ถึงคุณจะเลือกแต่หนังแผ่นประเภท “เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี” ลูกวัยอนุบาลก็อาจเห็นภาพน่ากลัวจากหนังโฆษณาในทีวี ซึ่งบางครั้งก็เปิดทิ้งไว้ เรื่องนี้คุณช่วยลูกได้!
1. ใช้วิธีรับมือที่เหมาะสม
ถ้าหนังเริ่มน่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ ก็กดปิดแล้วเปลี่ยนเรื่องใหม่ซะ หรือถ้าลูกกลัวตอนดูหนังที่คุณคิดว่าไม่เป็นพิษเป็นภัยอะไรเลย ก็เปิดเบื้องหลังการถ่ายทำให้เขาดู เขาจะได้รู้ว่าเป็นสิ่งที่ใช้เทคนิคล้วนๆ ไม่ใช่ของจริงอย่างที่คิด และถ้าเป็นรายการในทีวี ก็ใช้วิธีบันทึกไว้ แล้วค่อยเอามาเปิดดูกันทีหลัง เวลามีฉากที่น่ากลัวก็กดปุ่มเดินหน้าให้ผ่านไปเร็วๆ
2. คอยสังเกตท่าทีลูก
ลูกอาจไม่พูดออกมาตรงๆ ว่า แม่! หนูกลัว คุณจึงต้องคอยสังเกตภาษากายของลูกด้วยว่าเขามีท่าทีไม่สบายใจบ้างหรือเปล่า บางทีลูกอาจมีคำถามเกี่ยวกับหนังที่เพิ่งดู ซึ่งเมื่อฟังแบบผิวเผินอาจคิดว่าเป็นคำถามทั่วๆ ไป แต่ที่จริงแล้วเป็นการสื่อถึงความกลัวในใจลูก คุณควรพยายามตอบให้เขาสบายใจขึ้นมากที่สุด
3. ประเมินสถานการณ์ดูก่อน
ถ้าคุณดูหนังโรงและลูกมีท่าทีเหมือนไม่ค่อยสบายใจ แต่ก็ยังอยากดูต่อ ก็ปล่อยให้เขาดูจนจบเรื่อง การได้เห็นฉากสุดท้ายซึ่งทุกอย่างคลี่คลายลงด้วยดีอาจช่วยให้ลูกรู้สึกดีขึ้นได้ แต่ถ้าเห็นชัดว่าลูกกลัว ก็พาเขาออกจากโรงหนังเลยดีกว่า
4. ดูหนังน่ากลัวตอนลูกไม่อยู่
ต้องแน่ใจว่าลูกไม่ได้อยู่บ้านหรือกำลังนอนหลับอยู่จริงๆ หรือไปดูที่โรงหนังโดยไม่ต้องพาเขาไปด้วย
5. เตรียมรับมือกับความกลัวยามค่ำคืน
โดยการยอมให้ลูกเปิดไฟสลัวทิ้งไว้ในห้องนอน หิ้วตุ๊กตาตัวโปรดไปไหนมาไหนด้วยเหมือนเมื่อตอนยังเล็กๆ หรือทำอะไรก็ได้ที่ช่วยให้สบายใจขึ้นจนกว่าจะเลิกกลัว
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง