หนังดิสนีย์ เชื่อว่าคุณแม่เคยมีประสบการณ์โตมากับหนังจากค่ายนี้ ตัวการ์ตูนที่เปรียบเสมือนคนในครอบครัว มาส่งต่อความประทับใจดี ๆ เหล่านั้นให้ลูกเรากันเถอะ
5 หนังดิสนีย์ ที่ทำไมคุณแม่ควรให้ลูกดูก่อนโต
เมื่อไม่นานมานี้ ทางฝากฝั่งอังกฤษ จากองค์กร อินทู ฟิล์ม (Into Film)ได้มีโครงการรณรงค์ชื่อ “The must see movie before you grow up” หรือ หนังที่คุณควรดูก่อนโต ได้เผยรายชื่อภาพยนตร์สำหรับเด็กจำนวน 50 เรื่อง ที่ผู้ปกครองควรให้บุตรหลายได้ชมก่อนอายุ 11 ปี โดยระบุว่า เนื้อหามีประโยชน์ต่อพัฒนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก และช่วงอายุที่เหมาะสมจะชม คือ ในช่วงก่อนถึง 11 ปี และยังเป็นภาพยนตร์ที่เหมาะสำหรับรับชมพร้อมกันทั้งครอบครัว โดยในจำนวน 50 เรื่องดังกล่าวมีภาพยนตร์ดิสนีย์ หนังจากค่ายที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดีติดอันดับอยู่หลายเรื่อง เพราะเชื่อว่าคุณแม่ ๆ ทั้งหลายคงมีโอกาสเติบโตมาพร้อมกับหนังของทางค่ายดิสนีย์ พิกซ่าร์ สตูดิโอ (Disney Pixar Studio) หนังการ์ตูนภาพสวย ให้แง่คิดแก่เด็ก ๆ จนครั้งหนึ่งเราคงเคยคิดว่าตัวการ์ตูนคาแรกเตอร์เหล่านั้นมีตัวตนจริง ผ่านตัวตุ๊กตุ่น ตุ๊กตา และของเล่นทั้งหลายที่คุณแม่คุณพ่อสมัยเด็กเคยสะสมไว้
สนใจดูข้อมูลเพิ่มเติม 50 อันดับหนังควรดูได้ที่ Intofilm.org
ทาง Amarin Baby&Kids จึงได้คัดเลือก หนังดิสนีย์ หนังจากค่ายคุณภาพดังกล่าว ที่เป็นหนังที่มีคำสอนดี ๆ ไว้สอนลูกน้อยมา 5 เรื่อง หนังที่ได้เข้าฉายในประเทศไทย และมีเนื้อหาสนุก พร้อมแง่คิดที่สอดคล้องกับสังคมไทย มาให้คุณแม่ได้เป็นตัวเลือกที่จะหามารับชมไปพร้อม ๆ กับลูกน้อย หรือทางที่ดีควรเรียกมาร่วมชมกันทั้งครอบครัว ก็จะยิ่งเพิ่มคุณค่าของการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สานสัมพันธ์ในครอบครัว ผ่านหนังดี ๆ สักเรื่องอีกด้วย
5 หนังจากค่ายดิสนีย์ ที่ควรให้ลูกดูก่อนโต
1. UP ปู่ซ่าบ้าพลัง (2009)
คุณเคยเห็นภาพโปรโมตหนังรูปบ้านเก่า ๆ ที่ติดลูกโป่งสวรรค์ลอยไปพร้อมคุณปู่คนหนึ่งหรือเปล่า นั่นคือเรื่องราวความฝันของ คุณปู่คาร์ล เฟรดริคเซ่น กับภรรยาเอลลี่ ที่ชื่นชอบเรื่องราวการผจญภัยตามแบบคนดัง ชาร์ล มันท์ซ แต่ด้วยเหตุความจำเป็นของโลกแห่งความเป็นจริงทำให้พวกเขาไม่สามารถทำตามความฝันได้ จนแอลลี่จากไป