หลังจากหย่าแล้ว แม่ต้องการ เปลี่ยนนามสกุลลูก จากเดิมเป็นนามสกุลของบิดา มาเป็นนามสกุลของมารดา สามารถทำได้หรือไม่ ทำอย่างไร
เปลี่ยนนามสกุลลูก หลังหย่า/แยกทาง ทำได้ไหม อย่างไร?
หลังจากแต่งงาน มีบุตรกันแล้ว หากชีวิตคู่ไม่เป็นอย่างที่หวังไว้ การแยกทาง การหย่า จึงเป็นทางออกของปัญหา แต่สำหรับลูกน้อยแล้ว ความเป็นบิดาและมารดายังคงอยู่ คุณพ่อคุณแม่ก็ยังมีความรักให้ลูกอย่างเต็มเปี่ยม แต่หากการเลิกราไม่เป็นไปด้วยดี แม่ ๆ หลายคนก็อยากจะ เปลี่ยนนามสกุลลูก ให้กลับมาใช้นามสกุลเดิมของตนเอง แต่การ เปลี่ยนนามสกุลลูก นั้นสามารถทำได้ง่ายหรือยากแล้วแต่กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน
บุตรที่เกิดจาก สามี ภรรยา ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ย่อมเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของมารดา (ภรรยา) แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น เมื่อเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของมารดา มารดาจึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแต่เพียงผู้เดียว มีสิทธิกำหนดที่อยู่ของบุตรได้ รวมทั้งการใช้อำนาจปกครองในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม และมีสิทธิที่จะเปลี่ยนนามสกุลของบุตรได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบิดานอกกฎหมาย
มาตรา 1546 เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา 1547 เด็กที่เกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง หรือบิดดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร
กรณีที่ 2 สามีภรรยาไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่พ่อจดทะเบียนรับรองบุตร
สามีภรรยาไม่ต้องการจดทะเบียนสมรส แต่ต้องการให้บุตรเป็นบุตรตามกฎหมายของบิดา บิดาต้องยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตร
วิธีการจดทะเบียนรับรองบุตร
การจดทะเบียนรับรองบุตรนั้น บิดาเป็นผู้ยื่นคำร้อง ณ สำนักทะเบียน กิ่งอำเภอ หรือสำนักงานเขต โดยใช้พยาน 2 คน และเอกสาร 3 อย่าง ได้แก่
- บัตรประจำตัวประชาชนของบิดา มารดา
- สูติบัตรของบุตร
- สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านของบิดา มารดา และบุตร
การจดทะเบียนรับรองบุตรภายหลังจากการแจ้งเกิดนั้นทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากมารดา และเด็ก เมื่อเด็กยังเป็นผู้เยาว์ไร้เดียงสา ยังตัดสินใจด้วยตัวเองไม่ได้ว่ายินยอมหรือไม่ ต้องยื่นร้องต่อศาลให้มีคำพิพากษาให้บิดาจดทะเบียนรับรองบุตรไปแสดง
จดทะเบียนรับรองบุตรภายหลังแจ้งเกิด
เมื่อบิดาจดทะเบียนรับรองบุตรแล้ว ภายหลังมีการแยกทางเกิดขึ้น แม้อำนาจการปกครองบุตรเป็นของมารดาฝ่ายเดียว แต่มาตรา 1567 ผู้ใช้อำนาจปกครอง มีสิทธิ
- กำหนดที่อยู่ของบุตร
- บุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน
- ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป
- เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้น ผู้ใช้อำนาจปกครองจึงไม่สามารถใช้สิทธินอกจากที่บัญญัติไว้ใน มาตรา ๑๕๖๗ (๑) – (๔) ได้ เมื่อมารดาประสงค์จะเปลี่ยนชื่อตัว/ชื่อสกุลให้บุตรผู้เยาว์จึงต้องได้รับความยินยอมจากบิดาก่อน นายทะเบียนท้องที่จึงจะสามารถดำเนินการให้ได้
กรณีที่ 3 สามีภรรยาจดทะเบียนสมรสกัน
