สังคมไทยกับการ เล่านิทานให้ลูกฟัง
ได้มีงานวิจัยที่ทำให้รู้ว่า สังคมไทยกำลังอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วงค่ะ โดยผลวิจัยชี้ว่า “พ่อแม่ไทยยุคใหม่ 1 ใน 3 นั้นไม่เคยเล่านิทานให้ลูกฟังเลยตลอด 1 เดือน” ซึ่งส่วนใหญ่แล้วพบว่า คุณพ่อคุณแม่สมัยนี้หยิบยื่นสื่อโซเชียลและแท็บเล็ตให้ลูกมากกว่า
นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การเลี้ยงลูกมีส่วนสำคัญมากในการสร้างไอคิวอีคิวเด็กถึง 70% ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุนให้คุณพ่อคุณแม่เล่านิทานให้ลูกฟังตั้งแต่ทารก ตลอดจนสนับสนุนให้พี่เลี้ยงศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ 17,000 แห่ง เล่านิทานให้เด็กฟัง เพื่อสร้างไอคิวอีคิวเด็กไทย เนื่องจากการศึกษาในต่างประเทศซึ่งเก็บข้อมูลเด็ก 450 คนต่อเนื่องนานถึง 40 ปี พบว่าไอคิวมีความสัมพันธ์เพียงเล็กน้อยกับความสามารถในการทำงานได้ดี
แต่จากการศึกษาสถานการณ์การเล่านิทานของครอบครัวไทย พบว่ามีแนวโน้มลดลงอย่างน่าห่วง ในช่วง 2 ปีมานี้ พ่อแม่มีเวลาเล่านิทานให้ลูกฟังทุกวันไม่ถึง 50% เนื่องจากต้องทำงานนอกบ้าน ผู้เล่านิทานนั้นเป็นคุณแม่มากกว่าคุณพ่อ
ด้านนายแพทย์สมยศ เจริญศักดิ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้ศึกษาสถานการณ์ การเล่านิทานของครอบครัวไทยทั่วประเทศกว่า 3,389 ครอบครัวในปี 2546 พบว่าเพียงร้อยละ 2 ที่พ่อแม่เริ่มเล่านิทานตั้งแต่ลูกยังอยู่ในครรภ์ พ่อแม่ 2 ใน 3 เริ่มเล่าเมื่อลูกอายุ 1-3 เดือน ขณะที่พ่อแม่ 1 ใน 3 ไม่เคยเล่านิทานให้ลูกฟังเลยในรอบ 1 เดือน วิธีการเล่า 41% จะอ่านนิทานให้ลูกฟัง มีเพียง 1 ใน 6 ที่ใช้อุปกรณ์และแสดงท่าทางประกอบ
การเล่านิทานที่นิยมเล่ามากที่สุด ได้แก่ นิทานพื้นบ้าน รองลงมาคือนิทานสอนคติธรรม นิทานนานาชาติ และการ์ตูน ส่วนประโยชน์ของการเล่านิทาน คุณพ่อคุณแม่ 28% กล่าวว่า การเล่านิทานนั้นทำให้ลูกมีสมาธิดี รองลงมาคือสร้างความผูกพันพ่อแม่ลูก ทำให้เด็กมีจินตนาการเกิดความคิดสร้างสรรค์ และเด็กได้คติเตือนใจ เป็นต้น
อ่านประโยชน์ของการเล่านิทานให้ลูกฟัง
เครดิต: Thai Health