อาหาร 5 หมู่ เป็นอาหารที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน การทานอาหารไม่ครบหมู่ในวัยเด็กที่กำลังเจริญเติบโตนั้น อาจทำให้ลูกเตี้ยกว่าเพื่อนถึง 20 เซนติเมตร!!
วิจัยชี้! เด็กที่กิน อาหาร 5 หมู่ ไม่ครบ อาจเตี้ยกว่าเพื่อน 20 ซม.
อาหารหลัก 5 หมู่ คือ อาหารที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันรวม 5 ชนิด โดยสารอาหารที่เหมือนกันจะถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน และร่างกายของคนเราก็ต้องการสารอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ หรือ 5 ชนิด ในแต่ละวัน เพราะไม่มีอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งที่สามารถจะให้สารอาหารได้ครบทั้ง 5 หมู่ โดยเราสามารถแบ่งอาหารออกเป็นหมู่หลัก ๆ ได้ 5 หมู่ ได้แก่
- โปรตีน (เนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่ว)
- คาร์โบไฮเดรต (ข้าว แป้ง น้ำตาล เผือก มัน)
- เกลือแร่หรือแร่ธาตุ (พืชผัก)
- วิตามิน (ผลไม้)
- ไขมัน (ไขมันจากพืชและสัตว์)
โดยอาหารแต่ละหมู่นั้นให้ประโยชน์ต่อร่างกายต่างกัน มีคุณค่าทางโภชนาการที่แตกต่างกัน ดังนั้นการทานอาหารเพียงหมู่ใดหมู่หนึ่ง หรือการทานอาหารไม่ครบหมู่ จะทำให้ร่างกายไม่ได้รับประโยชน์จากหมู่อาหารที่ไม่ได้ทานได้ และหากขาดสารอาหารชนิดนั้นนานวันเข้า ก็จะเกิดความไม่สมดุลของระบบการทำงานของร่างกาย และจะส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้
และสำหรับเด็กที่อยู่ในวัยเจริญเติบโต วัยที่ต้องการสารอาหารหลากหลายชนิดเพื่อนำไปพัฒนาร่างกาย หากมีพฤติกรรม เลือกกิน กินยาก กินอาหารเดิม ๆ ซ้ำ ๆ กินเยอะแต่กินไม่หลากหลาย ก็อาจทำให้เสี่ยงต่อการกินอาหารไม่ครบ 5 หมู่ได้ ซึ่งนอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูกแล้ว ในวัยที่กำลังเจริญเติบโตนั้น ยังมีอีก 1 ข้อเสียที่เกิดจากการทาน อาหาร 5 หมู่ ไม่ครบ คือ อาจทำให้เตี้ยกว่าเพื่อนถึง 20 เซนติเมตร ความสูงมีความสัมพันธ์อย่างไรกับอาหาร? มาดูรายละเอียดงานวิจัยกันค่ะ
วิจัยชี้! เด็กที่กินอาหารไม่ครบหมู่ อาจเตี้ยกว่าเพื่อน 20 ซม.
วิจัยนี้จัดทำโดย Imperial College London ในประเทศอังกฤษ และได้ตีพิมพ์ใน The Lancet โดยวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับส่วนสูงและน้ำหนักของเด็กและวัยรุ่นวัยเรียน 65 ล้านคนใน 193 ประเทศ ได้พบความแตกต่างของความสูงของเด็กที่สูงที่สุด เทียบกับเด็กที่เตื้ยที่สุด พบว่ามีความสูงแตกต่างกันถึง 20 เซนติเมตร โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างของความสูงนี้ คือ อาหาร
ตัวอย่างเช่น ความสูงของเด็กผู้หญิงอายุ 19 ปีในบังกลาเทศและกัวเตมาลา (ประเทศที่มีเด็กหญิงตัวเตี้ยที่สุดในโลก) จะมีความสูงเท่ากับเด็กหญิงอายุ 11 ปีโดยเฉลี่ยในเนเธอร์แลนด์ (ประเทศที่มีเด็กชายและเด็กหญิงสูงที่สุด) จากตัวอย่างนี้ จะเห็นได้ว่าเด็กที่อยู่ในประเทศที่ทำให้มีโอกาสในการขาดสารอาหารและการทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่นั้น มีส่วนสูงเทียบเท่ากับเด็กที่มีอายุน้อยกว่าถึง 8 ปี ที่อยู่ในประเทศที่มีการสรรหาอาหารให้ประชากรได้อย่างทั่วถึง
การวิจัยนี้ แสดงให้เห็นว่า โภชนาการในวัยเด็กเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดอาหาร การทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่นั้น อาจขัดขวางการเจริญเติบโต ทำให้เด็กเตี้ย และอาจทำให้เป็นโรคอ้วนในวัยเด็ก ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กไปตลอดชีวิต
