นิทานพื้นบ้านสั้นๆ มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เรื่องราวที่ถูกเล่าต่อมาเป็นเวลาช้านาน จากรุ่นสู่รุ่น เล่าให้ลูกฟังก่อนนอน เสริมสร้างพัฒนาการด้านต่างๆให้ลูกน้อย
5 นิทานพื้นบ้านสั้นๆ ภาคเหนือ สืบสานวัฒนธรรมไทย
นิทานพื้นบ้าน ในแต่ละท้องถิ่นก็จะมีเรื่องเล่าที่แตกต่างกันไป ตามลักษณะภูมิประเทศ วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณี ของภูมิภาคนั้นๆ บทความนี้ ทีมกองบรรณาธิการ ABK ขอนำเสนอ นิทานพื้นบ้านสั้นๆ ภาคเหนือ มาดูกันค่ะว่า นิทานพื้นบ้านไทย ของทางภาคเหนือจะเป็นอย่างไรกันบ้าง
นิทานพื้นบ้านสั้นๆ ภาคเหนือ สีบสานวัฒนธรรมไทย
นิทานล้านนา เรื่อง ใครโง่กว่าใคร
หลายปีมาแล้ว มีชายผู้หนึ่งชื่อ “คง”… ทิดคนนี้เคยบวชเป็นพระภิกษุหลายพรรษา… ต่อมาได้สึกและแต่งงานอยู่กินกับภรรยาจนมีบุตรคนหนึ่ง…ทิดคงและครอบครัวมีอาชีพในทางทำนา แกมีนาส่วนตัวอยู่แปลงหนึ่ง แกทำนาด้วยตนเองทุกๆปี นานี้อยู่ห่างจากบ้านของแกราว ๆ 4–5 กิโลเมตร… เวลาเช้าทิดคงจะออกไปไถนาพร้อมกับควาย ครั้นตอนสายและกลางวันลูกสาวจะเป็นผู้นำอาหารไปส่งให้เสมอ
วันหนึ่งตอนบ่าย… ภรรยาไปตลาดซื้อปลามาตัวหนึ่งเอาไปแกงส้มอร่อยมาก… นางคิดถึงสามีจึงขอร้องให้ลูกสาวช่วยนำอาหารมื้อนี้ไปส่งให้ด้วย… ลูกสาวรับของออกเดินจากบ้านไป ขณะที่เดินทางฝ่าแดดที่กำลังร้อนจัด ประกอบกับวันนั้นบุตรสาวต้องทำงานที่บ้านแต่เช้าจนบ่ายเมื่อฝ่าแดดมารู้สึกเหน็ดเหนื่อยยิ่งนัก นางจึงหยุดพักวางหม้อข้าวหม้อแกงลง นั่งพักผ่อนใต้ร่มไม้คิดว่าพอหายเหนื่อยแล้วตนจึงค่อยเดินทางต่อไป พอดีมีลมโชยมานางเลื่อนตัวเอนกายพิงกับต้นไม้ม่อยหลับไป… ขณะที่หลับนางฝันว่ามีบุตรเศรษฐีมาชอบพอและสู่ขอนางกับพ่อแม่ ได้อยู่กินกันอย่างเป็นสุข จนกระทั่งมีครรภ์ ต่อจากนั้นไม่นานนักนางก็คลอดบุตรออกมาเป็นชาย อ้วนท้วนน่ารักต่อมาเด็กคนนั้นได้ล้มป่วยลงโดยกะทันหันถึงแก่ความตาย นางร้องไห้ด้วยความเสียใจ ขณะที่ละเมอไขว่คว้าอยู่นั้น มือไปปัดเอาหม้อแกงหกเรื่ยราดหมด เลยไม่มีอาหารไปให้พ่อ…