คาร์ลในวัยรุ่นปู่จึงตัดสินใจทำตามความฝันของภรรยาให้เป็นจริงโดยมีบ้านเป็นตัวแทนเธอ ออกเดินทางโดยลูกโป่งสวรรค์ไปผจญภัยตามรอยคนดัง แต่การผจญภัยครั้งนี้กลับทำให้เขาได้เจอเรื่องราวไม่คาดฝันร่วมกับเจ้าหนูรัสเซล เจ้าหนูลูกเสือสำรองที่บังเอิญติดอยู่ในบ้านนั้น และได้ค้นพบสัจธรรมความเป็นจริงมากมายที่ทำให้เขาต้องกลับมานั่งทบทวนแนวคิดชีวิตใหม่ จะสนุกขนาดไหนนั้นคงต้องไปหามาชมกัน
ตัวอย่างข้อคิดสอนลูกจากหนัง UP
- การผจญภัยไม่ใช่แค่จุดหมายปลายทาง แต่หากเป็นเรื่องระหว่างทาง และความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างต่างหาก ผ่านแนวคิดระหว่างคาร์ลที่มองแต่จะไปให้ถึงจุดหมายโดยลืมมองความงามระหว่างทางแบบรัสเซล
- การผจญภัยของชีวิตไม่มีวันจบ มันเริ่มขึ้นใหม่ได้ในทุกเวลา และทุกช่วงวัยของชีวิต เหมือนที่แอลลี่บอกคาร์ลไว้ในสมุดบันทึก “ถึงเวลาเริ่มผจญภัยเรื่องใหม่”
2. The Lion King (2019)
เรื่องราวของสิงโตแห่งผาทระนง เมื่อเจ้าป่ามูฟาซาถูกฆ่าตาย และสการ์ น้องชายผู้ริษยา โยนความผิดนี้ให้กับซิมบ้า ลูกชายของมูฟาซา ทำให้ซิมบ้าต้องหนีอดีตอันแสนเจ็บปวดและยึดถือคติการดำรงชีวิตใหม่คือ ฮากูนา มาทาทา กับเพื่อนรักต่างสายพันธุ์สองตัว แต่เขาต้องกลับมาช่วยบรรดาฝูงสิงโตที่อดอยากจากการปกครองของสการ์ ซิมบ้าจะสามารถทวงบัลลังก์คืนได้หรือไม่ มาร่วมลุ้นไปกับหนัง The Lion King ฉบับภาพ CG สมจริง โดยยังคงเนื้อเรื่องเดิมจากฉบับการ์ตูนอมตะสมัย ปีพ.ศ. 2537
ตัวอย่างข้อคิดสอนลูกจากหนัง The Lion King
- ความอบอุ่น และความสัมพันธ์ที่ดีของครอบครัว เพื่อน และคนรอบข้าง สามารถเป็นพลังให้เราสามารถลุกขึ้นต่อสู้กับปัญหาใหญ่ ที่คอยกัดกินจิตใจเราได้ เมื่อเรารู้ว่าไม่ได้สู้อยู่คนเดียว เหมือนดั่งซิมบ้า และผองเพื่อน
- คติ ฮากูนา มาทาทา ปรัชญาสอนใจเวลาต้องเผชิญกับเรื่องหนัก ๆ ในชีวิต การใช้ชีวิตแบบไร้กังวล วางปัญหาไว้ก่อน เมื่อมีพลังทั้งกาย และใจค่อยกลับมาเผชิญหน้าแก้ปัญหาต่อไป ไม่จมอยู่กับความทุกข์
3. Toy Story
ทอย สตอรี่ ภาพยนตร์มหากาพย์การ์ตูนแอนิเมชัน เรื่องยาวเรื่องแรกที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งหมด และเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของทางพิกซาร์อีกด้วย ปัจจุบันมีทั้งหมด 4 ภาค เป็นเรื่องราวของ นายอำเภอวู๊ดดี้ ของเล่นหนุ่มคาวบอย ในฐานะของเล่นตัวโปรดของ แอนดี้ เด็กชายวัย 6 ขวบ จึงทำให้เขากลายเป็นหัวหน้าบรรดาของเล่นทั้งหลายของบ้าน เรื่องราวการผจญภัยของวู๊ดดี้ ทำให้เขาเจอะเจอเรื่องราวมากมาย รวมทั้งได้เพื่อนใหม่อีกด้วย โดย
ภาคแรก เป็นการพบเจอกับของเล่นชิ้นใหม่น่าตื่นตาตื่นใจของ แอนดี้ นั่นคือ นักบินอวกาศ บัซ ไรซ์เยีย ทำให้วู๊ดดี้เกิดความกังวลว่าเขาจะไม่ได้เป็นของเล่นชิ้นโปรดอีกต่อไปหรือไม่ แต่เรื่องราวก็จบลงด้วยมิตรภาพที่สวยงามตามแบบฉบับของดิสนีย์
ภาคสอง เป็นการผจญภัยของวู๊ดดี้ที่ทำให้เขาต้องออกไปเผชิญกับเหตุการณ์นอกบ้านแอนดี้ แต่มันทำให้เขาทราบเรื่องราวความเป็นมาของตัวเอง ได้เจอเพื่อนใหม่อย่าง สาวน้อยคาวบอยเจสซี่ แล้ววู๊ดดี้จะได้กลับมาที่บ้านแอนดี้อีกครั้งไหม เรามาตามลุ้นกัน
ภาคสาม เป็นเรื่องราวเมื่อแอนดี้โตอายุ17 ปีที่ไม่ใช่วัยที่ต้องการเล่นของเล่นอีกต่อไป แล้วบรรดาเหล่าของเล่นอย่างวู๊ดดี้จะเผชิญชะตากรรมเช่นไร เขาจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไรต้องติดตามชมในภาคนี้
ภาคสี่ เมื่อวู๊ดดี้และผองเพื่อนได้กลับมามีชีวิตใหม่ในบ้านเด็กคนใหม่ บอนนี่ แต่การผจญภัยของนายอำเภอวู๊ดดี้ไม่มีที่สิ้นสุด และการกลับมาพบกับเพื่อนเก่าอีกครั้ง มาร่วมลุ้นไปกับการตัดสินใจครั้งสำคัญของวู๊ดดี้ และการลาจากที่จะเป็นใครนั้น คงต้องลองชมกันดู
ตัวอย่างข้อคิดสอนลูกจากหนัง Toy Story
- ข้อคิดเรื่องเพื่อน ถือเป็นจุดเด่นของหนังเรื่องนี้ ความรัก ความเชื่อใจ ความไม่อิจฉากัน มีข้อคิดดี ๆ ที่คุณแม่จะหยิบยกมาสอนลูกได้ในหลาย ๆ ตอนเลยทีเดียว เพื่อนที่แท้จริงจะอยู่เคียงข้างเสมอ
- สอนให้รู้จักรัก และถนอมของเล่น เพราะทุกคน ทุกสิ่งก็มีหัวใจ การที่ลูกสามารถจินตนาการได้ว่าของเล่นมีชีวิต จะทำให้เขารู้จักรัก และดูแลข้าวของของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น
- ทุกคนต่างมีคุณค่าในแบบของตัวเอง หลากหลายตอนที่จะเห็นได้ว่าวู๊ดดี้เริ่มกังวลว่าจะไม่ได้เป็นของเล่นชิ้นโปรด แต่สุดท้ายมันทำให้เขาเรียนรู้ได้ว่าทุกคนมีคุณค่าในแบบฉบับของตนเอง ของเล่นทุกชิ้นไม่ว่าจะเล็ก หรือใหญ่ ทำจากวัสดุอะไรก็สามารถเป็นของเล่นที่ทำให้เด็ก ๆ สนุกได้
4. Inside Out(2015)
