[Blogger พ่อเอก-38] ปูนปั้น Terrible Twos อาการของเด็กมั่นใจ อยากทำอะไรด้วยตัวเอง - Amarin Baby & Kids
blog ครอบครัว

[Blogger พ่อเอก-38] ปูนปั้น Terrible Twos อาการของเด็กมั่นใจ อยากทำอะไรด้วยตัวเอง

Alternative Textaccount_circle
event
blog ครอบครัว
blog ครอบครัว

         ในตอนที่เขียนต้นฉบับนี้อยู่ ขาดอีกเพียงไม่กี่ชั่วโมง เจ้าปูนปั้นตัวป่วนก็กำลังจะอายุครบขวบปีที่ 2 ตัวเลขที่อาจจะทำให้พ่อแม่หัวใจสั่นไหว เพราะเป็นช่วงวัยที่ใครต่อใคร เรียกกันว่า Terrible Twos

          อาการของ Terrible Twos ที่ผมอ่านเจอมา จะเริ่มได้ตั้งแต่ช่วงอายุที่ยังไม่ครบ 2 ขวบเรื่อยไปจนถึง 4 ขวบ โดยสิ่งที่เด็กในวัยนี้จะเป็น คือ จะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง อยากทำอะไรด้วยตัวเอง แต่ก็ยังไม่มีเหตุผล ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ อยากได้อะไรก็ใช้การแย่ง รวมไปถึง อาการงอแงแบบพูดไม่รู้เรื่อง กรี้ด ชักดิ้นชิ้นงอ ซึ่งก็ขึ้นกับ ระดับของพลังลมปราณเจ้าตัวน้อยแต่ละคน

          ตอนเจ้าปูนปั้นประมาณหนึ่งขวบ หม่าม๊าเริ่มนำคำศัพท์ คำนี้เข้ามาสู่โสตประสาทของผม แต่ว่ากันจริงๆแล้ว ช่วงนั้นผมไม่ค่อยสนใจ แอบคิดว่าเป็นอาการกังวลเกินกว่าเหตุของหม่าม๊าอีกแล้ว เพราะเจ้าปูนปั้นยังตัวกะเปี๊ยก กลมซะยังกะโปเกม่อน ใบหน้าตี๋ยังกะชินจัง ดูแล้วไม่น่าจะมีพิษสงอันใดเลย แต่ใครจะรู้ว่า พอเจ้าตัวยุ่งเริ่มเดินได้ ความอยากจะทำโน่นทำนี่ด้วยตัวเอง ก็เริ่มทำให้ผมจินตนาการคำว่า Terrible Twos ออกแล้ว ดังนั้น การประชุมลับกับหม่าม๊า 2 คน โดยเจ้าปูนปั้น ไม่ได้ระแคะระคายเลย เพื่อสร้างแผนป้องกันชื่อ Mission Happiness Twos  (ชื่อ mission คิดได้ ตอนเขียนต้นฉบับนี่แหละครับ 555 แต่การวางแนวทางว่าจะทำอะไรอย่างไร อันนั้นเรื่องจริงครับ) จึงเกิดขึ้น

          ก่อนจะไปเล่าให้ฟังว่า เราทำอะไรบ้าง ในการพยายามลดอาการของ Terrible Twos ต้องย้ำอีกครั้งว่า เจ้าปูนปั้นเพิ่งกำลังจะครบ 2 ขวบเท่านั้นเอง ดังนั้นเส้นทางในการพิสูจน์ยังอีกไกล แต่จากสิ่งที่เราพยายามทำ เราคิดว่า เราน่าจะจัดการได้ดีระดับหนึ่ง เลยอยากลองเอามาเล่าแบ่งปันให้ฟังกันฮะ

–  สื่อสาร จนกว่าจะเข้าใจ คุณย่าเจ้าปูนปั้นสอนผมเสมอว่า “เด็กเขารู้เรื่อง เราหนะเข้าใจเขาหรือเปล่า ”คำสอนนี้ติดในหัวผมมาตั้งแต่ยังไม่มีภรรยาเลยด้วยซ้ำ ดังนั้นเวลาที่เจ้าปูนปั้นออกอาการงอแง หนึ่งใน mission ที่หม่าม๊ากับปะป๊า ตกลงกันคือ เราจะใจเย็น ไม่หงุดหงิด พยายามพูดคุยด้วยเหตุผลกับเขา พยายามทำความเข้าใจ และให้เชื่อว่าเขาก็พยายามสื่อสารกับเรา ถึงความต้องการ บางครั้งเราก็ต้องพูดซ้ำๆ ประโยคเดิมๆ คำเดิมๆจนกว่าเขาจะฟัง หรือบางครั้งเราก็ทำบางอย่างตามที่เขาต้องการ ในเวลาที่เขางอแงเพื่อลดช่องว่าง แล้วจะได้สื่อสารให้เข้าใจ

