สมดุลแห่งชีวิตในลูกสมาธิสั้น

สมดุลแห่งชีวิตในลูก “สมาธิสั้น”

Alternative Textaccount_circle
event
สมดุลแห่งชีวิตในลูกสมาธิสั้น
สมดุลแห่งชีวิตในลูกสมาธิสั้น

ผมเป็นคนที่เชื่อในเรื่องความสมดุล เชื่อว่าชีวิตควรอยู่ในสภาวะสมดุลไม่มากไปไม่น้อยไป ไม่ล้นไปไม่พร่องไป ที่จริงสมดุลที่จะสร้างความสุขให้ครอบครัวนั้นมีหลายแบบ แต่แบบหนึ่งที่จะขอพูดถึงวันนี้คือสมดุลทางพัฒนาการของลูก

เรื่องพัฒนาการเกี่ยวข้องกับเด็กๆ โดยตรง ปัญหาทางพัฒนาการเกือบทั้งหมดที่ผู้ปกครองมาปรึกษาผมนั้นถ้าไม่ใช่เพราะมีบางอย่างมากเกิน ก็มีบางอย่างขาดไป

ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ ภาวะสมาธิสั้นในเด็กที่อยู่ไม่นิ่งนั้นพูดกันง่ายๆ ไม่เอาศัพท์แสงทางเทคนิคก็คือพลังงานในตัวเด็กล้นมากเกิน ทำให้เขาอยู่นิ่งๆ ไม่ได้ หรือในรายที่ออกเหม่อนั้น พลังงานในหัวก็ล้นมากเกิน จึงคิดอะไรไปเรื่อยๆ ไม่มีหยุด

วิธีที่จะทำให้เขาผ่อนอาการลงคือ หาวิธีให้เขาได้ระบายพลังทางกาย หรือได้ใช้พลังความคิดออกเขาออกมาอย่างเป็นระบบระเบียบ ช่วยเขาจัดการพลังงานนั้นแต่ไม่ใช่ลดพลังงานนั้น เพราะจะเป็นการทำลายสิ่งดีๆ ที่เขามี

ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมผมถึงเรียกพลังงานที่ว่า “เกิน” เหล่านั้นว่าสิ่งดีๆ

ลองนึกภาพดู อย่างที่บอกว่าเด็กที่มีภาวะสมาธิสั้นนั้นเป็นเพราะความคิดในหัวเขามีความเร็วมากเกินที่เขาจะบังคับ อะไรแว่บเข้ามาในหัว เขาก็จะสนใจตรงนั้น แล้วสิ่งใหม่ก็แว่บเข้ามา เขาก็จะไปสนใจสิ่งนั้นอีก ฯลฯ ผลที่ออกมาเราจึงเห็นเด็กเหล่านี้ไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้นาน บางคนก็พูดอะไรหลายเรื่องต่อๆ กันโดยไม่มีที่มาที่ไป สุดแท้แต่อะไรจะเข้ามาในหัวเขาตอนนั้น

แต่ถ้าเราสามารถทำให้เขาควบคุมความคิดนั้นได้ เขาจะสามารถจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้นานขึ้น ในขณะเดียวกันกับที่ประสิทธิภาพความเร็วของการคิดยังคงอยู่ เขาจะกลายเป็นเด็กที่สามารถประมวลผลในหัวได้เร็ว ความจำดี เห็นภาพต่างๆ ในเชิงมิติสัมพันธ์

เราอาจได้อนาคตนักวิทยาศาสตร์ หมอ สถาปนิก ฯลฯ สักคนในวันหน้า

ถ้าจะถามถึงวิธีที่จะช่วยให้เขามีสมดุล คำตอบก็คือ การฝึกสมาธิ และการฝึกสมาธิที่ดีที่สุดทางหนึ่งคือดนตรีและศิลปะนั่นเอง

แต่ทั้งนี้ดนตรีและศิลปะที่จะให้เขาฝึกต้องไม่มีการคาดหวังหรือบังคับเจือปนอยู่ เพราะจะเป็นการพยายามหยุดพลังงานของเขาซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ เรากำลังจะชะลอความแรงของสายน้ำด้วยการเบี่ยงทาง ไม่ใช่กักกั้น รายละเอียดการฝึกควรเป็นอย่างไร มีเวลาเมื่อไรจะมาคุยให้ฟัง หรือใครอยากทราบก็ถามมาทางเฟสบุ๊กผมได้ที่เพจ Chana Nut Sevikul

อีกอย่างที่อยากบอกก่อนหมดเนื้อที่ตรงนี้คือ ในขณะที่กำลังช่วยลูกปรับสมดุล คุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องปรับสมดุลทางอารมณ์ของตัวเพื่อช่วยลูกอีกทางด้วยการพยายามลดความเครียด ความทุกข์ ความคาดหวัง พยายามคิดในทางบวกไว้ เช่น ลูกของเราเขาปกติ เขาแค่ต้องการเวลาปรับตัวเท่านั้น

รู้ครับว่าอาจทำยาก แต่ขอให้พยายามทำเถอะครับ เพราะกระแสพลังบวกจากพ่อแม่นั้นมีส่วนสำคัญในการปรับสมดุลของชีวิตให้ลูกจริงๆ ครับ

 

จากคอลัมน์ Kid Music นิตยสารเรียลพาเรนติ้ง ฉบับเดือนมกราคม 2558

บทความโดย: ชนะ เสวิกุล เขียนเพลง คอลัมน์ หนังสือ และช่วยภรรยาเลี้ยงเจ้าอาย ลูกสาวคนเดียว

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up