ตอบข้อสงสัย หากหย่ากันแล้วอยากให้ลูกกลับมาใช้นามสกุลของแม่ หรือ ยังไม่จดทะเบียนแต่อยาก เปลี่ยนนามสกุลลูก จากเดิมเป็นนามสกุลพ่อให้กลับมาเป็นนามสกุลแม่ทำได้ไหม อย่างไร?
เปลี่ยนนามสกุลลูก กลับมาใช้นามสกุลของแม่ทำอย่างไร?
การ เปลี่ยนนามสกุลลูก จากเดิมที่ใช้นามสกุลของบิดาอยู่ ให้กลับมาใช้นามสกุลเดิมของมารดานั้น สามารถทำได้และไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก ทีมงาน Amarin Baby & Kids จึงได้รวบรวมกรณีต่าง ๆ ในการ เปลี่ยนนามสกุลลูก และวิธีการเปลี่ยนดังต่อไปนี้
กรณีที่ 1 การเปลี่ยนนามสกุลลูกหลังจดทะเบียนหย่า
ในกรณีที่มีการจดทะเบียนสมรสกัน ต่อมาได้หย่าร้างกัน หลังจากจดทะเบียนหย่าแล้ว คุณแม่ต้องการเปลี่ยนนามสกุลลูกจากเดิมเป็นนามสกุลของบิดา ให้กลับมาเป็นนามสกุลเดิมของมารดา สามารถทำได้หรือไม่?
ตอบ หากมีการหย่าต้องรู้ว่าอำนาจปกครองอยู่ที่ใคร
- ถ้าอำนาจปกครองอยู่ที่บิดา การขอใช้นามสกุลมารดาก็ต้องให้บิดามาให้ความยินยอมด้วย
- ถ้าอำนาจปกครองอยู่ที่มารดา การขอใช้นามสกุลของมารดาให้มารดายื่นขอใช้นามสกุลได้ ณ สำนักทะเบียนอำเภอ/เขต ที่บุตรมีชื่ออยู่
กรณีที่ 2 การเปลี่ยนนามสกุลลูกหลังจดทะเบียนหย่า อำนาจปกครองบุตรเป็นของมารดา แต่บิดาสลักหลังให้ค่าเลี้ยงดูบุตรอยู่
ตอบ กรณีที่บันทึกท้ายการหย่าระบุให้มารดามีอำนาจปกครองบุตรแต่ผู้เดียวนั้น มารดาสามารถไปติดต่อสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอใกล้บ้านเพื่อขอเปลี่ยนนามสกุลบุตรได้ทันที โดยไม่ต้องให้บิดาเด็กให้ความยินยอมแต่อย่างใด และไม่ต้องสนใจว่าบิดาเด็กจะส่งเสียเลี้ยงดูบุตรอยู่หรือไม่ ในวันไปเปลี่ยนควรนำใบหย่าติดตัวไปด้วย
กรณีที่ 3 การเปลี่ยนนามสกุลลูกในกรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ในใบเกิดมีชื่อบิดาเป็นพ่อของเด็ก แต่ติดต่อบิดาไม่ได้แล้ว
ตอบ หากติดต่อไม่ได้แนะนำให้เข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อออกเอกสารยืนยันว่าไม่สามารถติดตามตัวได้ เพื่อยื่นขอเปลี่ยนนามสกุลต่อไป
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
เอกสารที่ใช้ในการเปลี่ยนนามสกุลลูก
เอกสารที่ใช้ในการขอเปลี่ยนนามสกุลบุตร ได้แก่
- สูติบัตรของบุตร
- สำเนาทะเบียนบ้านที่บุตรมีชื่ออยู่
- หลักฐานการจดทะเบียนหย่า
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ยื่นคำขอ
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อสกุล (ช.2) หรือใบเปลี่ยนชื่อสกุล (ช.5) หรือบันทึกข้อตกลงในการใช้ชื่อสกุล โดยให้นำใบเกิดของลูกไปยืนยันตัวตนกับเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม
ค่าธรรมเนียม : ฉบับละ 100 บาท กรณีการออกใบแทน ฉบับละ 25 บาท
ยื่นคำร้องได้ที่ฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตที่ผู้ยื่นคำขอมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
เอกสารที่ใช้ในการขอเปลี่ยนนามสกุล (ภรรยา) ในกรณีสิ้นสุดการสมรส
เอกสารที่ใช้ในการขอเปลี่ยนนามสกุล กรณีสิ้นสุดการสมรส ได้แก่
- บัตรประจำตัวประชาชนผู้ยื่นคำขอ
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- บันทึกข้อตกลงการใช้ชื่อสกุล กรณีคู่สมรสประสงค์จะใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือหลักฐานสิ้นสุดการสมรส หรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น สูติบัตร, สำเนาทะเบียนรับบุตรบุญธรรม, สำเนาทะเบียน รับรองบุตร ฯลฯ
ค่าธรรมเนียม
- การเปลี่ยนชื่อสกุลครั้งแรกเมื่อจดทะเบียนสมรส ไม่เสียค่าธรรมเนียม
- การเปลี่ยนชื่อสกุลเพราะการสมรสสิ้นสุด ไม่เสียค่าธรรมเนียม
- การเปลี่ยนชื่อสกุลภายหลังการจดทะเบียนสมรสครั้งต่อๆ ไป ฉบับละ 50 บาท
- การเปลี่ยนชื่อสกุลเพราะเหตุอื่นๆ ฉบับละ 100 บาท
ยื่นคำร้องได้ที่ฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตที่ผู้ยื่นคำขอมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
และสำหรับกรณีที่บุตรบรรลุนิติภาวะแล้ว คืออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ สามารถตัดสินใจได้เองว่าต้องการที่จะใช้นามสกุลพ่อหรือแม่ จึงสามารถยื่นคำร้องเพื่อขอเปลี่ยนนามสกุลได้ด้วยตนเองเลย ไม่จำเป็นต้องดูว่าอำนาจการปกครองอยู่ที่ใคร
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
แจ้งเกิดลูก ไม่มีพ่อ ไม่ระบุชื่อพ่อได้ไหม? อนาคตจะมีปัญหาหรือไม่?
8 เคล็ดลับ สู่การเป็น Single Momอย่างมืออาชีพ!
คุณแม่ควรรู้ไว้!! ประโยชน์ของ ทะเบียนสมรส ที่คุณอาจไม่เคยรู้
ไม่จดทะเบียนสมรส ลูกเป็นของใคร ถ้าพ่อแม่เลิกกัน?
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, www.decha.com, สำนักงานเขตบางกะปิ, ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐฯ สายด่วน 1111
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่