สำหรับเด็ก อาจยังบอกไม่ได้ว่าอะไรคือการ “เที่ยว” แต่ในการรับรู้ของเขา แค่ได้ออกไปนอกเขตบ้านก็สนุกแล้ว ดังนั้นสำหรับเด็ก ทุกที่น่าตื่นตาตื่นใจไปหมด ส่วนคุณพ่อคุณแม่คงพาลูกเที่ยวเพราะรู้ว่าทำให้เขาสนุกแน่ๆ และอยากให้พวกเขาได้เห็นโลกกว้าง แต่คุณรู้หรือไม่ คุณยังสามารถทำให้ลูกรู้สึกและสัมผัสได้ว่า “เที่ยว” ให้อะไรเขามากกว่าความสนุกเห็นอะไรที่ไม่เคยเห็น หรือทำอะไรที่ไม่เคยทำ!
1. เริ่มต้นเที่ยวใกล้ๆ ก็ให้ผลสูงได้
เริ่มทดลองจากกิจกรรมง่ายๆ ใกล้บ้านก่อน เช่น ไปดูนก ดูสัตว์ ส่องแมลง ดมกลิ่นดิน ใบไม้ใบหญ้าที่สวนสาธารณะละแวกบ้านหรือแม้แต่สวนหลังบ้าน หรือพาไปชิมเมนูใหม่ที่ลูกไม่เคยกิน ร้านอาหาร ร้านขนมของชาติต่างๆ หรือไปลิ้มรสอาหารที่ไม่ได้กินบ่อยๆ ไปร่วมงานเทศกาล หรือกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นช่วงเวลาสั้นๆ
แม้แต่ในวันคล้ายวันเกิดของลูก แทนที่จะจัดงานฉลองก็จัดทริปเล็กๆ เน้นที่ไม่ไกล ไปกินอาหารที่ร้านเปิดใหม่ ให้ลูกเลือกเมนูที่อยากลอง คุณพ่อคุณแม่ก็ทำให้ทริปนี้พิเศษได้อีกด้วยการชวนลูกพูดคุย ถามความคิดหรือความรู้สึกของลูก บอกความรู้สึกของตัวเองให้ลูกฟังด้วยก็ได้ เช่น อาหารที่กิน สภาพสถานที่รอบๆ เป็นต้น
“โดยรวมแล้ว คือการไปเที่ยวแบบใช้เวลาและเงินไม่มาก ไม่ไกล ใช้เวลาสักครึ่งวัน ไม่กำหนดตายตัวว่าจะเป็นเมื่อไหร่วันไหน จุดประสงค์คือ แม้จะเป็นประสบการณ์ในวงเล็กๆ ช่วงสั้นๆ แต่ลูกก็ได้สัมผัสสถานที่ อาหาร ศิลปะ ดนตรี ธรรมชาติ และวัฒนธรรมได้” Joe D’Alessandro ประธานและซีอีโอของสำนักงานท่องเที่ยวแห่งซานฟรานซิสโก อธิบาย
“เที่ยวแบบง่ายๆ แค่ครึ่งวัน อย่างช่วงสายหรือบ่ายของวันหยุดก็เพียงพอให้ลูกๆ ได้อะไรเยอะแล้ว”
2. เที่ยวไกลขึ้น ต้องกระตุ้นความอยาก+สร้างอารมณ์ร่วม
เมื่อมีเวลามากขึ้นจะพาลูกไปเที่ยวไกลขึ้นก็ได้ แต่การเที่ยวจะมีความหมายกับลูกยิ่งขึ้นหากทำอะไรไม่เหมือนใคร เพราะการเที่ยวคือการผจญภัย
เทคนิคคือ เปิดโอกาสให้เด็กๆ ช่วยวางแผนและหาข้อมูล ให้เขาได้ใช้ทักษะด้านนี้ที่มีอย่างเต็มที่ และจะเป็นการเตรียมตัวและกระตุ้นอารมณ์ร่วมได้ดี ด้วยคำถามธรรมดาๆ เช่น “ใกล้ปิดเทอมแล้ว ลูกอยากไปเที่ยวที่ไหนจ๊ะ” หรือเอาง่ายๆ ให้เด็กๆ เริ่มต้นก่อนก็ได้ เช่น “ปิดเทอมนี้ เราจะไปทะเลกัน ลูกอยากไปที่ไหน ทำอะไรบ้าง” แค่นี้ความตื่นเต้นก็มาแล้ว! แม้อาจจะได้คำตอบอย่าง “อยากไปดูหมีที่ขั้วโลกเหนือ” ก็ไม่ต้องตกใจและรีบปฏิเสธให้อารมณ์ตกไป แค่ต้องตกลงคนละครึ่งทางกับลูก “ขอเป็นหมีขั้วโลก ที่ประเทศไทยก่อนได้มั้ยลูก”
พอมีสิ่งที่ลูกสนใจ การชวนเขาค้นหาข้อมูลเรื่องสถานที่ การเดินทาง และวางแผนทริปก็ไม่ยากแล้ว
“เมื่อเด็กอ่านหนังสือเกี่ยวกับต้นไม้ เขาจะรู้สึกอยากจับและปีนต้นไม้ การอ่านหนังสือจึงเป็นอีกวิธีที่กระตุ้นความสนใจและความอยากรู้อยากเห็นได้”