สปสช. มอบ สิทธิบัตรทอง คัดกรองดาวน์ซินโดรม
หนึ่งในความกังวลใจของคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ คงหนีไม่พ้นกลัวลูกจะเป็นดาวน์ซินโดรม (Down syndrome) หรือภาวะปัญญาอ่อน ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมตั้งแต่กำเนิด แต่คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถ คัดกรองดาวน์ซินโดรม ได้ตั้งแต่ในครรภ์เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการดูแลในอนาคต และ สปสช. ช่วยเหลือคุณแม่ตั้งครรภ์เพราะได้มอบสิทธิบัตรทองให้สำหรับกรณีนี้แล้วค่ะ
ดาวน์ซินโดรม คืออะไร
กลุ่มอาการดาวน์ เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติของสารพันธุกรรมมาแต่กำเนิด ส่งผลต่อการพัฒนาของเด็กตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์มารดาต่อเนื่องไปจนหลังคลอดและตลอดชีวิต เด็กกลุ่มอาการดาวน์ มีความบกพร่องในการเรียนรู้ การใช้ภาษา และการเคลื่อนไหวของร่างกายตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงระดับที่มาก
สถิติเด็กดาวน์
จากสถิติทารกที่เกิดในสหรัฐอเมริกาพบว่าทุก ๆ ปีจะมีทารกที่เป็นดาวน์ซินโดรมเกิดขึ้น 6,000 คนต่อปี หรือคิดเป็นทารกที่เกิด 700 คน จะมี 1 คนที่เป็นดาวน์ซินโดรม
ส่วนในไทยนั้น นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 เป็นต้นมา กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำให้คำปรึกษาหญิงที่ตั้งครรภ์วัย 35 ปีขึ้นไป เกี่ยวกับการเจาะน้ำคร่ำ เพื่อตรวจโครโมโซมของทารกในครรภ์ เนื่องจากเป็นกลุ่มมีความเสี่ยงสูงที่ทารกในครรภ์จะมีโครโมโซมผิดปกติ ในแต่ละปีประเทศไทยมีหญิงตั้งครรภ์กว่า 800,000 ราย ในหญิงตั้งครรภ์ 800-1,000 ราย จะมีโอกาสพบเด็กกลุ่มอาการดาวน์ 1 ราย โดยในประเทศไทยจะมีเด็กดาวน์เกิดขึ้นปีละประมาณ 1,150 ราย จากการเก็บสถิติของเด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรม
แม่ที่มีความเสี่ยงจะมีลูกเป็นเด็กดาวน์
เด็กในกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม เกิดได้กับคุณแม่ทุกอายุ แต่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าเด็กดาวน์ซินโดรมจะเกิดจากแม่อายุมากกว่า 35 เท่านั้น แม่อายุมากมักจะได้รับการแนะนำจากแพทย์ให้ตรวจโครโมโซมของทารกในครรภ์อยู่แล้ว ดังนั้น การตรวจพบเด็กดาวน์ซินโดรมจึงมักพบในแม่ที่อายุมาก โดยพบว่าในเด็กกลุ่มอาการดาวน์ 100 คน จะคลอดจากแม่อายุมากกว่า 35 เพียง 25-30 คน ส่วนเด็กดาวน์อีก 70-75 คนนั้น เกิดจากแม่ที่มีอายุน้อย เพราะแม่อายุน้อยไม่ค่อยได้รับคำแนะนำ จึงมักละเลยการตรวจคัดกรอง ดังนั้น คุณแม่ทุกคนควรตรวจหาอาการดาวน์ซินโดรม แม้ว่าคุณแม่จะอายุน้อยก็ตาม
นอกจากนี้ คุณแม่ที่เคยคลอดลูกคนก่อนเป็นดาวน์ซินโดรม การตั้งท้องครั้งต่อไปจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่ทารกจะเป็นดาวน์ซินโดรมได้อีก รวมทั้งหากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นดาวน์ซินโดรม เช่น พี่น้อง หรือญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด ลูกก็มีโอกาสเป็นเด็กดาวน์ได้เช่นกันค่ะ
รู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นดาวน์ซินโดรม
ในอดีต การจะรู้ว่าลูกเป็นเด็กกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมหรือไม่ ต้องเจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจโครโมโซมซึ่งมีโอกาสแท้งจากการตรวจได้ และมีค่าใช้จ่ายสูง และมักตรวจเฉพาะแม่ที่อายุมากกว่า 35 ปีเท่านั้น ส่วนแม่ที่อายุน้อยกว่า 35 ปี ที่ไม่ได้ตรวจ จึงไม่ทราบล่วงหน้าว่าตั้งครรภ์ทารกที่เป็นดาวน์
ปัจจุบัน มีการตรวจกรองทารกกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม เพื่อให้แม่ทุกคนสามารถรู้ได้ว่าลูกเสี่ยงต่อการเป็นดาวน์ซินโดรมหรือไม่ โดยการตรวจเลือดแม่ ร่วมกับการทำอัลตราซาวด์ ซึ่งไม่เสี่ยงต่อการแท้ง และมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า เพื่อให้แม่ทุกคนสามารถตรวจได้โดยเฉพาะแม่อายุน้อย
วิธีการตรวจคัดกรองทารกกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม
วิธีที่ 1 : ตรวจครั้งเดียวในไตรมาสแรก (Combined Test) ทำได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 11-13 สัปดาห์ ประกอบด้วย การตรวจอัลตราซาวด์วัดความหนาต้นคอทารก ร่วมกับเจาะเลือดแม่ วิธีนี้ตรวจกรองดาวน์ซินโดรมได้ 87%