… เมื่อนางตื่นขึ้นจึงร้องไห้กลับบ้าน เล่าเรื่องราวต่าง ๆที่เกิดขึ้นให้แม่ฟัง แม่ได้ยินดังนั้นพลอยร้องไห้เสียใจด้วยพร้อมกับรำพันว่า “โธ่เอ๋ยหลานรัก เกิดมาไม่ทันไรมาด่วนตายเสียได้ ยายไม่ทันได้กอดได้อุ้ม ฮือๆๆ“… พอดีขณะนั้นสามีหิวข้าวรีบเดินกลับบ้าน เมื่อมาถึงพบคนทั้งสองกำลังร้องไห้ด้วยความเสียใจจึงไต่ถามเรื่องราวเมีย พอเห็นสามีมา รีบวิ่งเข้าไปหาพร้อมกับบอกว่า “ตาเอ๋ยตา หลานเกิดมาไม่ทันไรก็ตายเสียก่อน โธ่ไม่น่าเลยช่างบุญน้อยจริงๆ น่าจะคอยให้ตายายอุ้มบ้างก็ไม่ได้” ทิดคงสงสัย…ไต่ถามลูกสาวก็ทราบเรื่องราวทั้งหมด จึงพูดออกมาว่า “มันฝันนี่หว่า มันจริงเมื่อไร เอ็งทำไมจึงโง่เขลาเช่นนี้”
เมื่อทิดคงเห็นว่าภรรยาและลูกสาวของตนโง่เขลายิ่งนัก… แกจึงตัดสินใจขายควาย รวบรวมเงินทองติดตัวออกเดินทางลงเรือไปยังเมืองอื่นๆ ขณะที่พายเรือไปตามแม่น้ำนั้น เขาพบชายคนหนึ่งนั่งร้องไห้อยู่จึงแวะเข้าไปถามว่า “ท่านร้องไห้ทำไม” ชายผู้นั้นบอกว่า “ข้าพเจ้าเอามือออกจากไหเกลือไม่ได้” ทิดคงมองเห็นชายนั้นล้วงมือลงไปในไหเกลือและกำเกลือจนเต็มกำมือปากไหนั้นแคบ เขาจึงเอามือออกไม่ได้ ทิดคงหัวเราะ บอกให้เขาปล่อยเกลือเสีย มือก็จะออกได้… ชายผู้นั้นทำตาม จึงเอามือออกได้และกล่าวคำขอบใจ พร้อมกับมอบเป็ดให้เป็นรางวัลตอบแทนหนึ่งตัว
… ทิดคงพายเรือต่อไป… เขาพบคนหมู่หนึ่งกำลังเอาเชือกผูกหัวเสาอยู่ ต่างฉุดดึงกันไปคนละทาง… ทิดคงรู้สึกสงสัยแวะเรือเข้าไปร้องถามว่า “พวกท่านทำอะไรนั่น”… “เสามันสั้นไป เราพยายามจะดึงมันให้ยาวอีกสักหน่อย” ทิดคงบอกว่า “ท่านเอ๋ย เสาดึงมันไม่ยืดออกได้หรอก ท่านต้องการจะให้เสายาวขึ้น ก็หาเสามาต่อเข้าซิ“ พวกนั้นปฏิบัติตามและดีใจมากที่เสายาวออกมาตามที่ต้องการ แต่ละคนได้ชมเชยต่างๆ นานาว่า “ท่านช่างมีปัญญาแท้ๆ” แล้วต่างก็หาไก่มามอบให้เป็นรางวัล
… ทิดคงพายเรือต่อไปจนกระทั่งพบคนอีกกลุ่มหนึ่ง… เขาสร้างตึกก่ออิฐถือปูน เนื่องจากไม่มีหน้าต่างดังนั้นภายในห้องจึงมืด พวกนั้นต่างช่วยกันเอาตะกร้า กระบุง หีบ และถังต่างๆ ออกวางกลางแดด… พอสักครู่ก็ยกเข้าไปเทในห้องเพื่อให้ห้องสว่างขึ้น… แม้ว่าเขาจะขนสักเท่าไรห้องนั้นก็ไม่สว่างขึ้น… ทิดคงรู้สึกแปลกใจจึงร้องถามออกไปว่า “ท่านทำอะไร ขนกันไม่รู้จักหมดจักสิ้น“ พวกนั้นบอกว่า “พวกเราขนแดดไปเทในห้องเพื่อให้มันสว่างขึ้น“ ทิดคงหัวเราะ พร้อมกับบอกว่า “สหายเอ๋ย ท่านอยากให้ห้องสว่าง ก็เจาะกำแพงหน้าต่างซิ“… พอพูดจบทิดคงก็ขึ้นจากเรือไปช่วยทำหน้าต่างให้… ตึกที่มืดกลับสว่างขึ้นทันที พวกนั้นพากันไชโยโห่ร้องด้วยความยินดีและกล่าวคำชมเชยว่า “ท่านช่างมีปัญญาจริงๆ“… ทุกๆคนต่างรวบรวมรางวัลมอบให้เป็นที่ระลึก
