ดังนั้น หมอถึงอยากแนะนำให้เราสอดส่องและคอยปรามพฤติกรรมไม่ดีของเด็กไว้แต่เนิ่น ๆ โดยมีหลักการดังนี้ค่ะ
- ควรปรามพฤติกรรมที่ไม่ดีของเด็กในทันที (หรือเร็วที่สุดเท่าที่เป็นได้) ไม่ปล่อยผ่านไว้นานๆ
- ท่าทีที่ห้ามปรามควรจริงจัง แต่ไม่ดุดัน ไม่ใช้อารมณ์ที่รุนแรง
- ควรปรามโดยการเข้าประชิดตัวเพื่อพูดคุย มองหน้า ให้แน่ใจว่าเด็กรับฟัง ไม่ใช้การตะโกนไล่หลัง
- ระบุ “พฤติกรรม” ที่ไม่ดีให้ชัดเจน ว่าพฤติกรรมอะไรที่เราไม่ชอบให้เด็กทำ เช่น “แม่ไม่ชอบที่เคนตีเพื่อนเมื่อกี้” ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการดุที่กว้างเกินไปอย่าง “แม่ไม่ชอบที่เคนทำตัวไม่ดี” หรือ “เด็กอะไรเกเรแบบนี้” เพราะเราต้องการจัดการกับ “พฤติกรรมไม่ดี” บางเรื่องเท่านั้น.. ถ้าดุกว้างเกินไป ลูกอาจจะไม่เข้าใจ แถมยังได้แผลกว้างโดยไม่จำเป็นค่ะ
- พยายามพูดให้กระชับ ชัดเจน และเฉพาะเจาะจงกับเหตุการณ์ปัจจุบัน ไม่รื้อฟื้นเรื่องอื่น ๆ มาพูดรวม ๆ กัน
- แนะนำพฤติกรรมดี ๆ ที่เด็กควรทำเพื่อแก้ปัญหา และทดแทนพฤติกรรมไม่ดี เช่น “ถ้าคราวหน้าเคนโกรธเพื่อนอีก ให้เคนบอกเพื่อนดีๆ หรือจะมาบอกผู้ใหญ่ก็ได้”
- อาจกำหนดบทลงโทษให้กับพฤติกรรมไม่ดี โดยทำข้อตกลงร่วมกันกับเด็ก
เพราะความรู้ผิดชอบชั่วดีนั้นจะค่อย ๆ ถูกสร้างขึ้นจากประสบการณ์ในวัยเด็กค่ะ ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่จะสอนเขาได้ว่าสิ่งไหนดีไม่ดี.. ดังนั้น อย่าปล่อยให้โอกาสสำคัญต้องหลุดมือไปเลยนะคะ
บทความโดย : พญ.พิชญา ตันธนวิกรัย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา
ภาพ : Shutterstock