up