เตรียมปูนปั้นไปโรงเรียน
ปูนปั้นกำลังจะไปโรงเรียนจริงๆ แล้วฮะ เพราะโรงเรียนที่ปะป๊าหม่าม๊าพูดอยู่เรื่อยๆว่าพาปูนปั้นไปโรงเรียนจริงๆ ก็คือเนอร์สเซอร์รี่ เท่านั้นครับ การเตรียมตัวคุณลูกเข้าโรงเรียนก็ดูเป็นเรื่องใหญ่อีกขั้นหนึ่งของคุณพ่อ คุณแม่ แต่อย่านอยด์กันไปเยอะเลยนะฮะ ให้ลูกพอช่วยตัวเองได้บ้างก็น่าจะเพียงพอแล้ว ผมว่าที่โรงเรียนเขาจะมีกิจกรรมการสอนพัฒนาลูกๆ เราอยู่แล้ว แต่ถ้าเราไปกดดันจะให้ลูกสมบูรณ์แบบไปหมด ลูกจะพานเศร้าไม่อยากไปโรงเรียนเอานะเออ
บังเอิญไปอ่านกระทู้เจอห้องที่คุยๆ กันแล้วบางทีผมสงสารเด็ก เพราะความคาดหวังของพ่อแม่ที่นอยด์กับลูกตัวเองไม่พอ ยังไปนอยด์ข้ามไปครอบครัวอื่น เช่น ลูกฉันสามารถแยกสีได้แล้ว ลูกบ้านคุณพูด ก ไก่ ลูกคุณยังทำไม่ได้ แบบนี้เข้าโรงเรียนไป คุณครูต้องมัวไปใส่ใจลูกบ้านโน้น แล้วลูกเราจะต้องถอยหลังไปหรือเปล่าอะไรแบบนี้เป็นต้น
ผมว่าเราคิดมากไปนะฮะ เด็กๆ แต่ละคนมีพัฒนาการมากน้อยไม่เท่ากัน อย่างเด็กคนนึงอาจจะแยกสีไม่ได้ แต่อาจจะร้องเพลงเก่ง ถ้าแบบนี้จะมาถ่วงเด็กที่ร้องเพลงเก่งหรือป่าว ซึ่งก็คงไม่ใช่ และเรื่องราวหลายๆ เรื่องมันเป็นการเรียนรู้โดยธรรมชาติ ต่อให้คุณครูไม่สอน เด็กๆ คุยไปคุยมาเขาก็เรียนรู้กันเองถ้าเรามองในแง่ดี ลูกเราจะได้ เข้าไปเรียนรู้จากเด็กคนอื่นที่มีอะไรเก่งกว่าลูกเรา และลูกเราจะได้ไปแบ่งปันสิ่งที่เก่งกว่าเด็กคนอืน เท่านี้เอง การไปโรงเรียนของลูกก็กลายเป็นเรื่องสวยงาม
เราอยู่ในยุคที่คาดหวังว่าลูกจะได้เรียนรู้อย่างมีความสุขกว่ารุ่นเราที่โดนอัดให้ท่องจำ แต่เราก็มักหลงลืม โดยเอาเรื่องสนุกๆ มาอัดๆ ให้เด็กจนกลายเป็นเรืองไม่สนุกไปเสียเอง
กลับมาที่การเตรียมตัวไปโรงเรียน ปะป๊าหม่าม๊าก็ต้องเตรียมปรับเวลา หาวันลากิจ เพราะที่โรงเรียนต้องการให้ ไปสังเกตการณ์ปูนปั้นในช่วงสัปดาห์แรกของการไปโรงเรียน โดยมีเวลากลับเร็วกว่าช่วงเวลาปกติ เพื่อให้เด็กค่อยๆ ปรับตัวไม่ตื่นกับสถานที่ใหม่ๆ โดยเฉพาะเด็กที่อยู่กับผู้ปกครองเต็มเวลามาก่อน
ผมได้คุยกับคุณแม่ท่านหนึ่งมีมุมมองที่น่าสนใจ คุณแม่ท่านนั้นบอกว่าในรุ่นที่ลูกเราโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ความรู้สำคัญที่จะติดตัวไปในยุคที่โลกมันเปิดกว้างไปหมด แต่ในอีกด้านนั่นจะกลายเป็นสนามการแข่งขันขนาดใหญ่โตกว่าเดิม มีผู้เล่น ผู้แข่งขันที่ไม่จำกัด ดังนั้นความรู้ที่สำคัญคงเป็นเรื่อง จำนวนภาษาสากลที่พูดได้ และ ความคิดสร้างสรรค์ที่จะนำมาปรับใช้ได้ ดังนั้นการเปิดให้ลูกได้เรียนรู้อย่างอิสระ คงจะเป็นวิถีทางที่ดีกว่าการกลับไปที่การบ่นเรื่องลูกแยกสีเป็นไม่เป็น ในขณะที่เรามองว่าเรื่องสีเป็นเรื่องศิลปะสร้างสรรค์ แต่เราก็ไปตีกรอบเสียแล้วว่า เจ้าควรจะต้องท่องสีได้ก่อนเข้าโรงเรียน มิฉะนั้นเจ้าจะไม่มีวันได้เป็นอัจฉริยภาพ เคยได้ยินมั้ยฮะว่า นักดนตรียุคคลาสสิคบางท่านไม่รู้ตัวโน้ตหรือศิลปินอย่างคีทาโร่ก็ไม่เก่งทฤษฎีดนตรีเลย และแต่งเพลงโดยการฟังเสียงเอา