หนังการ์ตูนแอนิเมชันของดิสนีย์เกี่ยวกับชีวิตของเด็กหญิง “ไรลีย์” วัย 11 ปี ที่นับว่าเป็นช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ ก้าวแรกจากการพัฒนาจากวัยเด็กเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เพียงแค่การก้าวผ่านช่วงวัยก็เป็นสิ่งที่หนักหนาสำหรับเด็กน้อยคนหนึ่งแล้ว แต่ไรลีย์ยังต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมในชีวิตที่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ การย้ายบ้าน ย้ายที่เรียน การต้องเริ่มสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่ในวัยที่สังคมเพื่อนเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้เกิดความยุ่งยากขึ้นมาในจิตใจของเด็กน้อยอย่างมาก โดยในหนังได้แสดงให้เราเห็นถึงอารมณ์ต่าง ๆ ของมนุษย์เวลาเจอกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ผ่านตัวการ์ตูนเพื่อให้เด็ก ๆ เข้าใจได้ง่าย ๆ
อารมณ์โกรธ ในชื่อ Anger (ฉุนเฉียว)
อารมณ์กลัว ในชื่อ Fear (กลั๊วกลัว)
อารมณ์สุข ในชื่อ Joy (ลั้ลลา)
อารมณ์รังเกียจ ในชื่อ Disgust (หยะแหยง)
อารมณ์เศร้า ในชื่อ Sadness (เศร้าซึม)
มาร่วมกันเชียร์ว่าไรลีย์จะสามารถผ่านเหตุการณ์สำคัญในชีวิตไปได้อย่างไร ต้องใช้อารมณ์ไหนบ้าง
ตัวอย่างข้อคิดสอนลูกจากหนัง Inside Out
- สอนลูกให้รู้จักอารมณ์ ในปัจจุบันคุณหมอมักจะแนะนำให้แม่คอยสอนให้ลูกเห็นถึงอารมณ์ของตัวเอง เพื่อให้รู้เท่าทันอารมณ์และจะได้จัดการกับพฤติกรรมที่จะเกิดขึ้นได้ เรื่อง Inside Out จึงเป็นตัวช่วยที่ดีที่จะทำให้การสอนเรื่องการรับรู้อารมณ์ของตัวเองกับเด็กเล็กง่ายขึ้น เช่น คุณแม่อาจจะถามลูกว่าตอนนี้อารมณ์ของหนูกำลังเป็นตัวละครไหน สีอะไร เพราะในเรื่องตัวละครทางอารมณ์แต่ละตัวจะถูกอธิบายผ่านทางสีที่แตกต่างกันด้วย ซึ่งเมื่อเด็กเห็นภาพสิ่งที่ยาก ๆ ผ่านตัวละครการ์ตูนที่มีคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนแล้ว เขาก็จะสามารถเข้าใจเรื่องเหล่านั้นได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
- สอนให้เข้ารับรู้ว่า ทุกอารมณ์มีคุณค่ามีหน้าที่ของมัน โดยปกติสังคมไทยมักจะชอบให้เด็กแสดงออกแต่อารมณ์แห่งความสุข สนุกสนาน มักจะให้เก็บกดอารมณ์เศร้า เวลาร้องไห้ คุณแม่ก็มักจะดุเสมอให้เงียบ ห้ามร้อง โดยที่เด็กยังไม่ได้จัดการกับอารมณ์ และระบายความรู้สึกเศร้าของตัวเองผ่านการแสดงออกมาเลย ทำให้ลูกอาจเกิดความคับข้องใจ และเก็บกด หนังเรื่องนี้ช่วยให้ทั้งลูกและคุณแม่ตระหนักถึงว่า ทุกอารมณ์ของมนุษย์มีประโยชน์ และหน้าที่ในตัวเอง เหมือนอย่างที่ตัวละคร Joy ลั้นลา พบความสำคัญของเศร้าซึม
