รีวิว บอร์ดเกม Jurassic Snack สอนลูกให้รู้จักวางแผน - Amarin Baby & Kids
บอร์ดเกม Jurassic Snack

รีวิว Jurassic Snack บอร์ดเกมง่ายๆ สอนลูกรู้จักวางแผน โดยพ่อเอก

Alternative Textaccount_circle
event
บอร์ดเกม Jurassic Snack
บอร์ดเกม Jurassic Snack

บอร์ดเกมที่ 2 ที่จะมาชวนกันเล่นในครั้งนี้ รับรองว่ารูปลักษณ์ดึงดูดใจเด็กๆแน่นอน เพราะ บอร์ดเกม Jurassic Snack หรือ ไดโนเสาร์จอมเขมือบในเวอร์ชั่นไทย เป็นเรื่องราวของไดโนเสาร์คอยาวที่ไล่หม่ำๆๆ ทุกอย่างที่ขวางหน้า ผู้เล่นจะมีตัวเดินเป็นไดโนเสาร์คอยาวที่เดินบนแผ่นกระดานผืนป่าอันกว้างใหญ่ไล่กินโทเคนใบไม้จนพุงกาง ปูนปั้นกับปั้นแป้งได้รู้จักเกมนี้เพราะตอนไปเรียนว่ายน้ำครั้งหนึ่งมีเพื่อนที่ไปเรียนด้วยกันเอามาชวนเล่น พอเล่นแล้ว เราก็ได้ร้อง เย้ๆๆๆ หาบอร์ดเกมที่ไม่ยากเกินไปและสนุกสนานสำหรับปั้นแป้งได้แล้ว

รีวิวบอร์ดเกม Jurassic Snack

Jurassic Snack เกมนี้เล่นได้ทีละ 2 คน แต่กองเชียร์กี่คนก็ได้ ใน boardgamegeek.com ไห้ rating เฉลี่ยไว้ที่ 6.8 อาจจะไม่สูงนักเพราะเป็นเกมเด็กๆหน่อย แม้จะบอกว่าเหมาะกับเด็กอายุ 7+ แต่คะแนน complexity อยู่ที่ 1.2/5.0 เท่านั้น ดังนั้นข้อดีก็คือ ผมว่าเหมาะกับเด็กที่เพิ่งหัดเล่มเกมใหม่ๆ เพราะกฏกติกาไม่ยาก อุปกรณ์การเล่นดึงดูดและน่าสนใจ โดยเด็ก 4-5 ขวบ ก็เข้าใจได้เล่นได้ แต่อาจจะต้องช่วยบอกว่าแต่โทเคนที่เปิดขึ้นมามีความหมายอะไร แต่พอเล่นเพียงไม่กี่ครั้งเด็กๆเห็นรูปก็จำได้แล้วว่าความหมายของโทเคนนั้นๆคืออะไร

เปิดกล่องออกมาจะพบอุปกรณ์ของเกมนี้ประกอบไปด้วย

  • กระดานทุ่งหญ้าสีเขียวๆ 4 แผ่น

ปกติก็มาวางต่อกันเป็น 4 เหลี่ยมจตุรัส พอเล่นไปหลายๆครั้งก็มีพลิกแพลง ปูนปั้นบอกว่า ป๊าครับ ไม่จำเป็นต้องวางเป็น 4 เหลี่ยมจตุรัสวางต่อกันอย่างไรก็ได้ ก็เอาสิสนุกดี

  • ไดโนเสาร์คอยาว 10 ตัว เป็นสีเหลืองและสีน้ำเงินอย่างละ 5 ตัว

สำหรับแต่ละฝ่ายเป็นไดโนเสาร์ที่มีความสุขกับการกินใบไม้

  • ไดโนเสาร์ทีเร็กซ์ 2 ตัว

เป็นไดโนเสาร์จอมโหดที่จะมากินไดโนเสาร์คอยาวของคู่ต่อสู้เรา

  • โทเคนใบไม้ 28 อัน

ผู้เล่นจะไม่รู้ว่ามีอะไรซ่อนอยู่ใต้โทเคนแต่ละชิ้น จนกว่าเราจะเลือกเดินไปหม่ำโทเคนนั้นๆ แล้วเปิดขึ้นมาดู แต่ละโทเคนจะมีความหมายแตกต่างกันและมีคะแนนต่างกันด้วย