ในกรณีที่สามีภรรยาจดทะเบียนสมรสกัน มีบุตรด้วยกัน ภายหลังมีการหย่าร้างเกิดขึ้นอำนาจปกครองบุตรอยู่กับมารดาฝ่ายเดียว เมื่อมารดาประสงค์จะเปลี่ยนชื่อตัว/ชื่อสกุลให้บุตรผู้เยาว์จึงต้องได้รับความยินยอมจากบิดาก่อน นายทะเบียนท้องที่จึงจะสามารถดำเนินการให้ได้เช่นกัน
กรณีที่ 4 หลังหย่า/แยกทางแล้ว ต้องการให้ลูกใช้นามสกุลของพ่อใหม่
หลังจากจดทะเบียนหย่า หรือแยกทางกันแล้ว(ในกรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส) แล้วแต่งงานใหม่ หากต้องการให้ลูกเปลี่ยนมาใช้นามสกุลของพ่อใหม่ สามารถทำได้ 2 กรณีคือ
-
ให้สามีใหม่รับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม
การยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม สามารถยื่นคำร้องได้ที่ฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตแห่งใดก็ได้ โดยคุณสมบัติของผู้จดทะเบียน มีดังนี้
- ผู้จะขอรับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และต้องมีอายุมากกว่าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม อย่างน้อย 15 ปี
- ผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี ผู้นั้นต้องให้ความยินยอมด้วย
- ผู้จะขอรับบุตรบุญธรรมและผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมที่มีคู่สมรสต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสด้วย
- กรณีผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมเป็นผู้เยาว์ต้องได้รับอนุมัติให้จดทะเบียนจากคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมก่อน
หลักฐาน
- บัตรประจำตัวของผู้ร้อง
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- กรณีบุตรบุญธรรมเป็นผู้เยาว์ ต้องใช้หนังสืออนุมัติให้รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมจากคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (กรุงเทพมหานครหรือชาวต่างประเทศที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยยื่นเรื่องขอหนังสืออนุมัติ ฯ ได้ที่ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ต่างจังหวัด ยื่นเรื่องได้ที่ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด)
- กรณีบุตรบุญธรรมหรือผู้รับบุตรบุญธรรมมีคู่สมรส คู่สมรสต้องให้ความยินยอม หากไม่สามารถมาให้ความยินยอมด้วยตนเองให้ใช้หนังสือให้ความยินยอม
- กรณีการอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ต้องใช้คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลและใบแสดงคดีถึงที่สุด
- พยานอย่างน้อย 2 คน
2. การใช้ชื่อสกุลร่วมกับเจ้าของชื่อสกุล
การขอร่วมใช้ชื่อสกุล มีขั้นตอนดังนี้
เอกสารที่ต้องใช้สำหรับเจ้าของผู้จดทะเบียนชื่อสกุล
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- บัตรประจำตัวประชาชน
- หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนชื่อสกุล(แบบ ช.2)
- หลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น สูติบัตร, สำเนาทะเบียนรับบุตรบุญธรรม, สำเนาทะเบียน รับรองบุตร ฯลฯ
เอกสารที่ต้องใช้สำหรับผู้ขอร่วมชื่อสกุล
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- บัตรประจำตัวประชาชน
- หนังสืออนุญาตให้ร่วมใช้ชื่อสกุล
ขั้นตอนการติดต่อ
