การ เล่านิทานให้ลูกฟัง คือหนึ่งกิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่น่าทำร่วมกับลูก เพราะนอกจากความสนุกสนาน เพลิดเพลินแล้ว การเล่านิทานให้ลูกฟังยังเป็นการใช้เวลาที่มีคุณภาพร่วมกับลูก ช่วยเสริมจินตนาการ เสริมพัฒนาการ และช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวอีกด้วย หากคุณพ่อคุณแม่รู้สึกกังวลว่าตัวเองจะเล่านิทานไม่สนุก ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นเล่านิทานอย่างไรดี คุณกวิตา พุฒแดง (ครูไนซ์) ผู้ก่อตั้งบ้านกางใจ พื้นที่สำหรับการเรียนรู้สำหรับเด็ก ๆ มี เทคนิคเล่านิทานให้ลูกฟัง มาแบ่งปันกันค่ะ โดยเทคนิคนี้จะช่วยทำให้ลูก ๆ ทั้งสนุก และมีพัฒนาการที่ดี ถ้าพร้อมกันแล้ว มาค้นหากลวิธีที่ดี หรือไขข้อสงสัยในการใช้นิทานเพื่อสื่อสารกับเด็กกันได้เลย
5 เทคนิค เล่านิทานให้ลูกฟัง
โดย ครูไนซ์ – กวิตา พุฒแดง ผู้ก่อตั้งบ้านกางใจ
ความสำคัญของหนังสือนิทาน
หนังสือนิทานมีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาเด็ก ๆ ซึ่งสะท้อนถึงบทบาทของผู้ปกครอง และสภาพแวดล้อมในการเติบโตของเด็ก การเล่านิทานเป็นวิธีการสื่อสารที่เหมาะสมในการสอน และกระตุ้นจินตนาการของเด็ก ผ่านเรื่องราวที่น่าสนใจ และน่าตื่นเต้น
นิทานช่วยสร้างความรู้สึกและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ การใช้ภาษากาย และการเล่าเรื่องราวช่วยให้เด็กเรียนรู้ และเข้าใจสิ่งรอบตัวได้ดีขึ้น ทั้งนี้จะมีผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์และสังคมของพวกเขา
นอกจากนี้ยังมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการสอนวินัยและบทเรียนที่สำคัญแก่เด็ก การนำเรื่องราวสนุกสนานและทำให้รู้สึกดีใจมาเป็นตัวอย่างให้เด็ก ๆ จะช่วยสร้างความสุขและจินตนาการในเรื่องราว
นิทานเป็นเครื่องมือที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้และพัฒนาของเด็ก ไม่ว่าเรื่องราวจะเป็นแนวตลกหรือแนวเรียนรู้ สิ่งสำคัญคือการสร้างความสนุกและความสนใจในการอ่านและเรียนรู้ของเด็ก ๆ ให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสที่จะได้ยินเรื่องราว เรียนรู้จากการตั้งคำถาม และคิดวิเคราะห์ด้วยตัวเอง ดังนั้น ความสำคัญของหนังสือนิทานจึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์และความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ๆ
บ้านกางใจ พื้นที่ของเด็กและครอบครัว
บ้านกางใจเป็นสถานที่ที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบการเรียนรู้และการจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน ที่บ้านกางใจ ครูไนซ์ดำเนินงาน ด้วยความเชื่อที่ว่า ความสุขของเด็กเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ดังนั้นจึงสร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้าง อบอุ่นใจ และปลอดภัย เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสเรียนรู้และเติบโตอย่างเต็มที่
บ้านกางใจ ทำงานเป็นทีมระหว่างบ้านกางใจและครอบครัว เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีกับเด็ก บ้านกางใจเปิดรับสมาชิกร่วมเรียนรู้ อายุ 2-4 ขวบ และคุณพ่อคุณแม่สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บไซต์ของบ้านกางใจเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกสถานที่เรียนรู้ของลูกได้ที่ www.baankangjai.com