วิธีที่ 2 : ตรวจ 2 ครั้ง ในไตรมาสแรกและต้นไตรมาสที่ 2 (Integrated Test) เป็นวิธีที่สามารถตรวจกรองดาวน์ซินโดรมได้สูงถึง 96% โดยการตรวจอัลตราซาวด์วัดความหนาต้นคอทารก ร่วมกับเจาะเลือดแม่ครั้งแรกตอนอายุครรภ์ 11-13 สัปดาห์ แล้วต้องตรวจเลือดอีก 1 ครั้ง 2-4 สัปดาห์ต่อมา รายงานผลหลังจากเจาะเลือด ครั้งที่ 2
วิธีที่ 3 : ตรวจครั้งเดียวในไตรมาสที่ 2 (Quaduple test) แต่กรณีที่แม่ฝากท้องหลังไตรมาสแรก ยังสามารถตรวจกรองดาวน์ซินโดรมได้สูงถึง 81% โดยการตรวจเลือดแม่ในช่วงอายุครรภ์ 15-20 สัปดาห์
การตรวจทั้ง 3 วิธี ข้างต้น แม้ว่าผลการตรวจจะปกติ ไม่สามารถยืนยันว่าลูกจะไม่เป็นทารกดาวน์ซินโดรมแน่ ๆ แต่สามารถบอกว่ามีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดอาการดาวน์ซินโดรม
อาการแสดงของกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม
ดาวน์ซินโดรมเป็นกลุ่มของอาการ ดังนั้นทารกทุกๆ คน ไม่จำเป็นต้องมีอาการทุกๆ อย่างที่จะกล่าวต่อไป อาจจะมีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง และความรุนแรงจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคลด้วย ตัวอย่างอาการเช่น
ความผิดปกติด้านร่างกาย
- มีศีรษะและใบหูเล็กกว่าปกติ และตำแหน่งของหูจะต่ำกว่าปกติด้วย
- คอสั้น
- หางตาเฉียงขึ้น ใบหน้าแบน จมูกสั้น
- ริมฝีปากเล็ก และมีอาการลิ้นจุกปาก
- มีจุดสีขาวที่ตาดำ
- มือ-เท้าสั้นและแบน มีผังผืดขึ้นที่มือ ทำให้เห็นเส้นลายมือไม่ชัดเจน
- นิ้วสั้นและกระดูกนิ้วก้อยผิดปกติ
- ควบคุมกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ได้ไม่ค่อยดี
- ข้อต่อยืดได้มากกว่าปกติ อาจเห็นในรูปแบบของมืออ่อนดัดได้มากกว่าคนทั่วไปเป็นต้น
- กระดูกสันหลังบริเวณต้นคอผิดปกติ
- มีพัฒนาการทางร่างกายช้ากว่าปกติ
ความผิดปกติด้านสติปัญญา
- สมาธิสั้น
ไม่สามารถตัดสินใจเองได้
- อารมณ์รุนแรง ฉุนเฉียวง่าย
- มีการเรียนรู้ช้า โดยเฉพาะเรื่องภาษาจึงอาจทำให้เริ่มพูดช้ากว่าเด็กทั่วไป
- มักมีอาการวิตกกังวล
- นอนหลับยาก
คัดกรองดาวน์ซินโดรม ด้วย “สิทธิบัตรทอง”
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เห็นความจำเป็นของการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม จึงจัดให้มีบริการแยกการเบิกค่าใช้จ่ายการ “ฝากครรภ์” และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (Lab) ที่จำเป็นออกจากกัน รวมถึงการจ่ายเฉพาะการตรวจและบริการพิเศษ เพื่อให้คุณแม่ท้องเข้ารับบริการได้อย่างสะดวกและได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนด โดยให้บริการตรวจ Lab ประกอบด้วย ตรวจซิฟิลิส ไวรัสเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ตรวจนับความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ตรวจคัดกรองโลหิตจางธาลัสซีเมีย (MCV และ/หรือ DCIP) และหมู่โลหิต (ABO/Rh) เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีบริการตรวจอัลตราซาวด์ การตรวจคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรม และการตรวจยืนยันธาลัสซีเมียและภาวะดาวน์ซินโดรม ตั้งแต่การมาฝากครรภ์ครั้งแรกหรือครั้งถัดมา และตรวจซิฟิลิส ไวรัสเอชไอวี ซ้ำอีกครั้งเมื่อใกล้คลอด ซึ่งทั้งหมดจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถวางแผนการดูแลครรภ์ หรือเตรียมความพร้อมด้วย
นอกจากนี้ เนื่องจากเด็กที่มีกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม จะมีปัญหาสุขภาพรวมถึงพัฒนาการที่ล่าช้า จำเป็นต้องได้รับการดูแลสุขภาพ การสนับสนุนพัฒนาการต่อเนื่อง ซึ่งจะก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก คุณพ่อคุณแม่ก็ก็สามารถให้ลูกใช้สิทธิบัตรทอง เพื่อเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขอย่างครอบคลุม การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ตามสิทธิประโยชน์กองทุนบัตรทอง เพื่อส่งเสริมพัฒนาการให้ดีขึ้นเท่าที่เด็กสามารถจะทำได้
ทีมแม่ ABK จึงขอเชิญชวนคุณแม่ท้องไปรับบริการฝากครรภ์ได้ที่สถานพยาบาลตามสิทธิ เพื่อรับการดูแลตามสิทธิประโยชน์นะคะ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิกเพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso
ขอบคุณข้อมูลจาก
กรุงเทพธุรกิจ, โรงพยาบาลรามคำแหง, Health Smile, โรงพยาบาลนนทเวช, Hfocus
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก