การอ่านที่แท้จริงคืออะไร - Amarin Baby & Kids

การอ่านที่แท้จริงคืออะไร

Alternative Textaccount_circle
event

ถ้ามองดูการใช้เวลายามว่างของเด็กยุคนี้ หลายคนคงจะจับสังเกตได้คล้ายๆ กัน ว่าเด็กๆ ในเจนเนอเรชั่นนี้ดูจะสนุกอยู่กับการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิคส์สารพัดอย่างที่อยู่รอบๆ ตัว จนตอนนี้การที่เราจะเห็นเด็กหยิบหนังสือมาอ่านเล่นยามว่างอาจจะกลายเป็นภาพที่ไม่คุ้นตาไปเสียแล้ว

ปัญหาเรื่อง “เด็กไทยอ่านหนังสือน้อย” (หรือพูดอีกอย่างว่าไม่ค่อยรักการอ่าน) จึงกลายเป็นประเด็นให้นักวิชาการออกมาพูดถึงซ้ำแล้วซ้ำอีก พร้อมๆ กันก็เชิญชวนซ้ำๆ ให้พ่อแม่ “ส่งเสริมการอ่าน” ให้ลูกน้อย

ฟังบ่อยๆ แล้ว คุณพ่อคุณแม่คงมีเบื่อกันบ้าง ใช่ไหมคะ?

เพราะคุณพ่อคุณแม่บางท่านฟังแล้วก็อาจจะนึกสงสัยในใจว่า ถ้าเด็กไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือแล้วจะเป็นปัญหาอย่างไร ก็ในเมื่อเด็กเรา “อ่านออกเขียนได้” ถึงจะอ่านหนังสือน้อย แต่ก็เรียนได้ผ่าน เอาตัวรอดได้ แล้วการอ่านหนังสือน้อยเป็นเรื่องน่ากังวลจริงหรือ?

หรือคุณพ่อคุณแม่บางท่านก็อาจจะนึกสงสัยไปอีกอย่างว่า การ “ส่งเสริมการอ่าน” ที่ว่านี่คือให้ทำอย่างไร สำคัญแค่ไหน เพราะที่โรงเรียนเด็กก็ได้เรียนหนังสือมากอยู่แล้ว แล้วพอกลับมาที่บ้าน พ่อแม่ก็พร่ำบอกลูกอยู่เสมอว่าให้อ่านหนังสือ แต่ยิ่งพูดก็เหมือนว่าเด็กจะยิ่งเบื่อหน่าย กลายเป็นทะเลาะกันก็มี แล้วการเชียร์ให้เด็กอ่านจะดีจริงหรือ?

การอ่านหนังสือเสมอๆ มีประโยชน์อย่างไร?

การส่งเสริมให้เด็กอ่านหนังสือเป็นประจำนั้นจำเป็นแค่ไหน?

หมอได้รับโจทย์ที่น่าสนใจนี้จากเรียลพาเรนติ้ง และก็เป็นโชคดีของหมอที่ได้มีโอกาสทำงานในโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ เลยได้มีโอกาสพูดคุยกับเด็กและครอบครัวที่มาจากกลุ่มฐานะ อาชีพ และทัศนคติที่หลากหลาย ประกอบกับเคยได้ศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการอ่านของเด็กๆ จึงขอนำประสบการณ์และข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกับคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

ลองสละเวลาอ่านดูนะคะ หมอมั่นใจว่าสุดท้ายคุณพ่อคุณแม่จะได้คำตอบด้วยตัวคุณเองว่า ถ้าลูกเราอ่านน้อย ไม่ชอบอ่าน เป็นเรื่องน่ากังวลจริงหรือเปล่า

เด็กไทยเอียนอ่านมีสาเหตุ

เราพบว่ามีเด็กจำนวนมากโอดครวญกับการอ่านหนังสือ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าการอ่านหนังสือมันยาก น่าเบื่อ และตึงเครียด ซึ่งที่มาของความรู้สึกเป็นฝ่ายตรงข้ามกับหนังสือก็เกิดจากหลายสาเหตุสะสมกันค่ะ

1. เด็กถูกจำกัดให้ต้องอ่านหนังสือที่ให้ “ข้อมูล”