5. Frozen
ภาพยนตร์การ์ตูนยอดนิยมที่เด็ก ๆ ในยุคนี้ต่างรัก และรู้จักกันดี หรือที่เด็ก ๆ เรียกติดปากว่า เจ้าหญิงเอลซ่า ที่ปัจจุบันมีอยู่ 2 ภาค เป็นเรื่องราวของเจ้าหญิง 2 สาวผู้ครองอาณาจักรเอเรนเดล คนโต หรือ เอลซ่า ที่มีพลังพิเศษ เธอมีพลังแห่งความเย็นอยู่กับตัว ที่แม้แต่ตัวเองก็ไม่เข้าใจ และไม่รู้วิธีควบคุมมัน และอันนา น้องสาวผู้ร่าเริง เมื่อพ่อแม่ของทั้งสองเสียไปจากอุบัติเหตุ ทำให้ทั้งคู่ต้องคอยดูแลอาณาจักร แต่ด้วยความที่เอลซ่าคิดว่าพลังวิเศษของเธออันตรายทำให้เธอหนีไป เป็นเหตุให้น้องสาว อันนาต้องไปตามพี่สาวกลับมา ความรัก ความสัมพันธ์ของพี่น้องจะสามารถทำให้เหตุการณ์คลี่คลายไปได้หรือไม่ คงต้องมาช่วยลุ้นกัน ส่วนในภาคที่ 2 นั้นเป็นเรื่องราวที่จะบอกกับคนดูว่าพลังวิเศษของเอลซ่ามาจากไหน และเธอต้องพบกับความจริงอันแสนเจ็บปวดของเรื่องราวในอดีตที่เป็นตำนานที่พ่อและแม่ต่างภาคภูมิใจในตระกูล แต่เมื่อเหตุการณ์ไม่ได้เป็นอย่างที่เธอรับรู้มา เอลซ่า และอันนาจะทำอย่างไรเพื่อช่วยอาณาจักรของพวกเธอให้รอดพ้นจากภัยร้ายครั้งนี้
ตัวอย่างข้อคิดสอนลูกจากหนัง Frozen
- ความรักใคร่ปรองดองของพี่น้อง นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการที่จะให้ลูก ๆ ในครอบครัวที่มีพี่น้องได้เห็นถึงความสำคัญของการรักกันของพี่น้อง จากความรักของเอลซ่า และอันนาที่สามารถนำความรักของทั้งคู่มาใช้เป็นอาวุธเอาชนะสิ่งชั่วร้ายได้
- จงเอาชนะความกลัว สักวันลูกคงต้องได้เผชิญกับปัญหาที่เขากลัว ให้เขานำความกล้าหาญของเจ้าหญิงเอลซ่ามาเป็นตัวอย่างในการสร้างพลังให้กับตัวเองเพื่อเอาชนะความกลัวนั้นให้ได้
อ่านจบได้แง่คิดดี ๆ สำหรับสอนลูกแล้ว คุณแม่อย่ามัวรอช้า รีบไปหา หนังดิสนีย์ ที่ยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจ มารับชมพร้อมกันทั้งครอบครัวดีกว่า สานสายใยรักแห่งครอบครัวด้วยหนังสนุก ๆ สักเรื่องก็ช่วยให้บรรยากาศระหว่างพ่อแม่ และลูกสุขสันต์ไม่ใช่เล่น
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก Walt Disney Picture / eraltd.org
อ่านบทความดี ๆ ต่อ คลิก
อยู่บ้านแต่ไม่หยุดเรียนรู้! รวมลิงค์องค์กรใจดีแจกฟรี แหล่งเรียนรู้ออนไลน์ สำหรับเด็ก
แนะ!12 กิจกรรมให้ลูกทํา สุดเจ๋ง เมื่อต้องอยู่บ้านหนีโควิด19+ปิดเทอมยาว
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่