ดึกแล้วหนา หลับเถิดหนอ พ่อจะร้องเพลงกล่อม
กล่อมเบาๆ เจ้าตัวน้อย ค่อยๆนอนฝันดี
ทำตาพริ้มอิ่มนมแล้วอย่างนี้
นอนเถอะนะ เจ้าตัวดี จะให้พ่อร้องทั้งคืนหรือไร ….
ผมเชื่อว่า พ่อแม่หลายคนแอบร้องคลอตามได้ แต่ถ้าคุณไม่คุ้นเพลงนี้ ไม่ต้องรู้สึกเสียหน้าครับ เพราะการที่คุณไม่รู้จักเพลงเฉลียง แปลว่า คุณต่ำ 30 แน่ๆ ยินดีด้วยครับ ผมเป็นคนร้องเพลงไม่ได้เรื่อง นั่นเป็นสิ่งที่คนตัดสินผม แต่ผมว่า ถ้าไม่มีไมค์เนี่ย ผมก็เสียงอบอุ่นออกนา (แต่เอาเถอะคนเราควรจะร้องเพลงแบบเกรงใจคนฟัง มิใช่หรือ)
ผมเป็นคนอยากมีลูกมาแต่ไหนแต่ไร อยากมีก่อนจะมีปัญญาหาแฟนคนแรกเป็นตัวเป็นตนเสียด้วยซ้ำ และไอ้ความที่อยากมีลูกเนี่ยแหละ เพลงข้างบนจึงทำให้หัวใจผมเต้นแรง ตั้งแต่ได้ยินครั้งแรก และยิ่งคนร้องคือ พี่แต๋ง (ลูกพี่แต๋ง ‘น้องต้นน้ำ’ เป็นออทิสติก) มันยิ่งทำเอาผมเต็มตื้นที่ลำคอ เพลงนี้มันโดนถึงขั้นที่ผมปฏิญาณไว้เลยว่า มีลูกเมื่อไหร่ เอ็งโดนเพลงนี้จากปะป๊าแน่ๆ
ในวันที่ภรรยาผมเอ่ยขึ้นมาว่า “ช่วงนี้ (ประมาณสัปดาห์ที่ 24) เขาจะได้ยินเราแล้วหละ เล่านิทานหรือร้องเพลงให้เขาฟังมั้ย” แล้วเพลง ‘พ่อกล่อมลูก’ ก็ถูกเปล่งออกมาจากหัวใจของผมทันที ชนิดภรรยา ทำหน้าอึ้ง “หึย อย่างแกยอมร้องด้วยรึนี่”
…. พ่อจะสอนเจ้าเอาไหม ให้นับดาว
อยู่บนฟ้าสุขสดใส คือ แสงดาว
พ่อจะสอน เจ้าเอาไหม ให้นับดาว
หนึ่งและสอง หนึ่งและสอง สามสี่ …..
เพลงนี้ก็จะมีเพลง ‘กล่อม’ ของ ฟลุ้ก เกริกพล (อื้อฮือ เพลงร่วมสมัยฉันทั้งนั้น) ที่ผมร้องที่พุงภรรยาหลังจากที่นิทานจบลงทุกคืน ซึ่งนั่นแหละฮะตามภาษาพ่อแม่ขี้เห่อ ผมก็จะถามภรรยาผมว่า “แม่ว่าเค้าได้ยินมะ” ภรรยาก็จะตอบกึ่งให้กำลังใจว่า “หนูว่าเขาขยับตัวมาฟังนะ ตอนคุณร้อง” (ว่าไปนั่น) บางวันหนักหน่อยก็ “พี่เอกหนูว่าเขาดิ้นนะ เมื่อกี้เหมือนพยายามถีบปากปะป๊า” (เอ หรือเค้าจะบอกว่า ผมจะนอน หยุดสักที)
