ทำให้เขามีความสุขหรือสอนให้เขามีความสุข
ผมเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนเวลาที่มองไปที่เจ้าตัวเล็กน่าจะมีความคิดอย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือ ถ้าองค์กรธุรกิจเขาต้อง Maximize Profit วัตถุประสงค์หลักสถาบันครอบครัวก็คงไม่น่าจะพ้น Maximize Happiness ให้เจ้าตัวเล็ก
ด้วยความรักและความสุขเวลาที่ได้เห็นเจ้าตัวเล็กมีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ มันจึงนำคุณพ่อคุณแม่ไปสู่ ‘กับดักความสุข’ (อันนี้เป็นศัพท์เทคนิคที่ผมคิดมาเองนะฮะ อย่าเอาไปอ้างอิงทางวิชาการใดๆ 555)
เจ้ากับดักความสุขที่เกิดขึ้นกับคุณพ่อคุณแม่เนี่ย มันเกิดจาก‘การเสพติดรอยยิ้ม’ ครับ รอยยิ้มของเจ้าตัวเล็กเนี่ยแหละฮะ และคุณพ่อคุณแม่จะมีอาการตรงข้ามคือ ‘เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง’ เมื่อเจ้าตัวเล็กเกิดอาการหน้าเบะ โดยจะเกิดอาการเคืองตา ต่อมน้ำตาเร่งขับน้ำตา บางรายอาจจะถึงขั้นหัวใจหวิวๆหวั่นไหวคล้ายจะเป็นลม
ดังนั้นวิธีการง่ายๆที่คุณพ่อคุณแม่มักจะนำมาใช้จัดการกับอาการดังกล่าวก็คือ ‘การจัดให้’ ไปจนถึง ‘จัดหนัก’ซึ่งการให้ทุกอย่างทุกครั้งที่เจ้าตัวเล็กร้องขอก็แน่นอนที่จะทำให้เจ้าตัวเล็กมีรอยยิ้ม หัวเราะชอบใจ ไปจนถึงออดอ้อน ซึ่งก็จะยิ่งให้คุณพ่อคุณแม่แพ้ทางเข้าไปอีก เช่น เจ้าตัวเล็กอยากเล่นของเล่น ก็จัดให้ ซึ่งบางครั้งบางเวลาอาจจะเล่นมากเกินไปแล้ว จนถึงเวลาทานข้าวแต่เจ้าตัวเล็กก็ยังไม่ยอมเลิก คุณพ่อคุณแม่ก็ยังตามใจเพราะ ไม่อยากเห็นน้ำตา หรือ หากเจ้าตัวเล็กกำลังติดจอมือถือ ดูนานเกินไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่กล้าขัดใจ กลัวลูกเบะ
และต่อให้สิ่งที่เจ้าตัวเล็กกำลังทำนั้น จะเป็นสิ่งที่ดี แต่หากตามใจกันไปทุกครั้งที่มีการร้องบางทีมันก็อาจจะไปเป็นการบ่มเพาะนิสัยบางอย่างที่เราไม่ปรารถนาหรือไม่ เช่น เอาแต่ใจ ไม่มีระเบียบวินัย
ลองยกตัวอย่างแบบนี้นะฮะ เราอยากส่งเสริมให้ลูกเล่นกอล์ฟ แล้วเจ้าตัวเล็กก็มีแววจะชอบซะด้วย ดังนั้น พอเจ้าตัวเล็กร้องขอจะไปเล่นกอล์ฟ คุณพ่อคุณแม่ก็จัดให้ไปซะทุกครั้ง ไม่ว่าจะต้องวุ่นวายกันขนาดไหน เพราะในใจคุณพ่อคุณแม่มองว่า การเล่นกอล์ฟเป็นเรื่องที่ดี และทำให้ลูกมีความสุข แต่อยากให้ลองนึกถึงอีกด้านว่า นั่นได้ เพาะนิสัยด้านอื่นตามมาด้วยหรือไม่ ในเมื่อฉันขอเล่นกอล์ฟทุกครั้ง แล้วต้องได้ เด็กก็จะเรียนรู้ว่าถ้าฉันขออย่างอื่น ก็ต้องได้ทุกครั้งเหมือนกันสิ… นี่ก็เป็นผลมาจาก กับดักความสุข และนี่คือสิ่งที่ผมเรียกว่าการ’ทำ’ให้เขามีความสุข
ผมได้มีโอกาสอ่านตอนหนึ่งจากเพจของ หมอภา www.facebook.com/Jeerapaprapaspong ซึ่งน่าสนใจทีเดียวฮะ คุณหมอบอกว่า