–  เพิกเฉย แล้ว ต้องให้อภัย มีเหมือนกันที่เจ้าปูนปั้นงอแง จนพูดไม่รู้เรื่อง จนกระทั่งเราต้องใช้ วิธีการเพิกเฉย ปล่อยเขาไว้ลำพัง ซึ่งผลก็จะมีทั้ง 2 แบบคือ รอจนเขาสงบแล้วเดินมาหาเราเอง หรือ เราเดินไปหาเขาหลังผ่านไปสักพัก แต่สิ่งที่เราย้ำกันตลอดคือ เมื่อจบเหตุการณ์ เราจะไม่โกรธหรือดุต่อ แต่จะสอนให้เขาเข้าใจว่าการกระทำไหนดีหรือไม่ดี และที่สำคัญเราจะต้องให้อภัย เพราะเด็กเขาไม่มีอะไรติดใจแต่ถ้าเราไม่ให้อภัยเราอาจจะมีความโกรธหรือหงุดหงิดติดอยู่แล้วไประบายลงกับเจ้าตัวเล็ก มีครั้งหนึ่งที่เราเลือกใช้การเพิกเฉย และเมื่อเจ้าปูนปั้นหยุดงอแง เราก็เดินไปชะโงกมอง ทันทีที่เจ้าปูนปั้นสบตาเรา คำแรกที่เขาพูดออกมาคือ “จ๊ะเอ๋” ตอนนั้นมันคือ ยิ้มทั้งน้ำตา และเรารู้ว่าเราได้เรียนรู้จิตใจงดงามของเด็กอีกเยอะทีเดียว

–  เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมทันที เวลาที่ปูนปั้นงอแงในที่สาธารณะเราจะรีบเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมทันที เช่นในร้านอาหาร เราจะอุ้มออกไปข้างนอกแล้วเบี่ยงเบนให้เขาไปสนใจอย่างอื่นแทน เช่น ถ้าที่ร้านอาหารมีตู้ปลาเราก็จะพาเขาไปดูปลา และก็เช่นเดียวกับข้างบน เมื่ออารมณ์สงบลงก็ต้องสื่อสารและตกลงกันว่ากลับเข้าไปแล้วจะไม่งอแง

–  ทำในสิ่งที่เขาชอบ นี่ก็เป็นอีกวิธีในการเบี่ยงเบนความสนใจจากสิ่งที่เขางอแง เช่น เจ้าปูนปั้นจะชอบให้อุ้มแล้ววิ่งหรือกระโดด เราก็จะเล่นแบบนี้เวลาเขางอแง หรือบางครั้งก็ล่อด้วยของชอบ ว่าถ้าเลิกงอแงจะเอามิกกี้เม้าส์ให้กิน (น้ำผลไม้ยี่ห้อหนึ่งที่กล่องเป็นรูป มิกกี้เม้าส์ ดังนั้นเวลาคุยกับปูนปั้นเราจะถามว่า กินมิกกี้เม้าส์มั้ย)

          แต่ทั้งหมด Key message อยู่ที่การสื่อสารพูดคุยจนเขาเข้าใจ เพราะไม่ว่าจะใช้วิธีไหน ท้ายที่สุดเราจะมาพูดอธิบายสื่อสารกับเจ้าปูนปั้น จนกว่าจะรู้ว่าเราเข้าใจกัน ไม่ว่าจะต้องพูดซ้ำกี่รอบ เราก็จะไม่เลิกจนกว่าเจ้าปูนปั้นจะตอบรับ ให้เรารู้ว่า เขาเข้าใจแล้ว โดยผมจะถามซ้ำเสมอว่า Are you ok? ถ้าเขายังไม่ตอบ Ok ผมก็จะอธิบายซ้ำใหม่ พูดใหม่

          และทุกครั้งเราจะต้อง ไม่ลืมการจบด้วยอ้อมกอด ช่วงวัย Terrible Twos ของ ปูนปั้น อาจจะเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่เราเชื่อว่า ความอดทน ความพยายามในการสื่อสาร จิตใจที่เมตตาและให้อภัย จะทำให้เจ้าปูนปั้น ไม่ก้าวร้าว และผ่านพ้นช่วง Terrible Twos ไปได้ตามชื่อ Mission Happiness Twos และเราเชื่อว่า เขาก็เข้าใจและสัมผัสถึงความรักของเราได้ ถ้าเราพยายามมากพอ

          ผมคงไม่ต้องโน้มน้าวให้คุณเชื่อ เพราะแค่คำว่า “จ๊ะเอ๋” ครั้งนั้น ผมคิดว่า คุณก็คงเชื่อเหมือนผม

 

 

 

 

      ติดตามเรื่องราวความน่ารักของครอบครัวน้องปูนปั้นได้ในคอลัมน์ FAMILY BLOGGER : www.real-parenting.com  ได้ทุกสัปดาห์

 แวะไปดู รอยยิ้มหวานฉ่ำ ที่มีแจกฟรีทุกวันได้ที่

www.facebook.com/Poonpun.Poonpoon นะครับ

 

 

บทความโดย: บรรทัดที่สิบเอ็ด (พ่อเอก-จิรัฏฐ์ สิริเฉลิมพงศ์)

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up