… ทิดคงเริ่มรู้สึกว่าที่ตนคิดว่าภรรยาและบุตรของตนโง่นั้น… พวกที่ตนมาพบนี้ยิ่งโง่กว่าเสียอีก… ทางที่ดีควรกลับไปคืนดีกับลูกเมียเสียดีกว่า… หากลูกเมียผิดพลาดไปตนยังพอจะแนะนำสั่งสอนให้เป็นคนดีได้… ทิดคงจึงกลับบ้านอยู่กันกับภรรยาและบุตรอย่างเป็นสุขต่อไป
1. อันคนโง่นั้นมีอยู่ทั่วไป… อย่าคิดว่ามีแต่คนในครอบครัวเราเท่านั้น… ทางแก้ปัญญามิใช่จะหนีปัญหา… พึงใช้ปัญญาแก้ไข… เช่น อบรม สั่งสอน ชี้แนะแนวทางให้
2. คติ “เหนือฟ้ายังมีฟ้า“
นิทานล้านนา เรื่องย่าผันคอเหนียง
กาลก่อน ณ หมู่บ้านตั้งอยู่ในชนบท ไกลออกไปจากเมืองหลวง ชาวบ้านมีอาชีพทำไร่ ทำนาหาของป่ามาขาย หมู่บ้านแห่งนี้มีหญิงสาวรูปร่างอาภัพผู้หนึ่ง นางไม่มีชายหนุ่มผู้ใดไปเที่ยวหาเลยเนื่องจากนางคอพอกโตใหญ่น่าเกลียด ชาวบ้านเรียกนางว่า “อีตาคอเหนียง“
ทุกๆคืนแม้ว่านางจะนั่งปั่นฝ้ายอยู่กลางลานบ้านรอหนุ่มๆมาเที่ยวหา ก็ปรากฏว่าไม่มีใครมาหานางเลย แม้ว่าจะได้ยินเสียงร้องเพลงและเล่นดนตรีของพวกหนุ่มๆที่ผ่านมา นางคิดว่าเขาคงจะแวะมาเที่ยวหาตน แต่ปรากฏว่าหนุ่มเหล่านั้นกลับเลยไปบ้านอื่นเสียทุกๆคราว
เมื่อเป็นเช่นนี้ นางสาวตารู้สึกน้อยใจ อยากจะตายเสียให้พ้นความชอกช้ำใจ วันหนึ่งขณะที่นางเห็นปลอดคน จึงจัดการตระเตรียมเครื่องใช้ตั้งใจว่าจะเข้าไปตายในป่าเสียให้รู้แล้วรู้รอดไป บางทีความตายอาจช่วยให้ตนพ้นทุกข์ไปได้… นางมุ่งหน้าออกเดินทางเข้าป่าขึ้นเขาไป โดยตั้งใจเด็ดขาดว่าเป็นตายร้ายดีจะไม่ยอมกลับบ้าน วันที่ 14 นางบรรลุถึงกลางดงลึก ซึ่งนางเลือกว่าที่นี่คงจะไม่มีใครตามมารบกวน นางคงจะตายอย่างเป็นสุข
… เนื่องจากความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า นางล้มฟุบเป็นลมอยู่กลางดงนั้นเอง ขณะที่นางนอนสลบไสลอยู่ที่นั้น คืนวันนั้นเป็นคืนที่เหล่าผีป่าทั้งหลายตระเตรียมยืมข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อนำไปใช้ในการจัดงานเลี้ยงดูกันตามประเพณีของตน
ผีตนหนึ่งเดินมาเห็นคอพอกของนางสาวตา มันคิดในใจว่า เราอุตส่าห์ยืมหม้อแกงที่ไหนๆก็หาไม่ได้ เพิ่งมาพบที่นี่ ผีจึงตรงคว้าเอาคอพอกของนางไป พร้อมกับพูดว่า “แม่นาง ข้าขอยืมหม้อแกงหน่อยนะ เสร็จธุระแล้วจะเอามาส่งให้“… นางสาวตารู้สึกตัวตื่นขึ้น เอามือคลำต้นคอของตนรู้สึกว่าคอพอกของตนที่เป็นอยู่นั้น ขณะนี้หายไปสิ้น นางรู้สึกดีใจยิ่งนัก รีบวิ่งบ้างเดินบ้างจนถึงบ้านโดยไม่เหน็ดเหนื่อย พอถึงบ้านก็เล่าเรื่องราวทั้งหลายให้เพื่อนๆฟัง
เพื่อนๆที่ทราบเรื่องคอพอกของสาวตาหาย ต่างพากันมาซักถามจนรู้ถึงเรื่องราว ณ ที่นั้น มีหญิงสาววัยกลางคนผู้หนึ่งชื่อ “ผัน” แกก็คอพอกเหมือนกัน แต่ไม่ได้โตใหญ่เท่าของสาวตา นางเองต้องการอยากให้คอพอกของตนหาย นางเฝ้าซักไซ้ไล่เลียงจนทราบความจริง…นางผันจึงออกเดินเข้าป่าไป เป็นเวลาร่วมๆสิบวัน จนถึงป่าที่นางสาวตาไปนอนสลบไสล ด้วยความเหน็ดเหนื่อยและอ่อนเพลียนางจึงแวะพักนอนกลางวันกลางทางนั่นเอง
… เมื่อผีมาดูนางสาวตาไม่พบ มันเห็นหญิงวัยกลางคนนอนแทนที่ จึงส่งหม้อนั้นคืน พอรุ่งเช้านางผันตื่นขึ้น เมื่อเอามือลูบคลำคอของตน แทนที่คอพอกของตนจะหาย กลับโตกว่าเดิมขึ้นอีกมากมาย นางร้องไห้เสียใจที่ตนเสียแรงอุตส่าห์ดั้นด้นเข้าป่ามาทั้งทีอยากจะให้คอพอกหาย… กลับกลายเป็นโตยิ่งกว่าเดิมเสียอีก เมื่อเป็นเช่นนี้นางผันไม่รู้จะทำอย่างไร… เมื่อหมดหนทางแก้ ประกอบกับนางคิดไว้ว่าวัยของตนก็ล่วงเข้ากลางคนแล้ว แม้ว่าคอจะพอกก็ไม่เห็นเป็นอะไร สู้ตนพยายามทำความดีแล้วความดีนั้นคงจะสนองให้นางเป็นสุขใจได้บ้างกระมัง…
…นับแต่นั้นมา นางพยายามประกอบกรรมดี ช่วยเหลือกิจกรรมงานของชาวบ้านโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ชาวบ้านทุกคนถึงกับออกปากสรรเสริญคุณงามความดีที่นางได้ปฏิบัติไป ถึงแม้ว่านางจะตายไปหลายปีแล้วก็ตาม ชาวบ้านยังกล่าวขวัญถึงนางเสมอว่า “ใจบุญเหมือนย่าผันคอเหนียง”
1. ดั่งคติที่ว่า “แข่งเรือแข่งพายแข่งได้ แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งไม่ได้”
2. โชควาสนาของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน…แต่ทุกคนสามารถสร้างโชควาสนาให้ดีให้มีมากขึ้นได้ด้วยตัวเราเอง…หากมีความตั้งใจจริง
นิทานล้านนา เรื่องคนแจวเรือจ้างกับนักศึกษา
มีนักศึกษาผู้คงแก่เรียนคนหนึ่ง ได้ทำการว่าจ้างเรือแจวให้พาข้ามฟาก ในขณะที่ท้องฟ้าเต็มไปด้วยเมฆดูมืดครึ้ม และลมเริ่มพัดจนน้ำเกิดเป็นระลอกคลื่นเล็กๆ เรือแจวได้แล่นไปอย่างช้าๆ จนเมื่อเรือได้เข้าสู่กระแสน้ำอันเชี่ยวกราด คนแจวเรือจึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก ส่วนฝ่ายนักศึกษานั้นกำลังนั่งก้มหน้าหนังสือเล่มใหญ่อยู่ จนในที่สุดนักศึกษาก็ได้เงยหน้าขึ้นมาจากตำราแล้วมองไปยังคนแจวเรือและพูดคุย