‘ส่วนใหญ่สมองของเด็กจะพัฒนาตอนหลังคลอด โดยเฉพาะสมองส่วนบนทำหน้าที่ คิดโดยใช้เหตุผล การยับยั้งชั่งใจ การวางแผน ฯลฯการที่เด็กๆแสดงความโกรธรุนแรงเอาแต่ใจ ปรี๊ด ลงไปนอนดิ้นไม่ใช่เพราะเค้าดื้อ ไม่เชื่อฟังเราแต่เป็นเพราะสมองส่วนบนที่ทำหน้าที่คิดโดยใช้เหตุผล ยังพัฒนาได้ไม่ดีพอสมองส่วนล่าง ที่กระตุ้นพฤติกรรมตามสัญชาตญาณและสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์จึงทำหน้าที่เด่นกว่า’
เมื่อได้อ่านของ หมอภา แล้ว ผมก็ตีความเองได้ 2-3 ประเด็น
1) การที่ลูกโกรธรุนแรงเอาแต่ใจ ตอนที่ยังเป็นเด็กเล็ก มันเป็นไปตามธรรมชาติการพัฒนาของสมอง แต่
2) เรามีหน้าที่สอนให้เขาใช้เหตุผล เรียนรู้การใช้เหตุผล และ
3) การตามใจ เอาแต่ใจทุกอย่าง นอกจากเราจะไม่ได้ทำหน้าที่ในข้อ 2) ให้ดี ยังไปส่งเสริมให้ข้อ 1) ให้มีความรุนแรงยิ่งขึ้น
ส่วนการ‘สอน’ให้เขามีความสุข ผมขอยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่งที่ครอบครัวเราใช้กับปูนปั้นครับ
ปูนปั้นก็เหมือนเด็กผู้ชายทั่วไป ที่ชอบรถไฟ แต่ปูนปั้นอาจจะชอบในระดับหลงไหลทีเดียว ตื่นนอน ก่อนนอน กินข้าว มักจะมีรถไฟติดมือเสมอ ทุกเช้าที่เราขับรถไปส่งปูนปั้นเราจะต้องข้ามทางรถไฟอยู่จุดนึง ซึ่งตั้งแต่เด็กจนถึงตอนนี้ปูนปั้นก็ข้ามมาเป็นพันครั้งแล้ว แต่ทุกครั้งที่รถเราจะถึงทางรถไฟเจ้าปูนปั้นก็ยังสนุกทุกครั้ง ทำเสียง ตึ้งตึ้ง ตึ้งตึ้ง ตอนเราขับข้ามทางรถไฟ ยิ่งวันไหนบังเอิญไปตรงเวลาที่รถไฟวิ่งผ่านโลกนี้มันช่างสดใสนัก
ช่วงที่ปูนปั้นไปโรงเรียนเดือนแรกๆ พอกลับมาบ้าน คงด้วยความคิดถึง เพราะไปโรงเรียนคงไม่มีทางรถไฟยาวๆ ให้เล่น กลับมาถึงบ้านก็จะขลุกแต่กับเจ้ารถไฟ พอจะเรียกไปอาบน้ำแปรงฟัน ดื่มนม อ่านหนังสือ เข้านอน ทุกอย่างยากขึ้นหมด
เราก็เลยตั้งกติกากับปูนปั้นในวันเย็นวันอาทิตย์วันหนึ่งว่า ‘ปะป๊าจะเก็บรถไฟนี้ขึ้น ให้ปูนปั้นเล่นได้เฉพาะเสาร์ อาทิตย์ ส่วนวันธรรมดาจะไม่ได้เล่น’ เขาก็ถามเหตุผล เราก็อธิบายให้ฟัง แล้วเขาก็อยากรู้รถไฟเขาจะไปอยู่ไหน เราก็ไม่โกหก บอกไปว่า ปะป๊าเก็บไว้ในบ้านนี้แหละ แต่ปูนปั้นหาไม่เจอหรอก แต่เสาร์ อาทิตย์จะได้เล่นตามปกติ
จากที่เรากังวลว่าเขาจะงอแง เขาก็ไม่งอแง เสาร์ อาทิตย์ ปูนปั้นก็ดีใจได้เล่นรถไฟ ซึ่งปะป๊าก็จะมาช่วยกันต่อรางรถไฟกับปูนปั้น พอผ่านไปสัก 2-3 สัปดาห์ ถึงเย็นวันอาทิตย์ปุ้บ ปูนปั้นก็จะมาเก็บรถไฟลงกล่อง ปะป๊าก็ไม่ต้องซ่อนแล้ว เอาวางที่ข้างล่างนั่นแหละ แล้วในวันธรรมดา บางทีปูนปั้นก็จะพูดเองว่า
“Papa will let PoonPun play the train on every Saturday and Sunday”
เห็นมั้ยครับว่า การ’สอน’ให้เขามีความสุข ไม่ง่ายนักแต่ก็ไม่ยากเกินไป การ’ทำ’ให้เขามีความสุข อาจจะง่ายแบบปัจจุบันทันด่วน แต่ในระยะยาว น่าคิดนะครับว่า
เมื่อเขาออกไปเผชิญโลก ใครจะคอยตามใจ และเข้าจะเข้าสังคมได้ดีเพียงใด
ติดตามเรื่องราวความน่ารักของครอบครัวน้องปูนปั้นได้ในคอลัมน์ FAMILY BLOGGER : ได้ทุกสัปดาห์แวะไปดู รอยยิ้มหวานฉ่ำ ที่มีแจกฟรีทุกวันได้ที่
www.facebook.com/Poonpun.Poonpoon นะครับ
บทความโดย: บรรทัดที่สิบเอ็ด (พ่อเอก-จิรัฏฐ์ สิริเฉลิมพงศ์)