หากมีพรวิเศษ เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนคงอยากขอให้ลูก “มีความสุขสมหวังในชีวิต” กันทั้งนั้น แต่ในความเป็นจริง เรารู้ว่าชีวิตต้องถูกแต่งแต้มด้วยความสมหวังและความผิดหวังคละเคล้ากันไป การทำให้ชีวิตลูกมีความสุขไม่ได้แปลว่าต้องพยายาม “ปัดเป่าไล่ความผิดหวัง” แต่เราต้องเติมพลังให้ลูก “ยอมรับความผิดหวัง” อย่างปกติสุข ต่างหากค่ะ
- ไม่ผิดที่ผิดหวัง
เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกเดินคอตก ห่อฝ่อกับเรื่องใดมาก็ตาม สิ่งแรกที่ลูกอยากได้รับ ไม่ใช่ “คำปลอบใจ” แต่เป็น ใครก็ได้ที่จะ “รับฟัง” ความรู้สึกห่อเหี่ยว ผิดหวังของเขา… ไม่นานมานี้เปรมกลับจากโรงเรียนและเล่าว่า เขาไม่ผ่านรอบสองของการประกวดสิ่งประดิษฐ์ แทนที่จะพูดกับลูกว่า “ไม่เป็นไร อย่าเสียใจเลย” ดิฉันเลือกที่จะถามลูกว่า “เสียดายใช่ไหม” (ก็หน้าลูกฟ้องสุดๆเลยว่าเสียดายตั๋วรางวัลไปกลับประเทศญี่ปุ่นขนาดไหน!) ตอนแรกเปรมบอกว่า “ไม่เป็นไรหรอก ไม่คิดว่าจะเข้ารอบอยู่แล้ว” ดิฉันจึงพูดเรียบๆว่า “เรามุ่งมั่นกับสิ่งนี้มาก พอไม่ได้ก็ผิดหวังเป็นเรื่องธรรมดา” เปรมจึงรู้สึกว่า อาการเซ็งๆนี่ก็ปกติสินะ และเริ่มบรรยายให้ฟังว่า รู้สึกอย่างไร และเสียดายขนาดไหน…
เคล็ดลับการฟังก็คือ ไม่แทรกความรู้สึกของลูกด้วย “คำปลอบโยน” เพราะคำปลอบใจในจังหวะนี้ ไม่ต่างจากคำพูดว่า “ลูกไม่ควรเสียใจ” หรือ “ลูกอ่อนแอมากที่เสียใจ” ระหว่างเปรมเล่า ดิฉันจึงทำตัวเหมือนเพื่อนรักนั่งฟังเพื่อนสนิทบรรยายความเศร้ายามอกหัก! ดิฉันไม่สอนอะไรลูกในตอนนี้ เพราะคำที่ลูกอยากได้ยินก็คือ “อื้ม มันน่าเสียดายเนอะ”…
- พูดเพื่อคิด
ข้อดีสุดๆของการรับฟังโดยไม่แทรกแซงความรู้สึกนึกคิดของลูกก็คือ “ลูกจะย่อยเหตุการณ์ผิดหวังนั้นด้วยตัวเอง ”แม้เราอาจรู้ว่า สิ่งใดเป็นสาเหตุทำให้ลูกต้องผิดหวัง แต่คำแนะนำผิดจังหวะของเรามีแต่จะทำให้ลูกเรียนรู้ว่า “เฮ้อ… ผิดหวังกับเรื่องนี้ก็แย่พอแระ ยังมาโดนทับถมเพิ่มอีก คราวหน้าไม่เล่าแล้ว! แง้…”
ดิฉันจึงปล่อยให้เปรมเล่าไปเรื่อยๆ หลังระบายความในใจหมดแล้ว เปรมจึงพูดขึ้นมาเองว่า “เสียดายจังตอนพรีเซนต์งาน ถ้าเปรมไม่ลืมหยิบอุปกรณ์อีกชิ้นไปนะ เปรมน่าจะเข้ารอบ” ตอนได้ยินลูกพูด ดิฉันรู้สึกคุ้มค่ามาก ที่กัดฟันไม่ชิงสอนลูกเสียก่อน (ฮ่าๆๆ) เพราะหลังระบาย “อารมณ์” ทิ้งไปหมดแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือ “เหตุผล” ที่ทำให้ต้องเจอกับความผิดหวังนั่นเอง… นี่คือ “บทเรียน” อันมีค่าที่เขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง เขาจึงจะเต็มใจใช้บทเรียนนี้ “สอนตัวเอง” ในอนาคตค่ะ
- พลาดเพื่อรู้
ตอนเรียนปริญญาตรี ดิฉันได้เอเกือบทุกวิชา พอได้บีก็แอบผิดหวังเล็กๆ เพราะชินที่จะ “ทำทุกอย่างได้ดั่งใจหวัง”จนกระทั่ง… เทอมแรกของการเรียนปริญญาโท ดิฉันสอบตก! ปฏิกิริยาแรกต่อความผิดหวังก็คือ นั่ง “หัวเราะอยู่คนเดียว” นานกว่าสองนาที! เพราะดิฉันเรียนรู้แล้วว่า “เออ! หัดพลาดซะบ้าง! ชีวิตมันต้องหลากหลาย!” ฮ่าๆๆ… ตั้งแต่นั้นมา จึงไม่ขยาดกับความผิดหวัง เอ้อ! มาสิ เจอกันก็ทักทายกัน คุยกันพอหอมปากหอมคอว่า ผิดหวังครั้งนี้หน้าตาเป็นไงจ๊ะ จากนั้นก็โบกมือบ๊ายบายกันไปซะ เพราะชีวิตนี้มีอะไรสนุกๆ ให้ทำอีกเยอะ!
ข่าวเศร้าเกี่ยวกับเด็กวัยรุ่นที่ผิดหวังแล้วทำร้ายตัวเองหรือคนในครอบครัว จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนว่า หากเราไม่ยอมรับความผิดหวัง และเห็นความผิดหวังเป็นศัตรูหรือสิ่งน่ารังเกียจ เราจะเลือกแก้ไขปัญหาด้วยการผลักไสความผิดหวังออกไป ซึ่งจริงๆแล้ว มันเป็นเพียงเหตุการณ์หนึ่งที่ “เข้ามา” แล้วก็ “ผ่านไป” เท่านั้น เราจึงควรปลูกฝังทัศนคติไม่กลัวความผิดหวังให้ลูกตั้งแต่เล็กค่ะ
หลังจากเปรมเล่าจบ ลูกมีหน้าตาสดใสและถามดิฉันว่า “เปรมจะเอาสิ่งประดิษฐ์นี้ไปให้คุณครูนะ เพราะคงไม่ได้ใช้แล้ว” ดิฉันตอบว่า “อื้ม แต่แม่ชอบนะ อยากเอาไปใช้ด้วย ขอได้ไหม” เปรมตาวาว รีบหยิบให้ทันทีด้วย “ความภูมิใจ”… จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เปรมยังคงสนุกกับการประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ เรื่อยๆ เพราะความผิดหวังครั้งนั้น ไม่ทำให้เขาท้อ แต่ทำให้เขาเรียนรู้ว่า…
“แม้เรื่องนี้จะเริ่มต้นด้วยความผิดหวัง แต่ก็จบลงด้วยความภูมิใจได้ครับ”
บทความโดย ชิดชนก ทองใหญ่ ณ อยุธยา