ครม.เห็นชอบเพิ่ม เงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษ หรือทุนเสมอภาค เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม รับเงินเพิ่มสูงสุด 9,100 บาท/ปี โดยมีรายละเอียดดังนี้
อนุมัติแล้ว! เพิ่ม เงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษ เยียวยาโควิด
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลให้ครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษมีรายได้ลดลงและเกิดการว่างงาน ประกอบกับผลวิเคราะห์จากโครงการวิจัยพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ ทางกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงมีข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีว่า อัตราเงินทุนเสมอภาคในปัจจุบัน ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษ ดังนั้นจึงเห็นควรให้เพิ่มอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างนักเรียนจากครอบครัวที่มีรายได้แตกต่างกัน และป้องกันความเสี่ยงในการหลุดออกจากระบบการศึกษาของประชากรกลุ่มนี้ในระยะยาว
และเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 ทางคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบให้เพิ่มอัตรา เงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข ดังนี้
อัตราเงินอุดหนุนใหม่
ระดับอนุบาล
- อัตราเดิม 4,000 บาท ต่อปี
- อัตราใหม่ (ยังคงจ่ายเท่าเดิม)
ระดับประถมศึกษา
- อัตราเดิม 3,000 บาท ต่อปี
- อัตราใหม่ 5,100 บาท ต่อปี
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
- อัตราเดิม 3,000 บาท ต่อปี
- อัตราใหม่ 4,500 บาท ต่อปี
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
- อัตราเดิม 3,000 บาท ต่อปี
- อัตราใหม่ 9,100 บาท ต่อปี
อาชีวศึกษา
- อัตราเดิม 3,000 บาท ต่อปี
- อัตราใหม่ 9,100 บาท ต่อปี
ขอบคุณข่าวจาก : https://www.prachachat.net/politics/news-592799
เงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษ (ทุนเสมอภาค) คืออะไร?
แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 54 ระบุให้รัฐต้องดําเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย แต่ข้อเท็จจริงมีเด็กกลุ่มหนึ่งที่แม้จะได้เรียนฟรี แต่ความยากจนในระดับที่รุนแรงกว่า ยังเป็นอุปสรรคทำให้ไม่สามารถมาเรียนได้ เช่น ไม่มีค่าครองชีพ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง การช่วยเหลือลักษณะนี้จึงยังไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษาได้
จึงนํามาสู่โครงการ จัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer: CCT) หรือทุนเสมอภาค ที่เริ่มต้นในสถานศึกษาสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตั้งแต่ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561
โครงการนี้มีรากฐานจากงานวิจัย 3 เรื่องสําคัญ ได้แก่ บัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ (National Education Account of Thailand : NEA) การวิจัยระบบ เกณฑ์การคัดกรองรายได้ทางอ้อม (Proxy Means Tests) และระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการ ศึกษา ที่กสศ. ร่วมมือกับ สพฐ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยนเรศวร นํามาสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย “การปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” (Equity-based Budgeting) เพื่อปรับปรุง ประสิทธิภาพการจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปตามอุปสงค์ (Demand-side Financing) ตรงตามความต้องการของนักเรียนเป็นรายบุคคล ในบริบทพื้นที่ซึ่งแตกต่างกันเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาและบรรเทาอุปสรรคการมาเรียน นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมการศึกษา เป็นการช่วยลดความเหลื่อมลํ้าที่ต้นทาง ปกป้องเด็กไทย ไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา
สรุป ทุนเสมอภาค คือ เงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษ แบบมีเงื่อนไขของ กสศ โดยนักเรียนและโรงเรียนจะได้รับทุนอุดหนุนปีละ 3,000 – 9,100 บาท ต่อปี เพื่อนำไปใช้ลดอุปสรรคการมาเรียน เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหารเช้า ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เป็นต้น
ใครบ้างที่เข้าเกณฑ์ได้รับ เงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษ?
การคัดกรองนักเรียนยากจน คัดกรองด้วยวิธีการวัดรายได้ทางอ้อม Proxy Mean Test : PMT โดยประเมินจากข้อมูล 2 ประเภท ดังนี้
- ประเภทที่ 1 คัดกรองจากข้อมูลรายได้เฉลี่ยสมาชิกครัวเรือน (ไม่เกิน 3,000 บาท/คน/เดือน)
- ประเภทที่ 2 คัดกรองจากข้อมูลสถานะครัวเรือน 8 ด้าน ได้แก่
- ครัวเรือนมีภาระพึ่งพิง
- ยานพาหนะในครัวเรือน
- ที่ดินทำการเกษตร
- แหล่งไฟฟ้าหลัก
- ประเภทที่อยู่อาศัย
- สภาพที่อยู่อาศัย
- ของใช้ในครัวเรือน
- แหล่งน้ำดื่ม น้ำใช้
ข้อมูลทั้ง 2 ประเภท จะถูกประมวลผลด้วยวิธีการวัดรายได้ทางอ้อม (PMT) เพื่อหาคะแนนความยากจนของนักเรียนแต่ละคน ดังนี้
นักเรียนที่เข้าเกณฑ์นักเรียนยากจนพิเศษ คือ นักเรียนในครัวเรือนที่สมาชิกในครอบครัวมีรายได้เฉลี่ย 3,000 บาท/คน/เดือน และมีคะแนนความขาดแคลนทุนทรัพย์ (PMT) มากกว่า 0.9 ขึ้นไป
ขั้นตอน ก่อนจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข
- นักเรียนสมัครขอรับเงินอุดหนุนนักเรียนยากจน
- ครูลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน เพื่อคัดกรองและรับรองข้อมูลสถานะครัวเรือนรายบุคคลโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
- ครูตรวจสอบข้อมูลพื้นฐาน สถานะความยากจนของเด็กเป็นรายบุคคล
- ประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา เพื่อรับรองผลการบันทึกข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษ
- กสศ. ตรวจสอบข้อมูลตามหลักเกณฑ์ของกสศ.ก่อนการจัดสรรเงินอุดหนุน
- กสศ. จัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนทุนเสมอภาคตรงให้แก่นักเรียน และผู้ปกครอง หรือ เงินสดที่โรงเรียน
- หน่วยกำกับลงพื้นที่สุ่มตรวจ/ติดตาม
- การเบิกจ่ายของนักเรียน
- ผลการคัดกรองความยากจน
- ติดตามการใช้เงินของโรงเรียน
- สถานศึกษาส่งข้อมูลผลการติดตามเงื่อนไขการรับเงิน (การมาเรียน และผลการเรียน) ให้กองทุนผ่านระบบสารสนเทศ
สำหรับครอบครัวไหนที่อาจจะเข้าเกณฑ์การได้รับ เงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
- กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
- โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนเสมอภาค
- ระบบปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน ภายใต้โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เงินอุดหนุนบุตร 2564 ลงทะเบียนยังไง ใช้เอกสารอะไร ไปที่ไหน เงินเข้าเมื่อไหร่ เช็กเลย!
เราชนะ แจกเงิน 7,000 บาท ลงทะเบียนเราชนะ เมื่อไหร่ ใครมีสิทธิ์บ้าง พ่อแม่เช็กเลย!
ออมสินปล่อยกู้สูงสุด 50,000 บาท ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์-ไม่ต้องมีคนค้ำ พ่อแม่เช็คสิทธิ์ด่วน
ขอบคุณข้อมูลจาก : กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.), โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนเสมอภาค, ระบบปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน ภายใต้โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่