“ลุงๆ เคยอ่านหนังสือประวัติศาสตร์บ้างไหม?” นักศึกษาเอ่ยถามขึ้น
“ไม่เคยเลยครับ” คนแจวเรือจ้างตอบด้วยน้ำเสียงที่แผ่วเบา
นักศึกษาจึงพูดขึ้นว่า “ถ้างั้นลุงก็พลาดโอกาสเสียแล้วหละ ในหนังสือประวัติศาสตร์นะลุง เต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าอ่าน มีเรื่องของกษัตริย์และพระราชินีในสมัยอดีต รวมถึงเรื่องของสงคราม การต่อสู้ ทำให้เราสามารถรู้ว่าคนในสมัยโบราณ ใช้ชีวิตกันแบบไหน แต่งกายกันอย่างไร ประวัติศาสตร์จะบอกให้ได้รู้ถึงความเจริญและความเสื่อมลงของชนชาติต่างๆ ทำไมลุงไม่อ่านประวัติศาสตร์บ้างเล่า?”
“ผมไม่เคยเรียนหนังสือครับ” คนแจวเรือตอบ
ในเวลานั้นคนแจวเรือก็ยังคงแจวเรือต่อไป ส่วนนักศึกษาก็ก้มหน้าอ่านตำราต่อไป คงมีแต่เสียงใบแจวกระทบพื้นน้ำเท่านั้น เมื่อผ่านไปสักครู่หนึ่ง นักศึกษาก็เอ่ยถามคนแจวเรือขึ้นอีก
“ภูมิศาสตร์เล่าลุง เคยอ่านบ้างไหม?” นักศึกษาเอ่ยถาม
“ไม่เคยเลยครับ” คนแจวเรือตอบ
นักศึกษาจึงกล่าวว่า “ภูมิศาสตร์ เป็นวิชาที่สอนให้เราได้รู้จักกับโลกและประเทศต่างๆ และยังรวมถึงกระทั่งภูเขา แม่น้ำ ลม พายุ ฝน นะลุง วิชาภูมิศาสตร์เป็นวิชาที่น่าสนใจมาก ลุงไม่รู้จักวิชานี้เลยรึ?”
“ไม่เคยเลยครับ” คนแจวเรือตอบ
นักศึกษาส่ายหน้า “ถ้าไม่รู้จักวิชานี้ ชีวิตลุงก็เหมือนไม่มีค่าอะไรเลย”
“วิทยาศาสตร์ละลุง เคยอ่านบ้างรึเปล่า”
“ไม่เคยอีกแหละคุณ” คนแจวเรือตอบ
“ลุงเนี่ยนะเป็นคนยังไงกันแน่? วิทยาศาสตร์ที่ช่วยอธิบายถึงเหตุและผลต่างๆ ลุงรู้มั้ยความก้าวหน้าของคนเราในทุกวันนี้ขึ้นอยู่กับวิทยาศาสตร์โดยตรงเลยนะ นักวิทยาศาสตร์เป็นคนที่สำคัญอย่างมากในโลกนี้เลยก็ว่าได้ แต่นี่อะไรลุงกลับไม่รู้เรื่องพวกนี้เอาเสียเลย ชีวิตของลุงช่างมีค่าน้อยเสียเหลือเกิน”
นักศึกษาปิดตำราของเขาและนั่งเงียบไม่พูดอะไรขึ้นอีก
ในช่วงเวลานั้นก้อนเมฆสีดำได้แผ่ขยายและปกคลุมเต็มไปทั่วทั้งท้องฟ้า ลมเริ่มพัดแรงขึ้น มีฟ้าแลบแปลบปลาบ เป็นเหตุบอกว่าพายุกำลังจะมา และเรือก็ยังเหลือระยะทางอีกกว่าครึ่งซึ่งไกลมากกว่าจะถึงฝั่ง
คนแจวเรือแหงนขึ้นมองท้องฟ้าด้วยสีหน้าที่หวาดหวั่น “ดูเมฆนั่นซิคุณ พายุคงจะมาถึงเราในไม่ช้า คุณว่ายน้ำเป็นไหมครับ?”
