[Blogger พ่อเอก-37] หัดปูนปั้นตักข้าวเองคำแรก - Amarin Baby & Kids
blog ครอบครัว

[Blogger พ่อเอก-37] หัดปูนปั้นตักข้าวเองคำแรก

Alternative Textaccount_circle
event
blog ครอบครัว
blog ครอบครัว

       ช่วงที่ปูนปั้นอายุประมาณใกล้ๆ 1 ขวบ เราเริ่มคุยกันว่าจะสอนให้เจ้าปูนปั้นตักข้าวกินเองเมื่อไหร่ดี เพราะเราเองอยากสอนให้เขาเริ่มรู้จักช่วยตัวเอง แต่อีกใจหนึ่ง ถ้าสอนเร็วเกินไป เจ้าปูนปั้นไม่ยอมกินเอง แล้วเราต้องกลับไปป้อน ก็เกรงว่าต่อไปจะเริ่มสอนใหม่ก็อาจจะยากขึ้น เพราะเขาเรียนรู้ซะแล้วว่า ถ้าเขาไม่กินเอง เดี๋ยวปะป๊าหม่าม๊าก็ต้องกลับมาป้อน

        นั่งนึกกับหม่าม๊า จำได้ว่า เราน่าจะเริ่มให้ปูนปั้นตักข้าวกินเอง ตอนอายุเกิน 1 ขวบไปไม่มากนัก ซึ่งจริงๆก็ถือว่ายังเด็กมาก แต่เราเชื่อว่าเด็กสอนได้ นอกจากนั้นเจ้าปูนปั้นก็อยู่ที่เนอร์สเซอร์รี่ในตอนกลางวันที่ปะป๊ากะหม่าม๊าไปทำงาน ซึ่งเราได้คุยกับพี่ๆที่เนอร์สเซอร์รี่ แล้วทราบว่าเจ้าปูนปั้นก็สามารถตักกินเองได้ แต่พออยู่บ้าน ด้วยสัญชาติญาณที่ติดตัวมา เขาคงรู้ว่าเรียกร้องจากใครได้ ดังนั้นเจ้าตัวป่วนก็จะให้หม่าม๊ากะปะป๊าป้อนดีกว่า เมื่อเราตัดสินใจว่า เราจะไม่ป้อนหละ สิ่งแรกที่หม่าม๊ากับปะป๊าต้องตกลงกันก่อน ก็คือ

  • เราต้องทำใจกับความเลอะเทอะที่จะเกิดขึ้นกับเจ้าปูนปั้นและเสื้อผ้า ซึ่งนั่นก็หมายถึง การที่เราอาจจะต้องอาบน้ำเจ้าปูนปั้นซ้ำอีกครั้งหลังกินข้าว (ตื่นเช้าเราอาบน้ำให้ปูนปั้นสบายตัวก่อนหม่ำข้าว และเวลาป้อน เราจะมีแผ่นพลาสติกกันเปื้อนสวมคอ ทำให้ไม่เลอะ)

 

  • เราต้องทำใจกับความเลอะเทอะที่จะเกิดกับจาก จาน ชาม โต๊ะ พื้น รวมไปถึง การใช้อุปกรณ์เยอะเกินปกติ (ชามกลิ้ง ช้อนหล่น และ อื่นๆ) และการถูพื้น 3 เวลาหลังอาหาร

 

 

  • เมื่อเราตกลง 2 ประเด็น ข้างบนได้ เราจะต้องไม่เอาความเลอะเทอะเปรอะเปื้อนมาหงุดหงิด แม้งานจะงอก (ทำใจเผื่อจินตนาการในการทำเลอะที่เราคิดไม่ถึงไว้ได้เลยครับ – อย่างเจ้าปูนปั้น ใครจะคิดอยู่ดีๆ มีมุก เอาช้อนไปป้อนที่ตาพร้อมทำเสียงประกอบ คลิกดูคลิปเลย )

 

 

  • จากนั้น เราก็ตกลงกันว่า ถ้าเขาไม่ยอมกิน เราจะใจแข็งไม่ป้อน จะแค่มาพูดคุยชักชวนให้เจ้าปูนปั้นกิน แต่ถ้าดื้อไม่กิน ก็ต้องให้อดเป็นอด เดี๋ยวหิวก็คงร้องขอเอง เพราะมันเป็นสัญชาติญาณของมนุษย์ที่หิวก็ต้องกิน

 

 

        เมื่อเราตกลงกันได้แล้ว เราก็ดำเนินการตามแผนนั้น อาจจะเป็นโชคดีของเราที่เจ้าปูนปั้นเอง ก็ไม่ใช่เด็กกินยาก และเวลาที่เราป้อนข้าวให้เขาทาน เราก็มักจะให้เขาหยิบช้อนเด็ก ลองตักเล่นๆ ไปด้วย (สิ่งสำคัญคือ ไอเท็ม เหล่านี้มีอิทธิพลมาก เจ้าตัวป่วนชอบ  McQueen ชอบ Thomas ดังนั้น จานช้อนชาม ต้องทำให้เขายิ้มแป้นได้) ซึ่งตอนที่ตัวจิ๋วกว่านี้กล้ามเนื้อมัดเล็กๆ ของเจ้าปูนปั้น ยังไม่แข็งแรง ตักไม่ค่อยขึ้น ก็จะมีหกเลอะเทอะเล็กๆน้อยๆ บ้าง  ดังนั้นพอเราเริ่มจะให้เขาตักทานเอง เขาก็พอจะจับช้อนได้แข็งแรงขึ้น แต่ช่วงแรกๆ ในการตัก เราก็ต้องประคองเขาบ้าง เพราะแม้เจ้าปูนปั้นพอจะตักเองได้ แต่พอจะยกเข้าปากช้อนก็ตะแคงไปมา คำแรกๆ เนี่ย ได้แต่ดูดๆน้ำที่ติดช้อนเท่านั้นเองครับ