Must Read >> บ้านกางใจ พื้นที่สำหรับเด็กๆ เล่น เรียนรู้ ตามวัย เติบโตไปอย่างมีความสุข
สิ่งที่ควรให้ความสำคัญในการ เล่านิทานให้ลูกฟัง
การสร้างสมาธิและให้เด็กได้ผ่อนคลายก่อนการอ่านนิทานเป็นสิ่งสำคัญ อาจให้ลูกเล่นเกม หรือวิ่งเล่น ทำกิจกรรมที่ใช้พลังงานก่อน พอสังเกตว่าเด็กพร้อมทั้งทางกายและจิตใจในการรับฟังเรื่องราวแล้ว จึงใช้เทคนิคอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การเลือกใช้เสียงพูดและน้ำเสียงที่เปลี่ยนไปตามบทสนทนาของตัวละคร การใช้ภาพตัวละครและฉากต่าง ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจ และความตั้งใจของเด็กในการฟังนิทาน อีกทั้งการเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการเล่านิทานเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยสร้างความสนใจและดึงดูดให้เด็กตั้งใจฟังมากขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญกับระยะเวลาในการเล่านิทาน ไม่ควรเล่านิทานที่ยาวเกินไป และเรื่องราวที่นำเสนอควรมีความหมายที่ถ่ายทอดไปยังเด็กเพื่อการเรียนรู้ได้ มีความสอดคล้องกับวัย และความสามารถในการทำความเข้าใจของเด็ก
5 เทคนิค เล่านิทานให้ลูกฟัง ให้สนุกไปพร้อมลูก
-
การใช้เรื่องราวเพื่อสอนและสร้างความเข้าใจ
เด็กมองและรับรู้เรื่องราว อย่างการสังเกตพ่อแม่รับประทานอาหาร พวกเขาเรียนรู้ภาษากาย รวมไปถึงการสังเกตสีหน้าของผู้คน ก่อนที่จะนำข้อมูลที่ได้รับรู้นั้นมาทำความเข้าใจในรูปแบบของตนเอง ตัวอย่างเช่น หากแม่เข้ามาในห้องด้วยใบหน้าที่บึ้งตึง ขมวดคิ้ว เด็กก็สามารถอนุมานได้อย่างรวดเร็ว หลังสังเกตการณ์หลายครั้งว่า เมื่อเห็นสีหน้าเช่นนั้นของแม่ แม่อาจจะกำลังแสดงความไม่พอใจ หรือมีเรื่องคุยด้วยอย่างจริงจัง
หนังสือนิทานตัวอย่าง คือ แมว 11 ตัว กับยักษ์อุฮิอะฮะ หนังสือเล่มนี้เป็นนิทานตลกสุดฮา ที่โรงเรียนอนุบาลต่าง ๆ เคยพิจารณาว่าต้องมี หนังสือเล่มนี้วางขายมาประมาณ 20 ปีแล้ว เป็นนิทานที่เน้นให้คิดสร้างสรรค์ มีท้องฟ้าสีชมพูสดใส และแมวเดินสองขา น้องแมว 11 ตัว ใช้สอนเรื่องการนับได้ ขณะที่อุปสรรคต่าง ๆ ในการเดินทางซึ่งจัดเป็นการผจญภัยก็ได้สร้างความเข้าใจเรื่องความรับผิดชอบ และช่วยสอนวินัยในการทำสิ่งที่ถูกต้องให้กับเด็ก
-
การใช้หนังสือเพื่อดึงดูดความสนใจและสร้างสภาพแวดล้อมทางภาษา
หนังสือเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ในการดึงดูดความสนใจ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กไปสู่ทิศทางที่ผู้ปกครองคาดหวังไว้ได้ ในช่วงเวลาก่อนเด็กเริ่มเข้าโรงเรียน ผู้ปกครองสามารถใช้หนังสือ โดยเฉพาะนิทาน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เด็กมีความสนใจในการเรียนรู้ โดยเน้นกระบวนการที่สร้างความตื่นเต้นและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่สนุกสนานต่าง ๆ
การดึงดูดให้ลูกมีพัฒนาด้านภาษา การใช้ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ในสภาพแวดล้อมที่สอนเด็กเป็นเรื่องสำคัญ แต่ควรหลีกเลี่ยงการผสมผสานประโยคของภาษาไทยและอังกฤษเข้าด้วยกัน การใช้ประโยคภาษาอังกฤษอย่างสม่ำเสมอ เล่าให้จบก่อนหนึ่งรอบ และจึงสลับใช้ภาษาไทยจะช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะการแต่งประโยคในภาษาหนึ่ง ๆ ได้ดีกว่า และช่วยให้เด็กเข้าใจเนื้อเรื่องจากในภาษาหนึ่ง และเรียนรู้จากอีกภาษาหนึ่งได้มากขึ้น