นักศึกษาพูดขึ้นอย่างตื่นตกใจกลัว “ว่ายน้ำ ผมว่ายไม่เป็นหรอกลุง”
บัดนี้คนแจวเรือเป็นฝ่ายเลิกคิ้วมองนักศึกษาอย่างประหลาดใจบ้างแล้ว และพูดว่า “อะไรกัน นี่คุณว่ายน้ำไม่เป็นหรอกรึ คุณมีความรอบรู้มากมายออกขนาดนี้ ประวัติศาสตร์เอย ภูมิศาสตร์เอย และวิชาวิทยาศาสตร์เอยคุณก็รู้ แต่ทำไมคุณถึงไม่ไปเรียนการว่ายน้ำด้วยเล่า อีกสักประเดี๋ยวเถอะ คุณก็จะได้รู้ว่าชีวิตของคุณไม่มีค่าเลย”
ลมพายุพัดแรงขึ้นเรื่อยๆ เรือแจวลำน้อยถูกคลื่นและลมโหมซัดพัดกระหน่ำใส่เข้ามา ในไม่ช้าไม่นานเรือแจวก็ถูกคลื่นและพายุซัดจนเรือพลิกคว่ำ คนแจวเรือจ้างสามารถว่ายน้ำขึ้นฝั่งมาได้อย่างปลอดภัย แต่ทว่านักศึกษาผู้น่าสงสารได้จมหายไปในกระแสน้ำอันเชี่ยวกราดนั้นแล้ว
นิทานล้านนา เศรษฐีกับยาจก
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีชายสองคนเป็นเพื่อนกัน ชายคนแรกมีชีวิตอยู่เพียงลำพังไม่มีครอบครัวหรือญาติพี่น้อง แต่เขามีทรัพย์สมบัติ มีฐานะร่ำรวย… แต่ชายคนที่สองมีครอบครัวแต่ฐานะยากจน
อยู่มาวันหนึ่งชายคนแรกบอกกับชายคนที่สองว่า “ถึงเจ้าจะมีภรรยามีลูกแล้ว แต่ข้าก็ไม่เคยนึกอิจฉาเจ้าเลยเพราะว่าเจ้ายากจน ข้าแม้จะอยู่เพียงลำพังแต่ฐานะร่ำรวยกว่าเจ้า” ชายคนที่สองกลับบอกว่า “แม้เจ้าจะมีฐานะร่ำรวย มีทรัพย์สินเงินทองมาก แต่ข้าก็ไม่นึกอิจฉาเจ้าเหมือนกัน เพราะข้ามีภรรยา มีลูก ข้ามีข้าวกิน มีลูกหลานคอยปรนนิบัติดูแลข้าอย่างใกล้ชิด… แต่เจ้าต้องอยู่โดดเดี่ยวและทำงานเองทุกอย่าง ไม่มีคนช่วย” ชายคนแรกก็บอกอีกว่า “แต่บ้านข้ามีทุกอย่างที่บ้านเจ้าไม่มี”
ดังนั้นเมื่อต่างคนต่างก็เห็นว่าตัวเองมีชีวิตที่สุขสบายกว่า ชายคนที่สองจึงออกความเห็นว่าให้เปลี่ยนกันไปกินข้าวบ้านละเมื้อ โดยไปกินข้าวที่บ้านของคนแรกก่อน พอไปถึงบ้านของชายคนแรกพบว่าภายในบ้านมีทรัพย์สมบัติทุกอย่างครบถ้วน แต่เขาไม่มีคนช่วยงานบ้านเลย ต้องทำงานทำอาหารเองทุกอย่าง เขาจึงต้องเหนื่อยเพียงคนเดียว