หรืออีกหนึ่งบทความที่ผมเคยอ่านเจอชื่อ “ลูกเรียนไม่เก่ง …แล้วไงครับ” ของ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ขออนุญาตคัดลอกบางส่วน หากทำให้เนื้อหาผิดเพี้ยนไป ผมต้องขออภัย แต่อยากให้ลองคิดกันเองครับ
“พวกเรามาทบทวนกันก่อนว่า อยากให้ลูกเรียนเก่งไปทำอะไรเพื่อเขาจะได้เอ็นทรานซ์ได้ ซึ่งไม่ได้ให้หลักประกันเลยว่าจะไม่ตกงาน จะไม่ใช้ยาเสพติด จะไม่ติดเชื้อเอดส์ จะไม่ตั้งครรภ์ก่อนวัย จะไม่ทำแท้ง จะไม่พนันบอล และอื่นๆ เพื่อให้เขามีอาชีพมั่นคง ไม่จริงหรอกครับ เรียนเก่งแล้วไม่มีงานทำมีเยอะขึ้นเรื่อยๆ มีงานทำแล้วประคองงานไว้ไม่ได้ก็มีเยอะ ประคองงานไว้ได้แล้วไม่มีความสุขก็มีอีกเยอะ มีเงินเยอะ แต่ไม่มีความสุขยิ่งเยอะใหญ่ยกตัวอย่างอาชีพแพทย์ แพทย์สมัยนี้ตกงานทันทีหลังเรียนจบนะครับ ไม่ได้บรรจุเข้ารับราชการ ประกอบวิชาชีพไปถูกฟ้องไปก็เยอะ
แทนที่จะเรียนเก่ง น่าจะเรียนให้มี “ความสุข” มากกว่าการเรียนให้มีความสุขมีประโยชน์ดังนี้คือ ทำให้เด็กรักตนเอง ภาคภูมิใจในตนเอง เชื่อมั่นในตนเอง เมื่อเป็นเด็กเล็กก็ดูแลตนเองได้ เมื่อเป็นวัยรุ่นก็กล้าแสดงออกในทางที่เหมาะสม เมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็รู้จักหาทางเลือกของชีวิต รู้ทีหนีทีไล่ รู้รุก รู้รับ รู้ชนะ รู้แพ้ รู้สู้รู้ถอย และไม่ฆ่าตัวตาย กว่าจะถึงเวลาที่ลูกโตเป็นผู้ใหญ่ พวกเราซึ่งเป็นพ่อแม่หากไม่แก่ ก็ตายไปแล้ว มองมาเห็นลูกใช้ชีวิตแบบหลังย่อมดีกว่าแบบแรกแน่นอน
ก่อนอื่นมานิยามคำว่า เก่งก่อน เก่งในที่นี้หมายถึง ทำคะแนนได้สูงในระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่เด็กอาจจะไม่ได้ทำหน้าที่ทางจิตวิทยาของแต่ละวัยได้ครบถ้วนหรือพอเพียงในทางตรงกันข้าม เด็กเรียนไม่เก่งแต่มีคุณพ่อคุณแม่ที่เข้าใจเรื่องหน้าที่ทางจิตวิทยาประจำวัย ก็จะได้ลูกซึ่งเป็นเด็กเรียนไม่เก่งที่มีความสุข หากเด็กโตเข้าสังคมได้ทุกรูปแบบ เขาไม่เพียงมีความสามารถหางานอะไรก็ได้ และปรับตัวเข้ากับงานหรือครอบครัวแบบไหนก็ได้ แต่เขายังมีความรักตนเอง ภาคภูมิใจตนเอง ความรักตนเองเป็นภูมิคุ้มกันต่อสิ่งเลวร้ายต่างๆ พวกเรามักคิดว่า งานหลักของเด็กเล็กคือคัดไทย งานหลักของเด็กโตคือบวกเลข ทำให้เราหลงทาง เสียเวลา และคาดหวังลูกในทางที่ไม่ถูกไม่ควรกันค่อนประเทศ เมื่อลูกไม่ได้ดั่งใจก็คาดหวังสูงยิ่งขึ้นอีก เด็กจึงไม่รักตนเอง เกลียดตนเอง ไม่ภูมิใจในตนเอง และขาดภูมิคุ้นกันไปในที่สุด
ถามตนเองอีกครั้งสิครับ ว่าอยากได้ลูกแบบไหน”
ขออนุญาตตัดมาเท่านี้ แล้วเราต้องตอบแล้วหละครับ ว่าอยากเตรียมตัวลูกให้เป็นแบบไหนครับ
บทความโดย: บรรทัดที่สิบเอ็ด (พ่อเอก-จิรัฏฐ์ สิริเฉลิมพงศ์)