ยาหมดอายุ ดูอย่างไร? หลังเปิดใช้ เก็บไว้ได้นานแค่ไหน?
วันหมดอายุหรือวันสิ้นอายุของยา คือวันที่กำหนดอายุการใช้ยาสำหรับยาที่ผลิตในแต่ละครั้ง เพื่อแสดงว่ายาดังกล่าวมีคุณภาพมาตรฐานตามข้อกำหนดตลอดช่วงระยะเวลาก่อนถึงวันสิ้นอายุของยา ซึ่งการกำหนดวันหมดอายุและสภาวะการจัดเก็บยาเป็นข้อมูลซึ่งได้จากการศึกษาความคงตัวของตัวยานั่นเอง คุณพ่อคุณแม่จึงควรทราบวิธีการสังเกต ยาหมดอายุ ซึ่งจะเป็นวิธีการตรวจสอบคุณภาพยาอย่างง่ายที่ผู้ใช้ยาสามารถทำได้เอง ข้อควรรู้พื้นฐานในการพิจารณาวันหมดอายุของยา มีดังนี้
- ยาที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ของบริษัทผู้ผลิต สามารถสังเกตได้จากวันหมดอายุที่ระบุไว้บนฉลากหรือบรรจุภัณฑ์ เช่น ที่แผงยา ซองยา เป็นต้น กรณีที่ระบุเฉพาะเดือนและปีที่หมดอายุ วันหมดอายุจะเป็นวันสุดท้ายของเดือน
- ยาน้ำที่ยังไม่ได้เปิดใช้ จะเก็บไว้ได้ 3 ปีนับจากวันผลิต ยาน้ำที่มีสารกันเสียทั้งชนิดรับประทานและใช้ภายนอก
- ยาหยอดตา ยาป้ายตา หากเป็นชนิดที่ใส่สารต้านเชื้อ(Preservative) โดยทั่วไปจะมีอายุไม่เกิน 1 เดือนหลังการเปิดใช้หากเป็นชนิดไม่เติมสารต้านเชื้อควรใช้ให้หมดภายใน 1 วัน วิธีเก็บรักษาปฏิบัติตามฉลากยา
อย่างไรก็ตาม ยาจะมีคุณภาพที่ดีจนถึงอายุยาที่กล่าวข้างต้นได้ ต้องอยู่ภายใต้การจัดเก็บที่เหมาะสมตามที่แนะนำโดยบริษัทผู้ผลิต แต่หากมีการจัดเก็บยาที่ไม่เหมาะสม ยาจะเสื่อมสภาพและมีคุณภาพลดลงต่ำกว่ามาตรฐานกำหนดก่อนวันหมดอายุที่ระบุไว้ ดังนั้นการสังเกตลักษณะทางกายภาพของยาร่วมด้วยจัดเป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะหากยามีลักษณะที่เปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าคุณภาพของยาน่าจะเปลี่ยนแปลง ไม่ควรใช้ยานั้นต่อไป
ยาน้ำที่เสื่อมสภาพ ยาหมดอายุ มีลักษณะอย่างไร?
- ยาน้ำแขวนตะกอน เช่น ยาลดกรด ยาคาลาไมน์ ทาแก้คัน หากเสื่อมสภาพตะกอนจะจับกันเป็นก้อน เกาะ ติดกันแน่น เขย่าแล้วไม่กระจายตัวดังเดิม มีความเข้มข้น กลิ่น สีหรือรสเปลี่ยนไป
- ยาน้ำเชื่อม เช่น ยาแก้ไอ หากหมดอายุ ยาจะมี ลักษณะขุ่นมีตะกอน ผงตัวยาละลายไม่หมด สีเปลี่ยน มี กลิ่นบูดเปรี้ยวหรือรสเปรี้ยว
- ยาขี้ผึ้ง เกิดการแยกของของเหลวออกมาเยิ้มที่ผิวหน้าของยาเตรียมมีความข้นหนืด เปลี่ยนไป และมีกลิ่นเหม็นหืน
- ยาครีม การแยกของอิมัลชัน การโตของผลึก การหดตัวของเนื้อครีมเนื่องจากการระเหยของน้ำ และการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์
- ยาเจล หากยาเสื่อมสภาพเนื้อเจลใสจะเปลี่ยนเป็นขุ่นและไม่เป็นเนื้อเดียวกัน
- ยาหยอดตา ถ้าเสื่อมจะเปลี่ยนจากน้ำใสๆ เป็นน้ำขุ่น หรือหยอดแล้วมีอาการแสบตา มากกว่าปกติ
เนื่องจากยาน้ำมักจะมีอายุของยาสั้นหลังจากเปิดใช้แล้ว จึงอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่ลืมได้ว่าได้เปิดใช้ไปเมื่อไหร่ ส่วนตัวแม่พริมาจึงเขียนวันที่ที่เปิดใช้และวันที่ที่ ยาหมดอายุ (6 เดือนหลังจากเปิดใช้หรือน้อยกว่านั้น) เพื่อให้สะดวกต่อการดูวันหมดอายุเมื่อต้องป้อนยาเมื่อลูกป่วยในครั้งต่อไปค่ะ อย่างไรก็ตาม อย่าลืมที่จะสังเกตลักษณะ สี กลิ่น รสชาติของยาก่อนที่จะให้ลูกทานทุกครั้งนะคะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ลูกดื้อยา เพราะเชื้อแบคทีเรียกลายพันธุ์จากการใช้ยาปฏิชีวนะ
กินยากับนม ได้หรือไม่? ยากับนมและเครื่องดื่มที่ห้ามกินคู่กัน
“ลูกป่วยบ่อย” ต้องอ่าน! 10 วิธีเลี้ยงลูกให้ปลอดจากโรคภัย
วิธีส่องดูคอลูก เมื่อ “เป็นหวัดเจ็บคอ”
ขอบคุณข้อมูลจาก : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่