สิทธิการรักษาพยาบาลที่ทุกคนรู้จักกันดีในชื่อว่า “ สิทธิบัตรทอง ” นั้น บางคนอาจเคยได้ใช้ แต่หลายๆ คนก็ไม่เคยใช้ ดังนั้นเมื่อถึงเวลาก็อาจมีหลายคำถามที่เกิดขึ้นมากมายเกี่ยวกับสิทธิต่างๆในการใช้บัตรทอง … ดังนั้น Amarin Baby & Kids จึงได้รวบรวมคำถามที่คนอยากรู้มากที่สุด 10 ข้อ เกี่ยวกับบัตรทองมาไว้ที่นี่แล้ว เผื่อว่าวันไหนคุณพ่อคุณแม่อาจจำเป็นต้องใช้ขึ้นมา จะได้ทราบว่าสิทธิบัตรทองนั้นมีประโยชน์ และข้อจำกัดในการใช้อย่างไรบ้างค่ะ
1. สิทธิบัตรประกันสุขภาพ, สิทธิบัตรทอง และสิทธิ 30 บาท แตกต่างกันอย่างไร?
ทั้ง 3 สิทธิเป็นสิทธิชนิดเดียวกัน แตกต่างกันแค่ชื่อเรียกเท่านั้น โดยเป็นสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุข เช่น การรักษาพยาบาล การป้องกันโรคสำหรับบุคคลที่ไม่มีสิทธิประกันสังคม หรือสวัสดิการของข้าราชการ / รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐอื่นๆ
เริ่มแรกเรียกสิทธินี้ว่า สิทธิ 30 บาท เพราะเป็นนโยบาย 30 รักษาทุกโรค บัตรจะเป็นกระดาษอ่อนธรรมดา ต่อมาได้ออกเป็นบัตรสีเหลืองทองเคลือบพลาสติก จึงเรียกว่าสิทธิบัตรทอง และปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นที่มาของสิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้านั่นเอง
2. ประชาชนทุกคนสามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ใช่หรือไม่?
คนไทยทุกคนที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และไม่มีสิทธิประกันสังคม หรือสวัสดิการของข้าราชการ / รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐอื่นๆ สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้
3. หากจะใช้สิทธิบัตรทองต้องทำอย่างไร?
- กรณีใช้สิทธิที่หน่วยบริการที่มีสิทธิอยู่สามารถนำบัตรประชาชนของตนเองไปติดต่อที่โรงพยาบาล หรือ ศูนย์บริการสาธารณสุขได้เลย
- กรณีใช้สิทธิข้ามเขตจะใช้สิทธิได้ในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต โดยใช้สิทธิได้ 3 วัน (72 ชั่วโมง)
4. สามารถเช็คสิทธิรักษาพยาบาลได้ที่ไหนบ้าง?
- ติดต่อด้วยตนเองที่ สถานีอนามัย / โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำหรับในกทม.สามารถติดต่อสำนักงานเขตของกทม.ได้
- ระบบโทรศัพท์อัตโนมัติ โทร. 1330 กด 2 (ค่าบริการครั้งละ 3 บาท)
- เว็บไซต์ www.nhso.go.th
- App สิทธิ 30 บาท ทั้งระบบ IOS และ Android
5. สิทธิบัตรทองคุ้มครองค่าใช้จ่ายประเภทใดบ้าง?
- บริการวางแผนครอบครัว ได้แก่ ให้คำแนะนำปรึกษาคู่สมรส บริการคุมกำเนิด
- การคลอดบุตร รวมกันไม่เกิน 2 ครั้ง (กรณีที่บุตรมีชีวิตอยู่)
- ดูแลสุขภาพหญิงมีครรภ์ ทารกแรกเกิด พัฒนาการของเด็ก
- วัคซีนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคตามนโยบายรัฐ
- คัดกรองความเสี่ยง เช่น ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจมะเร็งปากมดลูก / มะเร็งเต้านม
- ยาต้านไวรัสเอดส์เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก
- บริการทันตกรรม
- การตรวจ วินิจฉัย และรักษา โรคทั่วไปเช่น ไข้หวัด จนถึงโรคเรื้อรัง / โรคเฉพาะทางเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง(เช่น ผ่าตัด, ฉายแสง, เคมีบำบัด) ไตวายเรื้อรัง(เช่น ล้างไตผ่านทางช่องท้อง, ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม, ผ่าตัดปลูกถ่ายไต) เอดส์ ผ่าตัดตา ต้อกระจก ผ่าตัดหัวใจ เป็นต้น รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
- ค่ายาและเวชภัณฑ์ ตามกรอบบัญชียาหลักแห่งชาติ และยาที่มีค่าใช้จ่ายสูง ตามประกาศของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
- ค่าอาหารและค่าห้อง ระหว่างพักรักษาตัว ณ หน่วยบริการ
- การจัดการส่งต่อผู้ป่วย
- บริการแพทย์แผนไทย
- บริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ เช่น กายภาพบำบัด จิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด กิจกรรมบำบัด ฟื้นฟูการได้ยิน / การมองเห็น และรับอุปกรณ์เครื่องช่วยตามประเภทความพิการได้ตามเกณฑ์ที่ สปสช.กำหนด