[Blogger พญ.พิชญา ตันธนวิกรัย] ปัญหาของลูกเรารุนแรงระดับไหน พ่อแม่จึงควรไปปรึกษาหมอ? - Amarin Baby & Kids

[Blogger พญ.พิชญา ตันธนวิกรัย] ปัญหาของลูกเรารุนแรงระดับไหน พ่อแม่จึงควรไปปรึกษาหมอ?

Alternative Textaccount_circle
event

สวัสดีค่ะ

ก่อนอื่นต้องขอทักทายคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และผู้ที่สนใจบล็อกนี้ทุกท่านนะคะ และเนื่องจากบทความนี้เป็นบทความแรก หมอจึงต้องขออนุญาตแนะนำตัวเองและบล็อกแห่งนี้ไว้คร่าวๆค่ะ

หมอเป็นจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นค่ะ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาปัญหาด้านอารมณ์ พฤติกรรม และพัฒนาการของเด็ก ตัวอย่างคนไข้ที่หมอดูแลก็มีทั้ง ครอบครัวของเด็กๆที่คุมอารมณ์ไม่ค่อยอยู่ เด็กๆ ที่มีเรื่องทุกข์ใจและวิตกกังวล เด็กๆ ที่ซน ขาดสมาธิ หรือเด็กๆที่มีปัญหาเรื่องพัฒนาการและการเรียนรู้ เป็นต้นค่ะ

ในการเขียนบล็อกนี้ หมอตั้งใจที่จะใช้พื้นที่ตรงนี้แบ่งปันประสบการณ์ ความรู้ และข้อคิดที่ได้จากการพบพูดคุยกับเด็กและครอบครัวที่ประสบปัญหา โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกๆครอบครัวที่เข้ามาอ่านค่ะ

ก่อนที่เราจะไปพบกับเรื่องราวจากห้องตรวจของหมอในบล็อกถัดไป วันนี้หมออยากจะมาตอบหนึ่งในคำถามยอดฮิต ซึ่งแม้ไม่ได้พบในห้องตรวจ แต่ก็เป็นคำถามที่คุณพ่อคุณแม่ถามกันเองอยู่ที่บ้านบ่อยๆ ว่า..

“เมื่อไหร่..ควรจะมาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ?”

เพราะในชีวิตของคนเราทั้งผู้ใหญ่และเด็กก็ล้วนมีเรื่องให้ไม่สบายใจ มีปัญหาให้คอยแก้อยู่เรื่อยใช่ไหมคะ ทีนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่าปัญหาที่เด็กในครอบครัวเราพบอยู่นั้น จำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา..

โดยทั่วไป เราอาศัยการพิจารณาจาก ความรุนแรงของปัญหา ร่วมกับปัจจัยต่างๆ ดังนี้ค่ะ

1. ปัญหานั้นเป็นอุปสรรคกับการใช้ชีวิตประจำวันของเด็ก หรือขัดขวางพัฒนาการและการเรียนรู้ตามปกติของเด็ก เช่น ปกติเราก็จะพบเด็กหลายๆคนที่ขี้กังวล แต่ถ้าเด็กบางคนกังวลจนไม่เป็นอันทำอะไร ต้องคอยถามซ้ำๆ ปลอบไม่หายซักที ก็เข้าข่ายที่ควรจะได้รับการดูแลช่วยเหลือค่ะ

2. ปัญหานั้นรบกวนคนอื่นๆในครอบครัวอย่างมาก จนกระทบความเป็นอยู่ปกติของครอบครัว เช่น เด็กที่กลัวการแยกจากจากผู้ปกครองมากๆ ร้องตาม โทรตามตลอด จนผู้ปกครองไม่เป็นอันทำอะไร ก็จัดว่าน่าเป็นห่วงค่ะ

3.ปัญหานั้นทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อตัวเด็กหรือคนรอบข้าง ข้อนี้ถึงพบไม่บ่อยแต่ต้องระวังเป็นที่สุดเลยค่ะ เช่น เด็กที่บ่นไม่อยากอยู่ อยากตาย หรือเด็กที่คุมอารมณ์ไม่ได้ ทำร้ายคนอื่น ถือว่าเป็นอาการเร่งด่วนที่ต้องได้รับความช่วยเหลือค่ะ

ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดในการประเมินปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กๆก็คือ เราจะต้องทำความเข้าใจมุมมองของเด็กที่มีต่อเรื่องนั้นๆ และไม่ตัดสินจากมุมมองของเราอย่างเดียวค่ะ

เพราะหลายๆครั้งทีเดียวที่ผู้ใหญ่ใช้มุมมองของตนเองตัดสินปัญหาของเด็กว่าเป็น “เรื่องเล็กน้อย” (เช่น “แค่โดนเพื่อนแกล้งที่โรงเรียน ไม่ใช่เรื่องใหญ่หรอก”) แต่สำหรับเด็กแล้ว มันอาจเป็นแผลลึกในใจของเขาก็ได้ค่ะ

อย่าลืมนะคะว่า “ปัญหา” เมื่อมันวางอยู่ตรงหน้าใคร ก็ย่อมใหญ่กว่าที่คนอื่นเห็นจากระยะไกลเสมอค่ะ

 

บทความโดย : พญ.พิชญา ตันธนวิกรัย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา

ภาพจาก : shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up