การสลับภาษาไปมา อาจทำให้เกิดความสับสนและยากต่อการเข้าใจภาษาอย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างสภาพแวดล้อมทางภาษาที่สอดคล้องกันเป็นสิ่งสำคัญ เช่น การเล่าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับฤดูร้อน และมีภาพประกอบสวยงาม หรือผู้ปกครองสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างฉาก และบทสนทนาของตัวละครในเรื่องเล่า โดยใช้ภาษาไทยหรือภาษาอื่นที่เหมาะสมกับเด็ก นอกจากนี้ ผู้ปกครองยังสามารถใช้วิธีการอื่น ๆ อย่างการเล่นบทบาทเพื่อให้เด็กมีส่วนร่วมและตอบสนองต่อเรื่องราวได้
-
การใช้เรื่องราวเป็นเครื่องมือสื่อสาร
เรื่องราวที่นำมาเล่า เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สำคัญต่อการเรียนการสอน ผู้ปกครองสามารถใช้การ์ดหรือรูปภาพทั้งปกนอกและภายในเล่มนิทานเป็นตัวช่วยในการเล่นโต้ตอบและการสร้างคำถามที่เกี่ยวข้องกับภาพได้ โดยนิทาน 1 เล่ม สามารถใช้เป็นเครื่องมือสร้างการสนทนา สื่อสารให้เด็กคิด ส่งเสริมการอ่าน และการสื่อสารภาษาด้วยความเข้าใจ การใช้เรื่องราวและนิทานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เรื่องที่เกี่ยวข้องกับธรรมะหรือประวัติศาสตร์ อาจส่งเสริมความสนใจในเรื่ององค์รวมและคุณค่าทางศีลธรรม ทั้งยังอาจสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กได้อีกด้วย ดังนั้น การใช้เรื่องราวจึงเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารเชิงบวก ต่อการพัฒนาและการเติบโตของเด็ก
- การให้เวลา
ให้เวลาเพื่อสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นและสนุกสนานซึ่งจะสร้างความสนใจในการอ่านหนังสือของเด็ก สร้างปฏิสัมพันธ์และการเรียนรู้ที่ดีในเด็ก ผู้ปกครองควรใช้เวลาในการฝึกเล่านิทาน เพราะอาจมีคำศัพท์ที่ไม่คุ้นเคยหรือออกเสียงผิด ซึ่งก็ถือว่าเป็นโอกาสสำหรับผู้ปกครองในการแก้ไขปัญหา และแสดงให้เด็กเห็นว่า เราสามารถจัดการกับความท้าทายดังกล่าวได้ นอกจากนี้ เวลาที่เล่านิทาน คุณพ่อคุณแม่ควรให้เวลากับการมองและสังเกตของเด็ก ๆ ขณะที่พวกเขามองภาพในหนังสือนิทาน เพื่อเป็นการสังเกตลูกด้วย
การวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่า การปลูกฝังความรักในการอ่านให้แก่เด็ก ไม่ใช่เพียงแค่การมีหนังสือจำนวนมากอยู่ในบ้าน แต่ต้องมีแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องเช่นกัน การครอบครองหนังสือจำนวนมากไม่ได้รับประกันว่าลูกจะเติบโตมาเป็นเด็กที่หลงใหลในการอ่าน แต่ถ้าพ่อแม่มีหนังสือวรรณกรรมและนิตยสารให้เลือกมากมาย และใช้เวลาแค่ไม่กี่นาทีในแต่ละวันเพื่ออ่านหนังสือสองสามหน้า ก็จะช่วยสร้างการกระตุ้นให้ลูกพัฒนานิสัยการอ่านได้อย่างอิสระ และมีความสนใจในการอ่านมากขึ้นได้
-
การให้ความสำคัญกับทัศนคติต่อการเล่าเรื่อง
แนวทางที่ดีที่สุดคือ “การนำวิธีการแบบ 180 องศาที่เป็นกลาง” มาใช้ในการเล่าเรื่อง โดยผู้ใหญ่ควรให้ความสำคัญกับประสบการณ์ และการมีส่วนร่วมของเด็ก ควรเล่านิทานด้วยความมั่นใจ สนุกสนาน และเปี่ยมไปด้วยความกระตือรือร้น หากทำแบบนี้ เด็กจะได้รับประสบการณ์ที่ดี พวกเขาจะไม่รู้สึกกังวลใจเกี่ยวกับการแปลความหรือไม่รู้สึกกังวลว่าจะต้องเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดอย่างสมบูรณ์แบบ แต่จะช่วยพัฒนาทัศนคติที่ดีต่อหนังสือและเรื่องเล่าต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น
