[Blogger พ่อเอก-25] ปูนปั้น ตี๋น้อยอินเตอร์ - Amarin Baby & Kids
blog ครอบครัว

[Blogger พ่อเอก-25] ปูนปั้น ตี๋น้อยอินเตอร์

Alternative Textaccount_circle
event
blog ครอบครัว
blog ครอบครัว

          ถ้าบังเอิญวันหนึ่งคุณนั่งอยู่ในร้านอาหารเดียวกับครอบครัวเรา นั่งอยู่โต๊ะใกล้ๆกันคุณอาจจะได้ยินบทสนทนาบนโต๊ะอาหารของครอบครัวเราแล้วคุณอาจจะงงเล็กๆ จนต้องหันมามอ งพร้อมรอยยิ้มเล็กๆ

          ลองจินตนาการภาพตามบทสนทนาข้างล่างไปด้วยกันนะครับ มันน่าจะออกมาประมาณนี้ครับ

          หม่าม๊ากำลังตักอาหารให้เจ้าปูนปั้น

           “หม่ำๆ มั้ย ปูนปั้น … ทำไงก่อน” เจ้าปูนปั้นพยักหน้า ยกมือไหว้และตอบว่า “หม่ำ หม่ำ”

          และ พออาหารกำลังเข้าปาก เจ้าปูนปั้นก็จะพูดประกอบว่า “อ้ำ อ้ำ”

          จากนั้นก็จะได้ยินเสียงคุณยาย ถามขึ้นว่า “ปูนปั้น, โหว เส็ก มา”

          เจ้าปูนปั้นก็พยักหน้า หงึกๆ และก็ถึงคิวปะป๊าก็ถามว่า “ดู ยู วอนท์ ซัม มอร์, ปูนปั้น”

          แล้วเจ้าตัวยุ่งก็พยักหน้าพร้อมพูดว่า “หม่ำ หม่ำ”

          นั่นคือบทสนทนาและฉากชีวิตจริง ที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาในครอบครัวเรา คุณแม่เจ้าปูนปั้นกับผมตกลงกันตั้งแต่ตอนเจ้าปูนปั้นอยู่ในท้องแล้วว่า หม่าม๊าจะพูดภาษาไทยกับปูนปั้น ส่วนผมพูดภาษาอังกฤษ และแน่นอนภาษากวางตุ้งเป็นของคุณยาย (แหม่ ถ้าเป็นตอนสมัยคุณพ่อคุณแม่ของผม หรือ อากงกับคุณย่าเจ้าปูนปั้นนั่นแหละ ยังฟิตๆ เราจะได้มีภาษาแต้จิ๋วเข้ามาอีก)

          จริงอยู่ว่าพ่อแม่ทุกๆ ท่านก็คงจะเคยอ่านมาว่า เราสามารถพูดและสอนเจ้าตัวเล็กได้หลายๆ ภาษาพร้อมกัน เพราะเขาสามารถรับรู้และเรียนรู้ได้ แต่ในทางปฏิบัติบางทีเราก็สงสัยว่าเขาเข้าใจทุกภาษาจริงมั้ย

          ผมมาขอยืนยันคำตอบผ่านบทความวันนี้เลยนะฮะ ด้วยประสบการณ์หนึ่งปีครึ่งที่เจ้าปูนปั้นตัวป่วนมาอยู่กับเราเนี่ย เขาเรียนรู้ทั้ง 3 ภาษาได้จริงๆครับ

          ภาษาแรกที่เจ้าปูนปั้นได้ยินได้ฟังแน่นอนว่าเป็นภาษาไทย ซึ่งเขาคงเรียนรู้ได้ไม่ยากอยู่แล้ว เพราะได้ยินทุกวันจากทุกๆ คนรอบตัว ส่วนภาษาที่ 2 ที่เราเห็นชัดว่า เจ้าปูนปั้นเข้าใจคือภาษากวางตุ้งเพราะคุณยายเวลาไปรับเจ้าปูนปั้นกลับบ้านช่วงเวลาที่อยู่บนรถคุณยายจะพูดภาษากวางตุ้งกับเจ้าปูนปั้นตลอดแล้วเราก็จะเห็นว่าเขาตอบสนองอย่างไร ที่ชัดมากๆ ครั้งแรกคือตอนที่คุณยายพาเจ้าปูนปั้นที่เพิ่งหัดเดินได้ใหม่ๆ ไปหน้า ตี่จู๋เอี๊ยะ (ศาลเจ้าที่ในบ้าน) แล้วคุณยายพูดกับเจ้าปูนปั้นว่า