เจ้าของผู้จดทะเบียนชื่อสกุล ยื่นคำขอตามแบบ ช.5 ต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน พร้อมหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนชื่อสกุล (ช.2) นายทะเบียนท้องที่ ตรวจสอบคำขอหลักฐานการจดทะเบียนชื่อสกุล เมื่อเห็นว่าถูกต้อง จะพิจารณา อนุญาตและออกหนังสืออนุญาต ให้ร่วมใช้ชื่อสกุล ตามแบบที่กรมการปกครองกำหนดให้แก่เจ้าของ ชื่อสกุลเพื่อมอบให้ผู้ที่จะขอร่วมใช้ชื่อสกุล
ผู้ขอร่วมใช้ชื่อสกุลยื่นคำขอตามแบบ ช.1 ต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน พร้อมหนังสือ อนุญาตให้ร่วมใช้ชื่อสกุล นายทะเบียนตรวจสอบคำขอและหลักฐาน การอนุญาตเมื่อเห็นว่าถูกต้อง จะพิจารณาอนุญาตและออกหนังสือสำคัญ แสดงการอนุญาตให้แก่ผู้ขอ และเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 50 บาท ผู้ขอนำหนังสือสำคัญไปขอแก้ไขรายการในทะเบียนบ้านและหลักฐานอื่นที่ เกี่ยวข้องรวมทั้งขอเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน
เอกสารที่ใช้ในการเปลี่ยนนามสกุลลูก
เอกสารที่ใช้ในการขอเปลี่ยนนามสกุลบุตร ได้แก่
- สูติบัตรของบุตร
- สำเนาทะเบียนบ้านที่บุตรมีชื่ออยู่
- หลักฐานการจดทะเบียนหย่า
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ยื่นคำขอ
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อสกุล (ช.2) หรือใบเปลี่ยนชื่อสกุล (ช.5) หรือบันทึกข้อตกลงในการใช้ชื่อสกุล โดยให้นำใบเกิดของลูกไปยืนยันตัวตนกับเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม
ค่าธรรมเนียม : ฉบับละ 100 บาท กรณีการออกใบแทน ฉบับละ 25 บาท
ยื่นคำร้องได้ที่ฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตที่ผู้ยื่นคำขอมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
เอกสารที่ใช้ในการขอเปลี่ยนนามสกุล (ภรรยา) ในกรณีสิ้นสุดการสมรส
เอกสารที่ใช้ในการขอเปลี่ยนนามสกุล กรณีสิ้นสุดการสมรส ได้แก่
- บัตรประจำตัวประชาชนผู้ยื่นคำขอ
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- บันทึกข้อตกลงการใช้ชื่อสกุล กรณีคู่สมรสประสงค์จะใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือหลักฐานสิ้นสุดการสมรส หรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น สูติบัตร, สำเนาทะเบียนรับบุตรบุญธรรม, สำเนาทะเบียน รับรองบุตร ฯลฯ
ค่าธรรมเนียม
- การเปลี่ยนชื่อสกุลครั้งแรกเมื่อจดทะเบียนสมรส ไม่เสียค่าธรรมเนียม
- การเปลี่ยนชื่อสกุลเพราะการสมรสสิ้นสุด ไม่เสียค่าธรรมเนียม
- การเปลี่ยนชื่อสกุลภายหลังการจดทะเบียนสมรสครั้งต่อๆ ไป ฉบับละ 50 บาท
- การเปลี่ยนชื่อสกุลเพราะเหตุอื่นๆ ฉบับละ 100 บาท
ยื่นคำร้องได้ที่ฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตที่ผู้ยื่นคำขอมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
สำหรับแม่ ๆ ที่ยังสงสัยว่าการ เปลี่ยนนามสกุลลูก ในกรณีของตนเองนั้น ทำได้หรือไม่ ควรทำอย่างไร สามารถติดต่อสำนักงานเขตใกล้บ้านได้เลยค่ะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
แจ้งเกิดลูก ไม่มีพ่อ ไม่ระบุชื่อพ่อได้ไหม? อนาคตจะมีปัญหาหรือไม่?
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานเขตบางกะปิ, กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, www.bora.dopa.go.th, www.admincourt.go.th, www.peesirilaw.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่