ผมเคยเขียนเรื่อง โรคซึมเศร้า ลงในนิตยสาร Amarin Baby & Kids มาแล้ว ขอเอามาปรับแต่งและลงอีกรอบเพราะช่วงนี้ข่าวคราวนักเรียนนักศึกษาพาเลือกตัดสินใจจากโลกใบนี้ไปด้วยการฆ่าตัวตายเข้ามาถี่จนน่าตกใจ และโรคซึมเศร้า ทั้งที่รู้ตัวและแฝงก็เป็นหนึ่งในสาเหตุหลัก
เมื่อก่อนเวลาที่เราได้ยินคำว่า โรคซึมเศร้า เราจะนึกถึงภาพคนในวัยทำงาน ที่มีความเครียดและปัญหาต่างๆ รุมเร้า หรือผู้สูงวัยที่ปรับตัวกับชีวิตบั้นปลายไม่ได้ แต่ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีพัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วแต่ human touch กลับเดินสวนทาง ทุกวันนี้เราจึงเห็นข่าวคนอายุน้อยลง ตัดสินใจจากโลกนี้ไป เพราะ โรคซึมเศร้า ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็กต้องหันมาสนใจการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นกับลูกเราเสียแล้ว
ด้วยการแข่งขันที่สูงขึ้นทำให้คุณพ่อคุณแม่อดไม่ได้ที่จะเงี่ยหูฟังว่าลูกเพื่อนเก่งกว่าลูกเราตรงไหน เทคโนโลยที่ทันสมัยจนทำให้เรารู้สึกว่าสัมผัสเสมือนนั้นเพียงพอแล้ว และความเพลิดเพลินกับหน้าจอที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกว่า การปล่อยลูกไว้ตรงนั้น ทำให้มีเวลาไปจัดการสิ่งอื่นได้บ้าง แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นต้นเหตุของช่องว่างระหว่างคุณพ่อคุณแม่และคุณลูก ผมเคยเขียนไว้ว่า ‘อย่าให้ช่องว่างกว้างกว่าอ้อมกอด’ และนั่นคือวิธีที่จะทำให้ลูกไม่เป็น โรคซึมเศร้า
4 คาถาเลี้ยงลูกไม่ให้เป็น โรคซึมเศร้า
1. ปล่อยให้เด็กได้เติบโตเรียนรู้แบบเด็ก
วิธีที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้แบบมีความสุข คือ การเล่น ซึ่งการเล่นในที่นี้หมายถึง การได้เคลื่อนไหวร่างกาย การได้สัมผัสกับโลก ไม่ใช่การเล่นเกมส์ผ่านหน้าจอ (ผมไม่ได้แอนตี้เทคโนโลยี ทุกวันนี้ปูนปั้นก็ได้ดูบ้างตามที่ตกลงกันก่อน ดูในสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่เขาชอบ ในระยะเวลา 5-10 นาทีตามที่ตกลงกัน เพราะเขาโตพอแล้ว เช่น ดูคลิปการ์ตูนสอนเรื่องยานพาหนะต่างๆ) และไม่ใช่การเรียนรู้ผ่านห้องสี่เหลี่ยม สำหรับปูนปั้นทุกวันหยุดจะเป็นวันของเขา ปูนปั้นจะได้ เล่นยิม เรียนว่ายน้ำ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เขาไปดูแล้วขอเรียน (เล่น) เอง นอกจากนั้นปูนปั้นจะได้ขี่จักรยาน รดน้ำต้นไม้ อาบน้ำสุนัข ขุดทราย เอาชอล์กขีดพื้น หรืออะไรก็ตามที่เขาอยากเล่น รวมไปถึงการท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ เคยมีคุณครูเคยมาถามผมว่า ส่งลูกไปติวที่ไหน เพราะคุณครูเห็นว่าปูนปั้นเป็นเด็กที่พร้อมเรียนรู้ แต่เราไม่เคยแม้จะคิดส่งปูนปั้นไปติวที่ไหนเลย ผมไม่เคยเปรียบเทียบลูกตัวเองกับใคร เพราะเด็กทุกคนมีความถนัดต่างกัน แต่เขาจะค่อยๆ เรียนรู้ไปทันกันเมื่อเขาพร้อมทั้งกายและใจ และความพร้อมไม่ได้มาจากการส่งไปติว แต่มาจากความสนุกที่พร้อมจะเรียนรู้ ที่ทำให้เขาไม่เครียดไม่กดดันก่อนวัยอันควร