วิธีเล่น บอร์ดเกม Jurassic Snack

เริ่มเล่นโดยการจัดกระดานทุ่งหญ้า แล้วก็วางไดโนเสาร์คอยาวลงบนจุดที่มีไข่สีตัวเอง (และจะเหลือไดโนเสาร์อยู่ ก็เก็บเป็น spare เพราะจะมีโทเคนที่เปิดมาให้เราเพิ่มตัวไดโนเสาร์ลงไปได้) การเริ่มเกมก็ง่ายๆผลัดกันเดิน โดยเลือกเดินไปกินโทเคนใบไม้ หรือเดินหนีทีเร็กซ์ ถ้าไปกินโทเคนใบไม้แล้วก็เปิดดูว่าใต้โทเคนให้ทำอะไร ซึ่งจะมีตั้งแต่ได้แต้มธรรมดา, ได้เอาเจ้าทีเร็กซ์ไปหม่ำฝ่ายตรงข้าม, ได้เพิ่มไดโนเสาร์คอยาวของเรามาบนกระดาน หรือได้พาไดโนเสาร์คอยาวเราย้ายที่ เป็นต้น  ซึ่งการวางไดโนเสาร์และการเดินจะมีวิธีเลือกเดินในแนวตั้งและแนวนอนเท่านั้น ไม่สามารถเดินในแนวทะแยงได้ และเดินสุดไปให้สุดทางจน ดังนั้นการวางเดินไดโนเสาร์คอยาวหรือทีเร็กซ์ของเราก็จะเป็นการวางแผนเพื่อบล็อคเส้นทางการเดินฝ่ายตรงข้ามได้

เกมจะจบก็ต่อเมื่อ

  • ไดโนเสาร์คอยาวกินโทเคนใบไม้ได้หมด ก็นับคะแนนใบไม้ ใครคะแนนมากกว่าเป็นผู้ชนะ
  • ไดโนเสาร์คอยาวของฝ่ายใดฝ่ายนึงถูกเจ้าทีเร็กซ์หมดก่อน ฝ่ายที่ยังเหลืออยู่เป็นฝ่ายชนะ
  • เหลือโทเคนใบไม้อยู่ แต่ไม่มีตัวไหนสามารถเดินไปกินได้แล้ว เพราะกติการการเดินต้องเดินสุดทางมันก็มีโอกาสที่เมื่อเหลือโทเคนใบไม้แค่ 1-2 ใบ แล้วจะไม่สามารถเดินไปกินได้ ก็จบเกม และนับคะแนนฝ่ายไหนคะแนนมากกว่าเป็นฝ่ายชนะ

เด็กได้อะไรจาก บอร์ดเกม Jurassic Snack

  • การวางแผน เพื่อให้การเดินของตัวเองได้เปรียบ และการบล็อคเส้นทางเดินฝ่ายตรงข้าม
  • เรียนรู้กฏกติกา เรียนรู้การแพ้ชนะ
  • เป็นเกมที่เหมาะกับการเริ่มต้นเล่นบอร์ดเกม สำหรับเด็กเล็กและคนหัดใหม่
  • สร้างจินตนาการ และอย่าให้หยุดแค่ตรงนั้น
    1. ตั้งคำถามจากเกม เช่น ไดโนเสาร์พันธุ์อะไร, เกิดยุคไหน, Jurassic คืออะไร เป็นต้น เพื่อเสริมให้เกิดความอยากรู้ และเมื่อลูกมีคำถามอย่าจบแค่ที่คำตอบ ต่อยอดไปเรื่อยๆ
    2. จากนั้นก็ชวนไปทำอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกันต่อ เช่น วางสมุดบันทึกไว้ใกล้ๆทุกครั้งที่เล่นเกมเผื่อเขาจะจดบันทึกอะไร, วาดรูปไดโนเสาร์, อ่านหนังสือไดโนเสาร์, ปั้นดินน้ำมัน และอื่นๆ

 

ขอให้สนุกสนานและเรียนรู้ไปพร้อมกับลูกๆ ครับ เมื่อลูกมีคำถามอย่าจบแค่ที่คำตอบและเมื่อเล่นเกมก็อย่าจบแค่ความสนุก


ชวนลูกเล่นบอร์ดเกมนอกจากได้ความสนุกสนาน ใช้เวลาร่วมกับครอบครัวแล้ว ยังช่วยให้เกิด Power BQ หลายด้านทั้งความฉลาดจากการเล่น Play Quotient (PQ)  ความฉลาดทางสติปัญญา Intelligenct Quotient (IQ) และ Thinking Quotient (TQ) ฉลาดคิดเป็น ผ่านการคิดวางแผนเพื่อให้การเดินของตัวเองได้เปรียบ และการบล็อคเส้นทางเดินฝ่ายตรงข้าม ทั้งยังช่วยสร้างจินตนาการให้ลูกมี Creativity Quotient (CQ) ด้วยการตั้งคำถามจากเกม รวมถึงต่อยอดชวนลูกไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุดอีกด้วย


>>แวะไปดู รอยยิ้มหวานฉ่ำ ที่มีแจกฟรีทุกวันได้ที่เฟซบุ๊ค

หมุนรอบลูก – พี่ปูนปั้น กับ น้องปั้นแป้ง นะครับ<<

ปูนปั้น ปั้นแป้ง พ่อเอก
ปูนปั้น ปั้นแป้ง พ่อเอก เพจหมุนรอบลูก

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แนะนำ 4 “บอร์ดเกม” ฝึกลูกสมองไว ไหวพริบดี โดย พ่อเอก

เทคนิคดี สอนให้ลูกคิดเอง หาวิธีแก้ปัญหาเองได้ โดยพ่อเอก

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up