สู่เส้นทางนักประดิษฐ์ พิชิตความจริง
กลางเดือนกันยายนที่ผ่านมาเรื่องราวของอาห์เหม็ด โมฮัมเหม็ด เด็กมัธยมวัยสิบสี่ปีจากรัฐเท็กซัสสหรัฐอเมริกาสะท้อนใจดิฉันอย่างมากอาห์เหม็ดถูกคุณครูเรียกตำรวจมาจับ ใส่กุญแจมือ ฐานแบก “วัตถุต้องสงสัย”มาโรงเรียน วัตถุที่ว่าก็คือ “กระเป๋าดัดแปลงเป็นนาฬิกาปลุก” ซึ่งเขาตั้งใจหอบมาโชว์คุณครูเพราะอยู่ชมรมนักประดิษฐ์ของโรงเรียน โรงเรียนไม่กล่าวคำขอโทษใดๆโดยอ้างว่าต้องป้องกันไว้ก่อนเพราะดูเหมือนระเบิด และสั่งพักการเรียนเป็นของแถม เฮ้อ…
หลังข่าวนี้แพร่ออกไปประธานาธิบดีโอบามาและคุณพี่มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก ต่างก็โพสข้อความชื่นชมในความคิดสร้างสรรค์ และขอให้พกกระเป๋ามาโชว์บ้าง ทางด้านMIT ก็ประกาศทันทีนี่แหละนักเรียนที่สถาบันต้องการส่วนนักบินอวกาศคริส แฮดฟิลด์ก็มอบตั๋วเชิญมาร่วมงานวิทยาศาสตร์… อาห์เหม็ดจึงขอย้ำว่า อย่าให้คนอื่นทำให้เราเสียกำลังใจ แต่จงแสดงให้คนอื่นเห็นความสามารถของเรา… ว้าวมากๆค่ะ
ดิฉันนำเรื่องราวนี้มาฝากก็เพราะเชื่อว่าหลายครอบครัวอาจมีอาห์เหม็ดน้อยๆแฝงอยู่และไม่ต้องถึงมือคุณตำรวจหรอกค่ะ เราเองนี่แหละที่ปรามลูกด้วย “บทลงโทษที่รุนแรงเกินจริง” ไม่ว่าจะด้วยคำพูดหรือการกระทำ… ขอยกตัวอย่างสถานการณ์สะกัดกั้นความคิดสร้างสรรค์ ด้วยคำสารภาพต่อไปนี้…
ขยะรกบ้าน ปริมชอบสะสม ขวด กล่องเปล่า ห่อขนม ฝาขวด และอีกสารพัน เรียกว่าเป็น ซาเล้งประจำบ้านก็ว่าได้ ทุกครั้งที่กินอะไรเสร็จ ปริมจะขอ “เก็บ” ขยะ เอ๊ย! วัสดุเหลือใช้เหล่านั้นเพื่อหวังนำไปประดิษฐ์บางสิ่ง หลายครั้งปริมต้องสะเทือนใจที่เห็นคลังสมบัติซาเล้งอันตรธานไปอย่างไร้ร่องรอย… บางครั้งโดนหยิบไปทิ้งต่อหน้าต่อตา ด้วยเหตุผลว่า “มันรกบ้าน หรือ จะเก็บไว้ทำไมเยอะแยะ”…วันหนึ่งดิฉันจึงเรียกหน่วยปราบขยะประจำบ้านมาสรุปข้อตกลงว่า จากนี้เราจะไม่ “ทิ้ง” วัสดุเหลือใช้ของปริม และจะอนุญาตให้ลูกเก็บไว้ได้แต่ถ้าไม่ใช้เป็นเวลาหนึ่งปี เราจะนำไปให้คนอื่นรีไซเคิล … ตั้งแต่นั้นมาปริมจึงมีวัสดุเหลือใช้มากมายสำหรับประดิษฐ์งานไปส่งคุณครู หรือประดิษฐ์เป็นสิ่งของต่างๆเพื่อไปเล่นกับตุ๊กตา ที่สำคัญคือ ลูกภูมิใจที่ได้พิสูจน์ว่าสิ่งเหล่านั้นเกิดประโยชน์จริงๆ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ขยะ… .โปรดอย่า “ทิ้ง” จินตนาการของลูกนะคะ