        ด้วยความอดทนมุ่งมั่น (ของปะป๊า หม่าม๊า) ไม่กี่วันเขาก็เริ่มตักทานได้เอง แต่ก็แน่นอน หกเกลื่อนไปหมด ซึ่งเราจะต้องไม่หงุดหงิด ไม่ดุ เพราะนั่นคือการเรียนรู้ทั้งนั้น ถ้าเราไปดุ เขาจะเรียนรู้ว่านั่นคือสิ่งที่ผิด (แล้วเขาอาจจะไม่ตักกิน เพราะกลัวโดนดุก็เป็นได้)

        นอกจากไม่ดุ เราต้องให้กำลังใจชมเชยด้วย ทุกคำในครั้งแรกๆที่เขาหม่ำสำเร็จ ปะป๊ากับหม่าม๊า จะตบมือ ทำเสียงเชียร์ ทำท่าดีใจ ประมาณเหมือนประเทศไทยได้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรก

        หลังจากที่เจ้าปูนปั้นหม่ำเองเป็น สิ่งที่ชื่นใจคือ ปูนปั้นไม่ยอมให้เราป้อนข้าวให้พักใหญ่ ถ้าเราจะป้อน เขาจะขอช้อนมาเอง ไม่ยอมให้เราป้อน หรือ ถ้าเราป้อน เขาจะไม่ยอมทาน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะสนุกที่ได้ทำสิ่งใหม่ๆเอง ก็เป็นได้

        แต่เด็กก็คือเด็กครับ เมื่อตักกินเป็นเองแล้ว ความสนุกลดลง เราก็ต้องพยายามหาอะไรมาหลอกล่อ อย่างหนึ่งที่เราใช้ได้ผลบ่อยๆคือ สัญญาว่าถ้าเขาหม่ำเสร็จ เขาจะได้สิ่งที่เขาชอบ เช่น ได้หม่ำของโปรด อย่างนมในแก้วเงือกเขียวสุดโปรด (เจ้าปูนปั้นติดเงือกเขียวมากๆ แต่เราไม่ได้ให้ไปดื่มที่ร้านทุกครั้งครับ เราเพียงชงเครื่องดื่มโปรดใส่ลงในแก้วเงือกเขียว แค่นี้ก็ชื่นใจแล้วฮะ) หรือ บางครั้งก็ล่อด้วยสิ่งที่เขาชอบเช่นจะเปิดเพลงชาติให้ฟัง (รักชาติมาก ยืนตรงแด่ว เมื่อเพลงชาติมา) หรือ ไม่ก็สัญญาว่าจะเปิด ‘เต้นๆ’ ให้ (หมายถึงเพลง มนตร์ไทรโยค version คอนเสิร์ตครั้งล่าสุดของ ดิอินโนเซนต์ หรือ เพลง ของวงวัชราวลี – อย่าได้ถามว่า มันเต้นๆ ตรงไหน รสนิยมคนเราต่างกัน ปูนปั้นก็เป็นเช่นนั้น ฮา)

        อีก 1 กลยุทธ ในการหม่ำของครอบครัวเรา คือ จะนั่งหม่ำเรียงกัน 3 คน ซ้ายไปขวา คือ หม่าม๊า ปูนปั้น และ ปะป๊า ดังนั้น ในบางครั้งเราจะเล่นเกมส์หม่ำแข่งกัน โดยนับ 1 – 2 – 3 อ้ำ ซึ่ง ซึ่งการแกล้งหม่ำแพ้ หม่ำไม่ทัน ทำให้เขาภูมิใจ ยิ้มแป้น แล้วเดี๋ยวก็จะมาท้า ทำเสียง 1 – 2 – 3 แข่งกับเราเอง   

        ไม่น่าจะยากเกินไปครับ สิ่งหนึ่ง ถ้าได้อ่านเรื่องราว ของครอบครัวเรามาเรื่อยๆ จะเห็นว่า ไม่ว่าจะทำอะไร สอนอะไรใหม่ๆ ปะป๊า กับ หม่าม๊า จะคุยกัน ตกลงกันก่อน เพราะ เราจะต้องไม่หงุดหงิดกันต่อหน้าลูก เราจะต้องไม่ทำให้เด็กสับสนว่า ‘แบบจะให้ผมกินเอง พอผมทำเลอะมาดุผม ผมก็งงนะครับ ก็ป้อนอยู่ดีๆ มาเปลี่ยนวิธีแล้วมาดุผมอีกแหนะ’  ปะป๊าหม่าม๊า จะเอาไงแน่ ไปตกลงกันก่อนมั้ย

            ก่อนจบ ฝากบทสนทนาก่อนนอน เมื่อไม่นานมานี้ครับ

            ปะป๊า :  Good Night ครับ

            ปูนปั้น : กู้ดไนท์กั๊บ

            ปะป๊า : Love you so much.

            ปูนปั้น : Love you Thomas.

            (รักรถไฟมิเสื่อมคลาย ขอโทษด้วย สำเนียงปะป๊าไม่ดีเอง)

 

      ติดตามเรื่องราวความน่ารักของครอบครัวน้องปูนปั้นได้ในคอลัมน์ FAMILY BLOGGER : www.real-parenting.com  ได้ทุกสัปดาห์

 แวะไปดู รอยยิ้มหวานฉ่ำ ที่มีแจกฟรีทุกวันได้ที่

www.facebook.com/Poonpun.Poonpoon นะครับ

 

บทความโดย: บรรทัดที่สิบเอ็ด (พ่อเอก-จิรัฏฐ์ สิริเฉลิมพงศ์)

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up