เปี่ยมไปด้วย “สาระวิชาการ” เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าประโยชน์ของการอ่านอยู่ตรงที่หนังสือได้ถ่ายทอด “ข้อมูล” ที่เราต้องการให้กับเด็กเท่านั้นที่ผ่านมาการส่งเสริมการอ่านให้กับเด็กวัยเรียนจึงเทน้ำหนักไปที่การเฟ้นหาหนังสือที่อัดแน่นไปด้วย “เนื้อหาสาระ” ซึ่งผู้ใหญ่มองว่ามีประโยชน์ มุ่งมั่นอยู่กับการแสวงหาหนังสือที่มี “ข้อมูลยากๆ” มาให้เด็กสะสม “ใส่ความจำ” จนประเภทของหนังสือที่เด็กอ่านถูกจำกัดและไม่หลากหลาย

2. การกระตุ้นให้อ่านด้วยการบ่น การดุ และท่าทีเหนื่อยใจ

เมื่อบรรยากาศการอ่านกลายเป็นสถานการณ์ตึงเครียดไปเสียทุกครั้ง เด็กก็พาลไม่ชอบการอ่านหนังสือไปด้วยเพราะไม่ชอบความตึงเครียดที่คู่กันมานั่นเอง   แม้ว่าสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำจะเป็นไปด้วยความหวังดีต่อเด็กๆ อยากให้เด็กได้ความรู้มากๆ แต่ขณะเดียวกันสาเหตุเหล่านี้ค่อยๆ ทำให้เด็กๆ เอียนจนเบือนหน้าหนีไปหากิจกรรมที่สนุกกว่า

เช่นนั้น หัวใจของการส่งเสริมการอ่านคืออะไร

การส่งเสริมใจรัก” และใจที่เปิดรับ “การอ่าน” ให้กลายมาเป็นกิจกรรมที่เป็นมิตร นึกถึงเสมอยามมีเวลา พูดง่ายๆ คือ อยากอ่าน อ่านแล้วสนุก คือด่านแรกที่เป็นแรงส่งสำคัญให้ทุกคน เปิดตัวเองเข้าสู่โลกของหน้ากระดาษที่มีแต่เต็มไปด้วยตัวอักษร ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ที่เคยมีประสบการณ์นั้น ก็คงพอนึกออกได้ไม่ยาก

แท้จริงการอ่านคืออะไร  

จากการศึกษาสมัยใหม่พบว่า “การอ่าน” จะนำไปสู่การสร้าง “กระบวนการเรียนรู้” ให้กับเด็ก พูดง่ายๆ คือ การอ่านไม่ได้ทำให้คนอ่านได้รู้แต่เนื้อความตามตัวอักษรบนกระดาษ แต่ในขณะอ่านและหลังการอ่านนั้น การอ่านจะส่งผลทำให้…

  • เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมอง และกระบวนการคิด เช่น สามารถคิดต่อยอดไปจากสิ่งที่อ่านได้อีก สามารถคิดวิเคราะห์ได้ว่าเรื่องราวเกิดจากอะไร อะไรควรเชื่อ อะไรเป็นความเห็น รู้จักที่จะหาข้อมูลเพิ่มเติม หรือเกิดความคิดใหม่ๆ เพราะการอ่านทำให้คิดไปได้หลากหลาย กว้างไกลแตกต่าง เป็นต้น
  • ได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นในชีวิต เช่น ทักษะภาษา ทักษะการพูด ทักษะการเขียน มีความจำดี
  • เกิดการเปลี่ยนแปลงจิตใจ เช่น เข้าใจความคิด ความรู้สึกตัวเอง และคนอื่น ทำให้จิตใจสงบ คลายความเครียดได้

จากบทความเรื่อง : รู้ให้ถูก! การอ่าน…แท้จริงคืออะไร ช่วยเด็กไทย (ไม่) เอียนอ่าน  นิตยสารเรียลพาเรนติ้งฉบับเดือนมีนาคม 2558

บทความโดย : พญ.พิชญา ตันธนวิกรัย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และผู้เขียนหนังสือ “อ่านสร้างสมอง”

ภาพ : Shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up