มันคือ อะไร?!!สิ่งประดิษฐ์แห่งความคิดสร้างสรรค์ บางครั้งไม่จำเป็นต้องอิงกับข้อมูลโลกจริงเสมอไป คนที่ตอกย้ำสิ่งนี้ได้ดีสุดคือ เปรม… สิ่งประดิษฐ์นานาชนิดของเปรม จะอยู่ในสถานภาพ “แอ๊บสแตร็ก” คือ ดูนามธรรมมากๆ เช่น เอาเส้นเอ็นยาวมาก..มาผูกกับตะเกียบไม้แม่ถามว่า “จะยาวไปไหน?” คำตอบที่ได้ จะเอาไปตกปลาที่หน้าวัด… เมื่อแม่ถามว่า “อยู่วัดจับปลาได้ที่ไหน?!” ลูกจึงจบการสนทนาว่า “จะเอาไปจับผีเสื้อ”… ดิฉันตื่นจากโลกความจริงและเข้าใจทันทีว่าลูกแค่อยากประดิษฐ์สิ่งของสำหรับ “จับสิ่งต่างๆ” เท่านั้นเอง… เราจึงช่วยกันหาวัสดุให้เปรมต่อเติมอุปกรณ์อย่างสนุกสนาน และพกไปวัดด้วยความตื่นเต้น แม้สุดท้ายจะไม่ได้ใช้จับอะไรเลยก็ตาม แต่ที่สนุกสุดๆคือ ได้ลุ้นว่าเส้นเอ็นนั้นจะยาวพ้นตลิ่งวัดหรือไม่!ครั้งหนึ่งเปรมเคยเข้ารอบการแข่งขันสิ่งประดิษฐ์ในจินตนาการ สิ่งที่ลูกคิดก็คือ “กระเป๋าบอกเงินอัตโนมัติ” ตอนลูกอธิบายให้ฟังถึงแนวคิด ดิฉันถามว่า ในกระเป๋ามีเครื่องสแกนเงินเหรอถึงรู้ว่ามีเงินอยู่เท่าไหร่ เปรมตอบว่า ไม่มี แค่ใส่เงินเข้าไปมันก็รู้ทันที!(อืม…ความจริงเป็นสิ่งที่ตายในโลกจินตนาการเสมอ)เมื่อโลกอนาคตมาถึง ชิพสำหรับสแกนอาจเป็นอุปกรณ์สุดเชยและตกยุค เพราะมีวัสดุที่ล้ำไปกว่านั้นก็ได้…เหมือน “ของวิเศษ” จากกระเป๋าสี่มิติของโดราเอมอนที่ไม่ต้องการความจริงมาอธิบาย แต่หลายชิ้นก็กลายเป็น “ของจริง” ไปแล้วในวันนี้จริงไหมคะ
ไม่ต้องชมลูกเกินจริง แต่เป็นที่พักพิงแห่งกำลังใจ และส่งเสริมเส้นทางแห่งจินตนการของลูก ด้วยคำพูดและการกระทำที่สร้างสรรค์กันนะคะ เหตุผลที่อาห์เหม็ดยังคงมีขวัญกำลังใจคิดประดิษฐ์สิ่งสร้างสรรค์ต่อไป ไม่ใช่เพราะได้รับคำชื่นชมจากบุคคลสำคัญของประเทศ แต่เป็นเพราะได้รับกำลังใจจากบุคคลสำคัญสุดในชีวิตของเขา นั่นคือ… ครอบครัวค่ะ
เรื่องโดย : ชิดชนก ทองใหญ่ ณ อยุธยา
ภาพ : shutterstock