อ่านจากอะไรให้ได้ประโยชน์ อยู่ที่ใฝ่รู้มากพอ
การอ่านจากคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟนก็เป็นการอ่านที่ใช้ได้ ข้อดีของการอ่านด้วยวิธีนี้คือหากอ่านไปสงสัยอะไรก็สามารถค้น (search) ต่อได้ทันที แต่ปัญหาคือเด็กไทยไม่ใฝ่รู้มากพอที่จะค้นต่อไปทั้งที่มีข้อสงสัยเกิดขึ้น เอกสารจำนวนมากบนเน็ตเป็นเอกสารประเภทที่สามารถกด (click) คำๆ นั้นเพื่อค้นต่อทันใด แต่เราก็ไม่ใส่ใจที่จะไปต่ออยู่ดีเพราะเราไม่มีความสามารถที่จะอยากรู้ไปนานแล้ว
เอกสารบนอินเทอร์เน็ตที่อำนวยความสะดวกให้ค้นต่อได้มีข้อเสียในตัวเอง คือ ทำให้สมาธิในการอ่านหรือความใจจดใจจ่อกับการอ่านไม่ดีเท่าการอ่านหนังสือ เวลาเราอ่านหนังสือเรามักมีสมาธิดีกว่า จะนั่งจะนอนอ่านได้นานกว่า ดื่มด่ำกับความสุขในการพลิกกระดาษไปทีละหน้ามากกว่า รวมทั้งหลายคนยอมรับว่ามีความสุขกับการลูบคลำ (touch) หน้าหนังสือหรือการสูดกลิ่น (smell) หน้ากระดาษ ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นกระดาษหรือหมึกพิมพ์ การสัมผัสและการดมกลิ่นสองอย่างนี้เป็นประสาทสัมผัสที่ส่งผลกระทบมากต่อการพัฒนาจิตใต้สำนึก นี่ว่ากันตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์
การอ่านบนอุปกรณ์ไอทีสมัยใหม่นั้น ลำแสงที่พุ่งเข้าตามิได้มาจากอักขระที่ปรากฏบนหน้าจอเท่านั้น แต่มาจากแหล่งกำเนิดแสงบนตัวเครื่องด้วย นี่เป็นข้อแตกต่างที่สำคัญจากการอ่านหนังสือที่ลำแสงซึ่งพุ่งเข้าตามาจากอักขระบนหน้ากระดาษโดยตรง (คำพูดที่ว่าลำแสงมาจากอักขระขอให้เข้าใจตรงกันว่ามาจากแสงที่สะท้อนอักขระกลับมา) ลำแสงที่พุ่งเข้าตาจะตกกระทบบริเวณที่เรียกว่าโฟเวีย (fovea) บนจอรับภาพ (retina) หลังจากนั้นสัญญาณประสาทจะกระจายออกไปมากกว่าหนึ่งทิศทางเข้าสู่สมอง ยังไม่พบคำตอบที่ดีว่าสมองจะพัฒนาต่างกันอย่างไรในสองกรณีนี้
ข้อถกเถียงเรื่องการอ่านจากอุปกรณ์ไอทีช่วยรักษาต้นไม้และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากกว่ายังไม่มีข้อพิสูจน์ เพราะขยะไอทีที่เกิดขึ้นทั่วโลกมีจำนวนมหาศาลเกินกำจัดได้อยู่ทุกวัน
อ่านต่อ “เด็กไทยส่วนใหญ่คิดไม่ออกว่าจะเรียนอะไรต่อ!” หน้า 5
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่