           “เฉง เฉง ก่ง ก๊ง” (เฉง แปลว่า ไหว้ / ก่งก๊ง คือ เจ้าที่)

ซึ่งเจ้าปูนปั้นก็ยกมือขึ้นไหว้ ตอนนั้นพวกเราสนุกกันใหญ่กับการสอนคำว่า ‘เฉงเฉง’ ให้เจ้าปูนปั้นไหว้เวลาจะรับของหรือเวลาเจอผู้ใหญ่ และจากนั้นเมื่อเจ้าปูนปั้นเริ่มหัดพูด ก็มีอีกหลายคำที่ปูนปั้นเข้าใจและหัดพูดตาม เช่น พอคุณยายจะให้ของก็จะบอกให้เจ้าปูนปั้นพูด “ต๊อแจ่” ซึ่งแปลว่าขอบคุณ แล้วเจ้าปูนปั้นจะตอบกลับมาว่า “แจ่”

          ในส่วนภาษาอังกฤษผมเองก็พูดกับเจ้าปูนปั้นด้วยภาษาอังกฤษตลอดเวลาแต่แรกๆ ก็ไม่แน่ใจว่า เขาจะเข้าใจมั้ย จนวันนึงผมเรียกเขา ให้มาหา“Come on, PoonPun” แล้วเจ้าปูนปั้นก็เดินมาหาผมจริงๆ ผมก็หันไปถามความเห็นหม่าม๊าว่า เขาน่าจะเข้าใจเนอะ แต่เราก็ยังไม่แน่ใจนัก จนช่วงขวบกว่าๆ ที่ผมเริ่มสอนเขาเยอะขึ้น คือ ไม่ใช่แค่พูดคุยแต่ผมจะบอกให้เขาทำโน่นทำนี่ เช่นผมจะให้เจ้าปูนปั้นไปหยิบของ ผมก็จะพูดกับเขาซ้ำๆ อดทนนิดนึงจนเขาทำ เช่น ผมจะให้เขาหยิบรถของเล่นให้ผม ผมก็จะพูดว่า  “Give your car to Papa” แล้วก็รอจนกว่าเขาจะหยิบให้ ถ้ายังไม่หยิบให้ ผมก็จะพูดซ้ำและรอจนกว่าเขาจะหยิบให้ ซึ่งชัดเจนว่า เขาเข้าใจ เพราะตอนนี้เวลาเขารื้อของเล่นออกมาเยอะๆ ผมก็มักจะบอกว่า “Put them back on the shelf” เขาก็จะหยิบกลับไปเก็บ ทุกวันนี้ผมก็คุยกับเขาด้วยภาษาอังกฤษ 100% ซึ่งเขาก็สื่อสารกับเราได้ดี

          ข้างบนเป็นประสบการณ์ที่ผมเอามาแบ่งปันกันฮะ ผมเองไม่เคยเรียนต่างประเทศดังนั้นผมว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลเรื่องสำเนียงเลย เพราะผมเอง เป็นภาษาอังกฤษที่ออก accent ไทยจ๋า และผมเองก็ไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษอะไรนักหนา ตอนเรียนปริญญาตรีวิศวะก็ได้แค่ C แต่ผมเชื่อว่าเรื่องสำเนียงเขาไปโรงเรียนก็คงหัดได้เอง เพราะถ้าผมมัวกังวลผมก็คงเสียโอกาสที่จะปลูกฝังให้ปูนปั้นรู้สึกว่าภาษาอังกฤษก็เป็นอีกหนึ่งภาษาติดตัวตามธรรมชาติเหมือนๆ กับภาษาไทยนั่นแหละ อาจจะมีคนแย้งว่า แบบนี้สำเนียงอังกฤษลูกแย่พอดี ก็แล้วแต่มุมมองนะฮะ เด็กมากมายพี่เลี้ยงพูดไทยไม่ชัด โตมาก็ไม่มีปัญหาอะไร มันคงเหมือนกับที่มีคุณหมอบางคนสอนว่าถ้าคุณพ่อคุณแม่ร้องเพลงไม่ตรงคีย์อย่าสอนเด็กร้องมันจะทำให้เด็กร้องเพี้ยน ถ้าอันนั้นเป็นเรื่องจริงเด็กที่หัดร้องลูกทุ่ง หมอลำ แต่เด็กคงร้องเพลงสากลไม่ได้ตอนโตเลยสินะ

          อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ผมคงต้องกล่าวว่า “ต๊อแจ่” และ “See you next week” ครับ

 

บทความโดย: บรรทัดที่สิบเอ็ด (พ่อเอก-จิรัฏฐ์ สิริเฉลิมพงศ์)

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up