ทางเลือกในการ “ทำแท้ง” มีอะไรบ้าง?
ปัญหาท้องไม่พร้อมในผู้หญิงหลายคนที่ไม่กล้าปรึกษาใคร มักจบลงด้วยการทำแท้งเถื่อน ซี่งตามที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า อันตรายจากการทำแท้งเถื่อนนั้นอาจทำให้ผู้ที่ทำเสียชีวิตได้ โดยอัตราการตายจากการทำแท้งเถื่อนนั้นมีมากถึง 300 คน ต่อ 100,000 คน ยังไม่รวมถึงผู้หญิงที่เกิดภาวะแทรกซ้อน ติดเชื้อขั้นรุนแรงอีก แต่คุณแม่รู้หรือไม่ว่าเรายังมีอีกหลายทางเลือกที่อาจจะแก้ปัญหาได้ดีกว่าการทำแท้ง
ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เปิด สายด่วน 1663 เพื่อขอรับคำปรึกษาสำหรับผู้ที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อมทุกคน โดยหากพบว่าผู้ประสบปัญหาเข้าเกณฑ์ตามข้อบ่งชี้ ก็จะได้รับการช่วยเหลือในด้านการสามารถยุติการตั้งครรภ์ภายใต้กฎหมายได้ โดยในการประชุมระดับชาติ สุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 3 “การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น: จากยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน” จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ศ.คลินิกเกียรติคุณ พญ.วิบูลพรรณ ฐิตะดิลก อดีตประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงทางเลือกของการทำแท้งไว้ ดังข่าวต่อไปนี้
การแก้ปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อม สิ่งสำคัญที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น แต่หากมีการตั้งครรภ์ไม่พร้อมเกิดขึ้น จะต้องมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับทางเลือกอย่างครอบคลุมและรอบด้าน เนื่องจาก พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 มาตรา 5 ระบุให้วัยรุ่นมีสิทธิตัดสินใจด้วยตนเอง และมีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารและความรู้ ได้รับการบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ อีกทั้งประมวลกฎหมายอาญา และข้อบังคับแพทยสภา อนุญาตให้แพทย์ยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย หากเข้าเกณฑ์ตามข้อบ่งชี้ข้อใดข้อหนึ่ง ได้แก่
-
- การตั้งครรภ์นั้นส่งผลต่อสุขภาพกายของมารดา
- ส่งผลต่อสุขภาพจิตของมารดา
- ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงสูงที่จะมีความพิการอย่างรุนแรง หรือเป็นโรคทางพันธุกรรมอย่างรุนแรง
- การตั้งครรภ์นั้นเกิดจากการข่มขืน เกิดจากการล่อลวงบังคับ ข่มขู่
- การตั้งครรภ์ของเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี แม้ว่าเด็กจะสมยอมก็ตาม และอนุญาตให้ทำโดยแพทย์ในคลินิกได้ กรณีที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ หากอายุครรภ์มากกว่านี้ ต้องทำโดยแพทย์และภายในโรงพยาบาล
ศ.คลินิกเกียรติคุณ พญ.วิบูลพรรณ กล่าวต่อว่า วิธีการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย ทำได้โดยการใช้เครื่องดูดมดลูกสุญญากาศ หรือการกินยา ซึ่งเป็นการใช้เพื่อยุติการตั้งครรภ์ในระยะแรกที่อายุครรภ์น้อย ทั้งนี้ประเทศไทยมีการขึ้นทะเบียนยานี้ตั้งแต่ปี 2557 และมีระบบควบคุมเพื่อป้องกันการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ โดยสถานพยาบาลที่จะมีและใช้ยาได้ จะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมอนามัย และต้องผ่านการอบรมการใช้ยายุติการตั้งครรภ์ มีการทำบัญชีการเบิกจ่ายยาอย่างรัดกุม ส่วนปัญหาจากการที่แพทย์ปฏิเสธการรักษานั้น ทำให้กลุ่มหญิงท้องไม่พร้อมต้องหันไปพึ่งการทำแท้งเถื่อนที่เป็นอันตรายอย่างมาก ทั้งการติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ตกเลือด มดลูกทะลุ ไตวาย เป็นต้น ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า ปี 2551 และ 2552 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาภาวะแทรกซ้อนจากการแท้งถึง ปีละกว่า 3 หมื่นราย และคาดว่าจะมีอัตราตายสูงถึง 300 คน ต่อแสนประชากร ซึ่งแพทย์มีส่วนสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาแท้งไม่ปลอดภัยนี้ได้
“การผลักดันดังกล่าว ไม่มีเจตนาส่งเสริมให้มีการทำแท้งอย่างกว้างขวาง แต่บางคนมีความจำเป็นบางอย่างในชีวิตที่ต้องยุติการตั้งครรภ์ ก็ต้องให้เขาได้รักษาอย่างปลอดภัย จึงอยากให้สูตินรีแพทย์รวมทั้งแพทย์ทั่วไป เข้าใจในเรื่องนี้และเปลี่ยนมุมมองว่า หญิงตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์และเข้าเกณฑ์ตามที่กฎหมายอนุญาตนั้นเป็นผู้ป่วย จำเป็นที่แพทย์ต้องให้การช่วยเหลือและรักษาให้ได้รับบริการที่ปลอดภัย” ศ.คลินิกเกียรติคุณ พญ.วิบูลพรรณ กล่าว
ขอบคุณข่าวจาก : www.thairath.co.th/news/society/1494881
สำหรับผู้ที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม สามารถติดต่อสายด่วน 1663 เพื่อขอรับคำปรึกษา และช่องทางการติดต่อเครือข่าย RSA ได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-21.00 น. หรือติดต่อผ่าน facebook: 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม ได้ตลอด 24 ชม. ค่ะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เป็นแม่อย่างไร…ให้ถูกใจวัยรุ่น!
พ.ร.บ. ช่วยให้เด็กที่ท้องก่อนวัย ได้กลับมาเรียนหนังสือ
ผิดหวัง ป้องกันได้ด้วย 5 วิธีพูด
วิจัยชี้! “โรงเรียนดี” มีผลต่อผลการเรียนลูกน้อยกว่า “พ่อแม่ดี”
ขอบคุณข้อมูลจาก : หมอชาวบ้าน
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่