แต่ไม่ว่าอย่างไร ผมก็เล่านิทาน และ ร้องเพลงให้เขาฟังทุกคืน เพราะมันคงไม่ใช่ลูกเท่านั้นหรอกที่จะมีความสุขจากการที่พ่อทำแบบนั้น คนสำคัญอีกคนคือคุณแม่ ทุกคืนที่ผมเล่านิทานให้ปูนปั้นฟัง ผมไม่รู้ว่าลูกเข้าใจมั้ย แต่ยัยแม่ดูมีความสุข ทุกครั้งที่เพลงจบตายัยแม่จะพริ้ม และคนที่ถูกลูบหัวไม่ใช่เจ้าตัวเล็กในท้อง แต่เป็นพ่อของเจ้าปูนปั้น ส่วนเจ้าปูนปั้น เราก็ใช้วิธีจุ๊บๆเขา ที่พุงของหม่ามี๊
วันแรกหลังจากที่พาปูนปั้นกลับบ้านหลังคลอดและพักฟื้นที่โรงพยาบาบาล (แม้จะดูเป็นคนสายวิทย์ มากกว่า สายสิญจน์ ผมก็ไม่ลืมบอกเจ้าที่เจ้าทาง เมื่อขับรถเข้าหมู่บ้านว่า เราพาปูนปั้นกลับบ้านมาด้วย) และเมื่อ 2 พ่อแม่แกะกล่อง ต้องอยู่กับเจ้าตัวน้อยลำพังเป็นครั้งแรก ถึงแม้จะไม่มีใครพูดออกมา แต่ก็สัมผัสบรรยากาศความเครียดถึงการลุ้นว่า ‘คืนแรกจะเป็นไงน้อ’ได้ไม่ยาก และเมื่อความมืดเข้าครอบงำบ้านเรา ทุกกลยุทธ์ที่ทางโรงพยาบาลสอนมาในการเอาเจ้าปูนปั้นเข้านอนก็ถูกควักออกมาใช้ แต่ผลคือ “แง้ ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ” ตอนนั้นเราเครียดจริงๆฮะ คิดไปเรื่อยเปื่อยว่า ต้องอุ้มกันทั้งคืนมั้ย ? พรุ่งนี้ผมต้องไปทำงานจะไหวมั้ย? แล้วหม่ามี๊อยู่ดูคนเดียวจะรอดหรือ? คิดไปก็ไม่ได้ทำให้เจ้าตัวปูนปั้นสงบได้ และเมื่อคิวอุ้มวนมาที่ผมอีกครั้ง ผมก็พูดขึ้นว่า “แนท พี่ลองร้องเพลงกล่อมเขาเหมือนตอนอยู่ในท้องดีมั้ย”ภรรยาผมก็พยักหน้า … “ดึกแล้วหนาหลับเถิดหนอ พ่อจะร้องเพลงกล่อม” แล้วเสียงร้องเจ้าปูนปั้น ก็เงียบลง … ปูนปั้นมองหน้าปะป๊าเหมือนนึกอะไรอยู่ ผมเชื่อว่า เขาจำเพลงนี้ได้ และผมเชื่อว่าหนึ่งในภาพแรกๆ ในชีวิตของปูนปั้น หากบังเอิญว่าเขาจะจำได้ คือ ภาพน้ำตาอิพ่ออิแม่ที่ไหลทะลักแก้ม ในคืนแรกที่บ้านของเรา
และไม่ว่าใครจะคิดอย่างไร หากมีคนถามผมว่า เขาได้ยินเราจริงหรอ ตอนที่อยู่ในท้อง ผมคงจะพูดลอยๆว่า ‘แม้เจ้าอยู่ในท้อง พ่อก็จะร้องเพลงกล่อม’
…. แปดหมื่นสอง แปดหมื่นสาม แปดหมื่นสี่ ฮ้าววววววว ……
ติดตามเรื่องราวความน่ารักของครอบครัวน้องปูนปั้นได้ในคอลัมน์ FAMILY BLOGGER : www.real-parenting.com ได้ทุกสัปดาห์
แวะไปดู รอยยิ้มหวานฉ่ำ ที่มีแจกฟรีทุกวันได้ที่
www.facebook.com/Poonpun.Poonpoon นะครับ
บทความโดย: บรรทัดที่สิบเอ็ด (พ่อเอก-จิรัฏฐ์ สิริเฉลิมพงศ์)