ผู้ปกครองต้องเข้าใจว่า หนังสือนิทานไม่จำเป็นต้องเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษเท่านั้น และไม่จำเป็นต้องมีรูปภาพประกอบ หนังสือเสียงสำหรับเด็ก หรือหนังสือผ้าที่ให้ประสบการณ์สัมผัส ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
ในส่วนของรูปแบบการเล่า แม้จะมีทฤษฎีที่ออกมาแย้งว่า เวลาเราเล่านิทาน เราไม่ควรทำเสียงสูงต่ำ แต่ควรเล่าด้วยโทนเสียงเดียวเสมอตั้งแต่ประโยคแรกจนถึงประโยคสุดท้าย แต่ทางครูไนซ์ได้เสนอว่า การใช้เสียงสามารถกระตุ้นการเรียนรู้ได้ นอกจากนี้ ครูไนซ์ยังแนะนำว่า ผู้ปกครองอาจจะเล่านิทาน โดยใช้เทคนิคการร้องเพลงประกอบด้วยก็ได้ โดยใช้ตัวอย่างหนังสือหัวผักกาดยักษ์ ประกอบการสาธิต
ตัวอย่างการเล่าเรื่องเพื่อการเรียนรู้ในต่างประเทศ
- ประเทศออสเตรเลียและอเมริกาเหนือ มีหลักสูตรการศึกษาที่สอนให้เด็กในระดับอนุบาลสามารถใช้บอร์ดเกมหรือหนังสือนิทานเป็นตัวช่วยในการเรียนรู้ และเมื่อเด็กเข้าสู่ระดับประถมศึกษาจะได้เรียนรู้การอ่านแผนภูมิพื้นฐาน เช่น แผนภูมิแท่งหรือแผนภูมิวงกลม เมื่อเด็กเข้าสู่ระดับมัธยมศึกษาจะเป็นการอ่านแผนที่ที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การอ่านแผนที่ที่ใช้ในการเดินทางไกลในอดีต จากนั้นผู้เรียนจะฝึกการอ่านแผนที่ที่ยากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสู่ระดับการศึกษาสูง ๆ และในขั้นตอนสุดท้าย ผู้เรียนจะพัฒนาความรู้มาสร้างอินโฟกราฟฟิกเหมือนที่เห็นในสื่อต่าง ๆ การเล่าเรื่องและให้เรียนรู้เช่นนี้เน้นไปที่ภาพและการมีส่วนร่วมเพื่อความเข้าใจ
- ประเทศญี่ปุ่น มีการสำรวจพบว่าเด็กญี่ปุ่นส่วนใหญ่สนุกกับการอ่านหนังสือภาพที่เป็นภาพจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย หรือโปสการ์ด มากกว่าภาพนิทานที่วาดขึ้นมา
สรุปสาระ เทคนิค เล่านิทานให้ลูกฟัง
- เล่าเรื่องราว เพื่อสอน และสร้างความเข้าใจ
- หนังสือนิทาน เป็นเครื่องมือเพื่อดึงดูดความสนใจ และสร้างสภาพแวดล้อม เพื่อการพัฒนาทักษะทางภาษา ทั้งภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ
- เรื่องราวในนิทาน เป็นเครื่องมือสื่อสาร ที่ช่วยในการสร้างปฏิสัมพันธ์ กระตุ้นการอ่าน และการสื่อสารภาษาของเด็ก
- การให้เวลา ช่วยสร้างบรรยากาศที่อบอุ่น และสนุกสนาน ผู้ปกครองควรใช้เวลาให้เพียงพอในการฝึกเล่านิทาน และสังเกตการณ์เด็ก เพื่อผลลัพธ์ที่ดีในการสื่อสารด้วย
- ทัศนคติต่อการเล่าเรื่อง ผู้ปกครองควรเล่าเรื่องราวด้วยความมั่นใจ และสนุกสนาน เพื่อสร้างความสนใจ และความตื่นเต้นในการเรียนรู้ของเด็ก
เทคนิค เล่านิทานให้ลูกฟัง นี้สามารถนำไปปรับใช้ได้ในหลายรูปแบบ เพราะการเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้กับลูกน้อยฟังนั้น จริง ๆ แล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือนิทานเพียงอย่างเดียวก็ได้ คุณพ่อคุณแม่อาจเลือกเป็นหนังสือภาพต่าง ๆ หรือนำสิ่งที่เห็นอยู่รอบตัวมาพูดคุยกับลูกได้ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่และลูกได้ใช้เวลาร่วมกัน เพื่อสร้างพื้นที่ที่สนุกสนาน เติมเต็มความรู้ และความเข้าใจที่สร้างสรรค์ ส่งผลให้ลูกน้อยพัฒนาทักษะการอ่าน ความคิดสร้างสรรค์ และความสนใจในการเรียนรู้ได้อย่างมาก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เหตุผลที่ควรเล่านิทานและเทคนิคการเล่านิทานให้ลูกน้อยเพลิดเพลินและมีความสุข