ต่อมาวันรุ่งขึ้นก็เปลี่ยนไปกิน ข้าวที่บ้านของชายคนที่สองต่อ ชายคนแรกจึงพบว่าชายคนที่สองแทบจะไม่ได้ทำอะไรเลย เขาเพียงแต่นั่งอยู่เฉยๆพูดเคยกับเขาบ้าง พูดกับลูกหลานบ้างอย่างมีความสุข ลูกๆของเขาเป็นคนจัดการทุกอย่าง กวาดบ้าน เลี้ยงสัตว์ ทำอาหาร พอถึงเวลากินข้าว ลูกๆก็เข้ามาอุ้มชายคนที่สองและภรรยาไปกินข้าว พอกินได้สักช่วงชายคนที่สองก็บ่นว่าหนาว อยากไปกินข้าวข้างนอก ลูกๆจึงยกสำรับกับข้าวไปไว้หน้าบ้าน และอุ้มพ่อแม่ไปด้วยต่างคนต่างช่วยกัน โดยไม่เกี่ยงกันแต่พอกินได้สักพักก็บ่นว่าร้อนอีกลูกๆก็ช่วยกันเคลื่อนย้าย เข้าไปในบ้านอีก
… หลังจากกินข้าวเสร็จชายคนที่สองจึงถามชายคนแรกว่า “เจ้ารู้หรือยังว่าใครสุขสบายที่สุด เพราะข้าไม่ต้องทำอะไรเลย…มีคนช่วยเหลือข้าทุกอย่างไม่ว่าข้าจะเคลื่อนไหวไปทางใดข้าเปรียบเสมือน… กษัตริย์ที่มีบริวารให้รับใช้มากมาย… ในขณะที่เจ้ามีเงินทองแต่ไม่มีความสุขเลย เพราะเจ้าต้องเหนื่อยไม่มีบริวารให้รับใช้เหมือนข้า ข้าจึงไม่อิจฉาเจ้าเลย”
การอยู่เพียงลำพังไม่มีครอบครัวหรือญาติพี่น้อง… ทำให้ลำบาก เหนื่อยต้องทำเอง ถ้าไม่ทำก็ไม่มีกิน
แต่ถ้ามีครอบครัวดี…ก็เหมือนกษัตริย์ มีลูกหลานคอนดูแลอย่างใกล้ชิดแทบไม่ต้องทำอะไรเลย
นิทานล้านนา เรื่องคนคดดีหรือคนซื่อดี
ในระหว่างการเดินทางพวกเขาก็ได้เข้าพักหมู่บ้านร้างแห่งหนึ่ง คนที่ถูกรังแกฝันว่าเห็นเทพองค์นาง และเทพบอกกับเขาว่าในเมืองนี้มีพระธิดาทรงป่วย ไม่มีใครรักษาได้ ให้เจ้าเอาฟืน 3 มัด ไปเผาก้อนหินก้อนใหญ่ๆ ที่อยู่ใกล้ๆ เมือง พอก้อนหินไหม้ก็จะกลายเป็นแม่น้ำ ชาวบ้านก็ได้ทำนาอาการของพระธิดาก็จะหายจากการป่วย
พอรุ่งขึ้นมาเขาได้ทำตามที่เทพบอกและทุกอย่างก็เป็นจริง พระราชาทรงพระราชทานรางวัลให้ชายคนนี้ พอเพื่อนอีกสองคนเห็นก็มาหา แล้วถามว่า เจ้าทำอย่างไรถึงได้ดีขนาดนี้ ชายคนนี้ก็บอกว่า “ข้าเป็นคนซื่อข้าก็ได้ดี เจ้าสองคนละเป็นอย่างไรบ้าง ไหนว่าคนคดดีกว่าไม่ใช่หรือทำไมถึงมีสภาพอย่างนี้” และเขาก็หัวเราะดังๆออกมาอย่างมีความสุข
“ซื่อกินไม่หมด…คดกินไม่นาน”
นิทาน ที่ ทีมกองบรรณาธิการ ABK นำเสนอนี้ ได้สอดแทรกให้เห็นถึงวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ของผู้คนทางภาคเหนือผ่าน นิทานเรื่องสั้น ๆ ที่ปู่ย่าตายายเล่าให้ลูกหลานฟัง คงจะถูกใจคุณพ่อคุณแม่กันนะคะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://nitanstory.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่