แคลเซียม ไม่ได้ทำให้ตัวสูง แค่กินครบ 5 หมู่ ก็สูงและแข็งแรงได้
แคลเซียม คือแร่ธาตุ ที่มีความสำคัญอย่างมากต่อสุขภาพร่างกาย เป็นส่วนประกอบของกระดูก และฟัน ทำให้โครงสร้างเหล่านี้มีความแข็งแรง แคลเซียมช่วยให้เลือดแข็งตัว ช่วยในการทำงานของระบบประสาทในส่วนของกล้ามเนื้อ ช่วยควบคุมการยืด และหดตัวของกล้ามเนื้อในร่างกายตามส่วนต่าง ๆ และกระตุ้นการทำงานของโปรตีนที่เป็น corboxylated-glutamic acid ให้จับเข้ากับแคลเซียม Hydroxyapatite เพื่อทำหน้าที่สร้าง และสลายกระดูก ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของมวลกระดูกใหม่ ๆ
ในร่างกายของเราประกอบด้วย แคลเซียมมากกว่า 1,200 กรัม เกือบ 55 เปอร์เซ็นต์ พบได้ในกระดูก และฟัน จะจับตัวร่วมกับฟอสฟอรัส เรียกว่า “Calcium Phosphates” แคลเซียม ไม่ได้อยู่แค่ในส่วนของกระดูก และฟันเท่านั้น ยังสามารถพบ แคลเซียม ได้ในเลือด ซึ่งจับตัวอยู่กับโปรตีน และพบแคลเซียม อิสระล่องลอย ทำหน้าที่อยู่ภายในร่างกายอีกด้วย
แคลเซียม เพิ่มความสูงได้จริงหรือ?
แร่ธาตุที่สำคัญต่อระบบร่างกายของเรา ถือว่าเป็นแร่ธาตุที่สำคัญ ที่ส่งผลต่อสุขภาพที่ดี เราจำเป็นต้องบริโภค แคลเซียม เพื่อช่วยให้กระดูกแข็งแรง และทำให้สารสื่อประสาทระหว่างสมอง และอวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้ปกติ แคลเซียมในรูปแบบของอาหารเสริม นำมากินเพื่อที่จะเพิ่มความสูง ซึ่งแท้จริงแล้ว การบริโภค แคลเซียมอย่างเดียวนั้น ไม่ได้ทำให้ส่วนสูงเพิ่มขึ้น แต่จะต้องทานร่วมกับโปรตีน และจะต้องเป็นโปรตีนที่ได้จากพืชตระกูลถั่วเท่านั้น รวมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอและการออกกำลังกายร่วมด้วย จึงจะทำให้สูงขึ้นได้
จึงกล่าวได้ว่าสารอาหารที่สามารถช่วยเพิ่มความสูงได้นั้นก็คือ “โปรตีน” นั้นเอง เพราะหน้าที่และประโยชน์หลัก ๆ ของโปรตีน คือ การช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกาย ซึ่งโปรตีนจะถูกนำไปสร้างกล้ามเนื้อ กระดูก เลือด เม็ดเลือด ผิวหนัง น้ำย่อย ฮอร์โมน น้ำนม รวมไปถึงการสร้างภูมิต้านทานเชื้อโรคต่าง ๆ
ลูกทานโปรตีนเท่าไหร่ถึงพอดี?
- เด็กทารก (1-3 ขวบ) จะต้องการโปรตีนอยู่ที่ 1.2 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. หรือประมาณ 15 กรัม ต่อวัน
- เด็กเล็ก (3-7 ขวบ) จะต้องการโปรตีนอยู่ที่ 1.1 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. หรือประมาณ 26 กรัมต่อวัน
- เด็กโต (7-14 ปี) จะต้องการโปรตีนอยู่ที่ 1 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. หรือประมาณ 45 กรัมต่อวัน
ดังนั้นเราจำเป็นต้องรับประทานโปรตีนและแคลเซียมให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และถ้าอยากสูงและมีร่างกายที่แข็งแรง ควรทานอาหารในหมู่อื่น ๆ ให้เพียงพอและทาน อาหาร 5 หมู่ ให้ครบ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อผลลัพธ์ที่ดี และสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้ คุณพ่อคุณแม่เห็นความสำคัญของอาหารแล้วใช่ไหมล่ะคะ ว่ามีความสัมพันธ์ต่อการเจริญเติบโตของลูกมากเพียงใด ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกกินตามใจชอบ กินอาหารเดิม ๆ ซ้ำ ๆ และเลือกกิน อีกต่อไป ควรส่งเสริมให้ลูกกิน อาหาร 5 หมู่ ให้ครบ เพื่อสุขภาพที่ดีของลูกในอนาคตค่ะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ขอบคุณข้อมูลจาก : World Economic Forum, medthai.com, www.chiangmainews.co.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่